กฏกระทรวงจำกัดการนำเข้าพืชเมืองร้อน
๑. ภูมิหลัง
๑.๑ เมื่อประมาณเดือน ม. