กฎหมายแรงงานและอัตราค่าจ้างแรงงาน

การจ้างแรงงาน

กฎหมายแรงงาน

กฎหมายแรงงานหลักที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและมีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรม ได้แก่

  1. กฎหมายเลขที่ 3/1992 ว่าด้วยสวัสดิการทางสังคมของแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิประโยชน์ของการเกษียณอายุ การได้รับอุบัติเหตุจากการทำงาน การเสียชีวิต และการประกันสุขภาพ (ใช้บังคับกับบริษัทที่มีคนงานตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป) ซึ่งต่อมาได้มีการบังคับใช้กฎหมายที่ 40/2004 ว่าด้วยระบบประกันสังคมแห่งชาติ เมื่อ 1 ม.ค. 2557 ครอบคลุมการแก้ไขข้อบังคับ และสัดส่วนสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของแรงงานด้วย
  2. กฎหมายเลขที่ 21/2003 ว่าด้วยสหภาพแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน การเป็นสมาชิกของสหภาพ การจัดตั้งสมาพันธ์สหภาพแรงงาน และสภาแห่งชาติของแรงงาน
  3. กฎหมายเลขที่ 13/2003 ว่าด้วยกำลังคน ซึ่งเกี่ยวข้องกับองค์กรความร่วมมือด้านแรงงานแบบพหุภาคี และไตรภาคี
  4. กฎหมายเลขที่ 2/2004 ว่าด้วยการระงับข้อพิพาทของแรงงาน ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีระงับข้อพิพาทระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างการนำคดีไปสู่ศาล และการตัดสินชี้ขาดตามกฎหมาย

หน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบด้านแรงงาน คือ กระทรวงแรงงาน (Ministry of Manpower) ซึ่งมีผู้บริหารสูงสุด คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง

นโยบายของกำลังคนอยู่บนพื้นฐานของกฎหมายแรงงาน เลขที่ 13/2003 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน สาระสำคัญของกฎหมายแรงงาน ประกอบด้วย

  • พื้นฐาน หลักการ และเป้าหมายของการพัฒนาแรงงาน
  • การวางแผนแรงงานและข้อมูลข่าวสารของแรงงาน
  • การจัดหาโอกาสที่เท่าเทียมกันของแรงงานและการปฏิบัติต่อคนงาน
  • การฝึกอบรมแรงงานเพื่อส่งเสริมและปรับปรุงทักษะแรงงานและประสิทธิภาพในการทำงานให้ดีขึ้น
  • การจ้างแรงงานภายใต้โครงการสร้างพลังอำนาจที่สมดุลของแรงงาน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในการขยายโอกาสของการทำงาน
  • การจ้างแรงงานต่างชาติที่ถูกต้องและตรงกับทักษะ ความสามารถของแรงงาน
  • การพัฒนาความร่วมมือกันของแรงงานตามแนวทางของปัญจสิรา (Pancasila) เพื่อมุ่งไปสู่ความเป็นอันหนึ่งเดียวกัน (Harmonious) มีพลังและสร้างสรรค์ (Dynamic) และมีความสัมพันธ์กัน (Relation)
  • การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก สถาบัน และข้อตกลงร่วมกัน รวมทั้ง องค์กรพหุภาคี องค์กรไตรภาคี ความร่วมมือกันทางสังคม และการแก้ปัญหาความขัดแย้งของแรงงาน
  • ปกป้องคุ้มครองแรงงาน รวมทั้งสิทธิของแรงงานในการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง ความมั่นคงของแรงงาน สวัสดิภาพของการทำงาน การคุ้มครองแรงงานสตรี แรงงานเด็ก และแรงงานทุพลภาพ ประกันค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการและความมั่นคงทางสังคมของแรงงาน
  • การควบคุมกำกับแรงงานให้ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานอย่างถูกต้อง

ประเภทของงาน

การจ้างแรงงานแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

  1. พนักงานประจำ (Permanent workers) จะได้รับเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการอื่นๆ
  2. พนักงานแบบสัญญา (Contract workers) จะได้รับการจ้างงานตามระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาการจ้างงานที่ทำกับนายจ้าง รัฐบาลมีกฎระเบียบว่า สัญญาการจ้างงานจะมีอายุสูงสุดเพียง 2 ปีและสามารถต่อสัญญาได้อีก 1 ปีแต่ไม่เกิน 2 ปี ปัจจุบันหลายบริษัทเลือกใช้วิธีการจ้างงานตามระยะเวลาที่กำหนดตามสัญญาฯ เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายเงินค่าชดเชยในกรณีที่มีการให้พนักงานออกจากงาน นายจ้างมีสิทธิที่จะบอกเลิกหรือต่อสัญญาจ้าง พนักงานที่มีการจ้างแบบระะสัญญาจ้างจะได้รับเงินเดือนเป็นรายเดือน มีวันหยุดตามศาสนา แต่ไม่มีสวัสดิการใดๆ
  3. พนักงานแบบรับช่วงต่อ (Outsourcing workers) เป็นระบบที่มีการจัดหาพนักงานให้กับบริษัทอื่นๆ ที่มีความต้องการพนักงาน พนักงานที่ได้รับการคัดเลือกภายใต้ระบบการรับช่วงต่ออาจมีสถานะเป็นพนักงานประจำ หรือพนักงานชั่วคราว บริษัทที่ให้บริการจัดหาพนักงานรับช่วงต่อจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ กฎหมายแรงงานเลขที่ 13/2003 มีมาตราสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการจ้างพนักงานแบบรับช่วงต่อ ดังนี้

    (1) มาตราที่ 50-55 และมาตราที่ 56-59 กำหนดให้พนักงานแบบรับช่วงต่ออาจทำงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำหรือทำงานพิเศษที่เกี่ยวข้องกับงานประจำก็ได้
    (2) มาตราที่ 66 มีงานเพียง 5 ประเภทเท่านั้นที่สามารถจ้างพนักงานทำงานภายใต้ระบบการรับช่วงต่อ ได้แก่ งานบริการจัดเลี้ยง การให้บริการทำความสะอาด การรักษาความปลอดภัย บริการสนับสนุนการทำเหมือง และบริการขนส่งพนักงาน หากเป็นงานที่นอกเหนือจากงาน 5 ประเภทข้างต้นอาจไม่สามารถจ้างพนักงานทำงานภายใต้ระบบการรับช่วงต่อได้


เวลาการทำงาน

กฎหมายแรงงานอินโดนีเซียมีข้อกำหนดว่า เวลาการทำงานจะต้องไม่มากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยสามารถทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน สำหรับผู้ที่ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือ 7 ชั่วโมงต่อวันสำหรับคนที่ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ กฎระเบียบของเวลาทำงานจะไม่มีผลบังคับใช้กับงานในบางสาขาที่กำหนด

หากนายจ้างว่าจ้างให้ทำงานล่วงเวลา จะต้องจ่ายเงินค่าล่วงเวลาในอัตรา ดังนี้

ลักษณะของงาน วันที่ทำงาน ชั่วโมงที่ทำงานล่วงเวลา อัตราตัวคูณพื้นฐาน
ทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ทำงานในวันพัก (rest day) หรือวันหยุด (national holiday) 8 ชั่วโมงแรก 2 เท่า
ชั่วโมงที่ 9 3 เท่า
ชั่วโมงที่ 10 4 เท่า
ทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ ทำงานในวันพัก (rest day) หรือวันหยุด (national holiday) ซึ่งไม่ตรงกับวันทำงานทั่วไป 1-5 ชั่วโมงแรก 2 เท่า
ชั่วโมงที่ 6 3 เท่า
ชั่วโมงที่ 7 และ 8 4 เท่า
ทำงานในวันพัก (rest day) หรือวันหยุด (national holiday) ซึ่งตรงกับวันทำงานทั่วไป 1-7 ชั่วโมงแรก 2 เท่า
ชั่วโมงที่ 8 3 เท่า
ชั่วโมงที่ 9 4 เท่า

ที่มา: รายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและพื้นที่เป้าหมายเชิงลึกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สำนักงานส่งเสริมการลงทุน

การฝึกอบรมของพนักงาน

กฎกระทรวงแรงงานเลขที่ KEP.261/MEN/XI/2004 ได้กำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปจะต้องจัดฝึกอบรมให้แก่พนักงานอย่างน้อยร้อยละ 5 ของจำนวนพนักงานทั้งหมดในแต่ละปีบริษัทที่ถูกกำหนดให้จัดฝึกอบรมในแต่ละปีนั้น จะต้องจัดเตรียมกำหนดการฝึกอบรมรายปีซึ่งประกอบด้วยประเภทของการฝึกอบรม ระยะเวลาและสถานที่ของการฝึกอบรม ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการจัดการฝึกอบรมจะเป็นความรับผิดชอบของบริษัททั้งหมด

การลาของลูกจ้างและวันหยุด

  • วันหยุดรายสัปดาห์ กำหนดให้มีวันหยุด 1 วันหลังจากทำงาน 6 วันและวันหยุด 2 วันหลังจากทำงาน 5 วัน
  • วันหยุดรายปี กำหนดให้มีวันหยุดได้ 12 วันทำงานหลังจากที่ทำงานต่อเนื่องกัน 12 เดือนขึ้นไป
  • วันหยุดพักผ่อน กำหนดให้หยุดได้ไม่เกิน 2 สัปดาห์หลังจากที่ทำงานมาแล้วอย่างน้อย 6 ปี
  • วันหยุดทางศาสนา ตามกฎกระทรวงแรงงานเลขที่ 04/MEN/1994 บริษัทจะกำหนดให้พนักงานได้หยุดงานในวันหยุดทางศาสนาทุกปี
  • วันลาป่วย กฎหมายแรงงานระบุให้นายจ้างยังต้องจ่ายค่าจ้างหากทำงานต่อไปในอัตราปกติ ยกเว้นกรณีลูกจ้างไม่สามารถปฏิบัติงานได้เป็นเวลานาน จึงจะสามารถลดค่าจ้างได้ตามสัดส่วน ดังนี้
ระยะเวลาการขาดงาน สัดส่วนในการลดค่าตอบแทน
ขาดงาน 4 เดือนแรก จ่ายค่าจ้างเต็มจำนวน
ขาดงานต่อเนื่องนานกว่า 4 เดือน แต่ไม่เกิน 8 เดือน จ่ายค่าจ้างร้อยละ 75 ของอัตราค่าจ้างปกติ
ขาดงานต่อเนื่องนานกว่า 8 เดือน แต่ไม่เกิน 12 เดือน จ่ายค่าจ้างร้อยละ 50 ของอัตราค่าจ้างปกติ
ขาดงานต่อเนื่องนานกว่า 12 เดือน จ่ายค่าจ้างร้อยละ 25 ของอัตราค่าจ้างปกติ

ที่มา: รายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและพื้นที่เป้าหมายเชิงลึกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สำนักงานส่งเสริมการลงทุน

การเลิกจ้าง

ในกรณีนายจ้างประสงค์จะเลิกจ้างแรงงาน กฎหมายแรงงานอินโดนีเซียกำหนดให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยให้แรงงานตามอายุการทำงาน โดยต้องจ่ายค่าชดเชยขั้นต่ำ (severance pay) และเงินชดเชยพิเศษ (long service reward pay) สำหรับลูกจ้างที่มีอายุการทำงานมากกว่า 3 ปี อัตราการจ่ายเงินชดเชยกรณีการเลิกจ้าง มีดังนี้

อายุการทำงาน เงินชดเชยขั้นต่ำ
(severance pay)
อายุการทำงาน เงินชดเชยพิเศษ
(long service reward pay)
น้อยกว่า 1 ปี 1 เดือน น้อยกว่า 3 ปี -
1 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 2 ปี 2 เดือน 3 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 6 ปี 2 เดือน
2 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 3 ปี 3 เดือน 6 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 9 ปี 3 เดือน
3 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 4 ปี 4 เดือน 9 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 12 ปี 4 เดือน
4 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 5 ปี 5 เดือน 12 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 15 ปี 5 เดือน
5 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 6 ปี 6 เดือน 15 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 18 ปี 6 เดือน
6 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 7 ปี 7 เดือน 19 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 21 ปี 7 เดือน
7 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 8 ปี 8 เดือน 21 ปีขึ้นไป แต่น้อยกว่า 24 ปี 8 เดือน
ตั้งแต่ 8 ปีขึ้นไป 9 เดือน ตั้งแต่ 24 ปีขึ้นไป 9 เดือน

ที่มา: รายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและพื้นที่เป้าหมายเชิงลึกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สำนักงานส่งเสริมการลงทุน

อย่างไรก็ดี ตามกฎหมายแรงงานอินโดนีเซีย การยกเลิกสัญญาจ้างจะต้องเป็นความยินยอมของทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หากลูกจ้างไม่ยินยอม นายจ้างจะต้องยื่นขอต่อศาลหรือ Institute for the settlement of industrial relation disputes (“ISRID”) นอกเหนือจากบางกรณี เช่น ยังไม่ผ่านช่วงทดลองงาน

สหภาพแรงงาน

ตามกฎหมายฉบับที่ 21/2000 รัฐบาลอนุญาตให้พนักงานทุกคนมีสิทธิในการจัดตั้งสหภาพแรงงานและเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ทั้งนี้ บริษัทที่มีคนงานอย่างน้อย 10 คนก็สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนกับนายจ้าง สหภาพแรงงานสามารถจัดตั้งโดยพนักงานในบริษัทหรือบุคคลภายนอกบริษัทก็ได้ ทั้งนี้ รูปแบบสหภาพแรงงานคือเป็นองค์กรอิสระและเปิดเผย เป็นประชาธิปไตยและรับผิดชอบในการต่อสู้เพื่อแรงงานในกรณีที่มีข้อโต้แย้งกับนายจ้าง องค์กรของรัฐที่เกี่ยวข้องกับแรงงานคือสมาพันธ์แรงงานแห่งชาติ (Federation of Indonesian Workers) ซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงานจำนวน 21 แห่งและ SPLP จำนวน 13 แห่ง

นับตั้งแต่ช่วงปฏิรูปของประเทศ สหภาพแรงงานมีบทบาทที่สำคัญในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิของแรงงาน เรียกร้องค่าจ้างขั้นต่ำ การระงับข้อพิพาท การประท้วงตามท้องถนน การร้องเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อป้องกันการปลดพนักงานจำนวนมากออกและการระงับข้อพิพาทระหว่างพนักงานและนายจ้าง รัฐบาลจึงได้จัดตั้ง คณะกรรมการ 2 ฝ่าย ขึ้นตามกฎกระทรวงที่ PER.32/MEN/XII/2008 ณ ปี 2009 คณะกรรมการ 2 ฝ่าย ประกอบด้วย 11,832 บริษัท ตัวแทน 210 ในเทศบาลชุมชนต่าง ๆ ครอบคลุม 31 แห่ง และคณะกรรมการของรัฐ

ในระดับชาติ คณะกรรมการไตรภาคี (LKS) ประกอบด้วย ตัวแทนภาครัฐสหภาพแรงงาน และองค์กรนายจ้าง ซึ่งผลประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายนี้จะถูกกำหนดและปกป้องให้ความเป็นธรรมโดยกฎหมาย

การประกันสังคม

นับตั้งแต่ 1 ม.ค. 2557 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ปฏิรูประบบประกันสังคมใหม่ โดยได้ปรับภารกิจและโครงสร้างของหน่วยงานประกันสังคมเดิม (Jamsostek) เปลี่ยนเป็น Badan Penyelenggara Jaminan Sosial (Social Security Organizing Agency) หรือ BPJS โดยแยกการดำเนินการด้านการประกันสุขภาพและการประกันสังคมออกจากกัน กล่าวคือ การประกันสุขภาพอยู่ภายใต้การดูแลของ BPJS-Kesehatan (BPJS Health) ซึ่งครอบคลุมถึงการประกันสุขภาพของประชาชนทั่วไป ซึ่งรวมถึงการประกันสุขภาพของแรงงานด้วย และการประกันสังคมของแรงงานอยู่ภายใต้การดูแลของ BPJS-Ketenagakerjaan (BPJS Manpower) ซึ่งครอบคลุมถึงการประกันอุบัติเหตุหรือการเสียชีวิตระหว่างทำงาน เงินบำนาญ เป็นต้น

ทั้งนี้ ภายใต้กฎระเบียบใหม่นี้ ระบุให้นายจ้างที่จ้างแรงงานมากกว่า 10 คนขึ้นไป และมีอัตราค่าจ้างมากกว่า 1 ล้านรูเปียห์/คน/เดือน จะต้องทำประกันสุขภาพและประกันสังคมให้กับลูกจ้าง แม้ว่าบริษัทอาจจัดหาสวัสดิการการประกันสุขภาพที่ดีกว่าให้ลูกจ้างอยู่แล้วก็ตาม ซึ่งระเบียบนี้ใช้บังคับกับลูกจ้างต่างชาติที่ทำงานในอินโดนีเซียมากกว่า 6 เดือนขึ้นไปด้วย

อัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมและประกันสุขภาพ

ประเภทของการประกัน อัตราส่วนที่นายจ้างจ่าย อัตราส่วนที่ลูกจ้างจ่าย
การประกันอุบัติเหตุจากการทำงาน ร้อยละ 0.24-1.74
(ขึ้นกับภาคธุรกิจและกิจกรรมที่ดำเนินงาน)
-
เงินสำรองเลี้ยงชีพ (old age fund) ร้อยละ 3.7 ร้อยละ 2.0
เงินชดเชยกรณีเสียชีวิต/ค่าทำศพ ร้อยละ 0.3 -
การประกันสุขภาพ
- กรณีลูกจ้างในระบบ
- กรณีลูกจ้างนอกระบบ/แรงงานอิสระ
(สมัครใจเข้าโครงการเอง)
ร้อยละ 4
-
ร้อยละ 1
บริการชั้น 3 : 25,000 รูเปียห์/คน/เดือน
บริการชั้น 2 : 42,500 รูเปียห์/คน/เดือน
บริการชั้น 1 : 59,500 รูเปียห์/คน/เดือน
*อัตราส่วนของค่าจ้างรายเดือน
ที่มา: รายงานการวิเคราะห์อุตสาหกรรมและพื้นที่เป้าหมายเชิงลึกของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย, สำนักงานส่งเสริมการลงทุน และ Makarim and Taira S., Overview of Indonesia’s Health and Manpower Social Security System


อัตราค่าจ้างแรงงาน

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (Upah Minimum Provinsi – UMP) ของอินโดนีเซียปรับขึ้นทุกปี และมีอัตราไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด เมื่อเดือนตุลาคม 2558 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกกฎหมายที่ 78/2015 ว่าด้วยอัตราค่าจ้าง (Government Regulation No, 78 of 2015 concerning Manpower Wage) โดยได้กำหนดเกณฑ์การปรับขึ้นค่าจ่างขั้นต่ำโดยใช้สูตรการคำนวณ คือ

อัตราค่าจ้างใหม่ = อัตราค่าจ้างเดิม x (อัตราเงินเฟ้อ1 + อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น2)

ตารางอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดในปี 2559 (สกุลเงินรูเปียห์)

Province 2016 2015 Increase %
West Jawa * 1,312,355 - 1,312,355 -
East Nusa Tenggara 1,425,000 1,250,000 175,000 14.00
West Nusa Tenggara 1,482,950 1,330,000 152,950 11.50
Bengkulu 1,605,000 1,500,000 105,000 7.00
Central Sulawesi 1,670,000 1,500,000 170,000 11.33
North Maluku 1,681,266 1,577,617 103,649 6.57
West Kalimantan 1,739,400 1,560,000 179,400 11.50
Lampung 1,763,000 1,581,000 182,000 11.51
Maluku 1,775,000 1,650,000 125,000 7.58
Banten 1,784,000 1,600,000 184,000 11.50
West Sumatera 1,800,725 1,615,000 185,725 11.50
Bali 1,807,600 1,621,172 186,428 11.50
North Sumatera 1,811,875 1,625,000 186,875 11.50
Southeast Sulawesi 1,850,000 1,652,000 198,000 11.99
West Sulawesi 1,864,000 1,655,500 208,500 12.59
Gorontalo 1,875,000 1,600,000 275,000 17.19
Jambi 1,906,650 1,710,000 196,650 11.50
Central Kalimantan 2,057,550 1,896,367 161,183 8.50
South Kalimantan 2,085,050 1,870,000 215,050 11.50
Riau 2,095,000 1,878,000 217,000 11.55
Aceh 2,118,500 1,900,000 218,500 11.50
East Kalimantan 2,161,253 2,026,126 135,127 6.67
North Kalimantan 2,175,340 2,026,126 149,214 7.36
Riau Islands 2,178,710 1,954,000 224,710 11.50
South Sumatera 2,206,000 1,974,346 231,654 11.73
West Papua 2,237,000 2,015,000 222,000 11.02
South Sulawesi 2,250,000 2,000,000 250,000 12.50
Bangka Belitung 2,341,500 2,100,000 241,500 11.50
North Sulawesi 2,400,000 2,150,000 250,000 11.63
Papua 2,435,000 2,193,000 242,000 11.04
Jakarta 3,100,000 2,700,000 400,000 14.81

*เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ทางจังหวัดประกาศอย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2010 แต่ West Java ประกาศใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามแต่ละเมือง (Upah Minimum Kabupaten/Kota - UMK) ซึ่งบางเมือง เช่น Bekasi และ Karawang เป็นเมืองที่มีนิคมอุตสาหกรรมจำนวนมาก มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำสูงถึง 3.3 ล้านรูเปียห์ ซึ่งสูงที่สุดในประเทศ

1 คำนวณจากอัตราเงินเฟ้อเดือน ก.ย. ของปีก่อนการคำนวณถึงเดือน ก.ย. ของปีที่คำนวณ
2 คำนวณจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ไตรมาส 3 ของปีก่อนการคำนวณ ถึงไตรมาส 2 ของปีที่คำนวณ


แรงงานต่างชาติ

ตามกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ PER 02/MEN/III/2008 อนุญาตให้แรงงานต่างชาติที่ถือวีซ่าอินโดนีเซียที่ถูกต้อง สามารถทำงานในอินโดนีเซียได้ร่วมกับแรงงานท้องถิ่นเพื่อการถ่ายทอดความรู้ สาขาที่สามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้คือ สำนักงานตัวแทนการค้าระหว่างประเทศ สำนักงานตัวแทนของบริษัทในต่างประเทศหรือสำนักข่าวต่างประเทศ บริษัทลงทุนของต่างประเทศ บริษัทลงทุนของอินโดนีเซีย บริษัทที่ดำเนินงานเพื่อโครงการของรัฐ และโครงการช่วยเหลือต่างๆ สถาบันเพื่อสังคม การศึกษา วัฒนธรรมและศาสนา ธุรกิจบริการ ทั้งนี้ ไม่อนุญาตให้แรงงานต่างชาติทำงานมากกว่า 1 ตำแหน่ง หรือทำงานให้บริษัทมากกว่า 1 แห่ง ตำแหน่งที่อนุญาตให้จ้างแรงงานต่างชาติได้ คือช่างเทคนิค ผู้เชี่ยวชาญ ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ คณะผู้แทน ที่ปรึกษา

นายจ้างที่ประสงค์จะจ้างแรงงานต่างชาติ จะต้องจัดทำแผนการใช้แรงงานต่างชาติ (Manpower Utilization Plan for Foreign Workers - PPTKA) ซึ่งจะต้องระบุเหตุผลการใช้แรงงานต่างชาติ ตำแหน่ง ค่าจ้าง จำนวน สถานที่ทำงาน ระยะเวลาการจ้าง และจำนวนแรงงานท้องถิ่นที่จะทำงานด้วย โดยแผนการใช้แรงงานต่างชาติที่มากกว่า 50 คนขึ้นไป จะต้องได้รับการอนุมัติจากกระทรวงแรงงาน แต่หากต้องการจ้างแรงงานต่างชาติต่ำกว่า 50 คน สามารถขอรับการอนุมัติจากผู้อำนวยการกอง ของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ใบอนุญาตให้ใช้แรงงานต่างชาตินี้จะต้องต่ออายุทุก ๆ ปี

นายจ้างที่จ้างแรงงานต่างชาติจะต้องจัดให้แรงงานต่างชาตินั้นเข้าร่วมโครงการประกันสังคมและประกันสุขภาพด้วย หากทำงานในอินโดนีเซียตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

หากแรงงานต่างชาติได้รับค่าจ้างต่อเดือนมากกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐ นายจ้างจะต้องจ่ายเงินล่วงหน้าให้กับกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน (Dana Pengembangan Keahlian dan Keterampilan: DPKK) โดยการโอนเข้าบัญชีธนาคารของรัฐที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนดไว้

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงที่ 16/2015 ว่าด้วยขั้นตอนและข้อกำหนดในการจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มเติม โดยกำหนดให้

  1. บริษัทจะต้องจ้างแรงงานท้องถิ่น 10 คน ต่อการจ้างแรงงาน 1 คน
    ยกเว้น แรงงานต่างชาติรายนั้นเป็นผู้บริหารระดับสูง/ผู้จัดการ/supervisor หรือเป็นการจ้างงานชั่วคราว
  2. ผู้บริหารระดับสูง/ผู้จัดการ/supervisor ที่ไม่ได้มีถิ่นพำนักในอินโดนีเซียจะต้องขอรับใบอนุญาตทำงาน หรือ work permit (IMTA) ด้วย ซึ่ง IMTA จะมีอายุ 1 ปี สามารถขยายระยะเวลาได้
  3. นักธุรกิจที่เดินทางเข้ามาอินโดนีเซียเป็นระยะสั้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำงานให้คำปรึกษา/สอนงาน/ตรวจสอบบัญชี/การติดตั้งอุปกรณ์หรือระบบ เป็นต้น จะต้องขอรับใบอนุญาตทำงานชั่วคราว ซึ่งมีอายุระหว่าง 1-6 เดือนด้วย

สิงหาคม 2559
แหล่งข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา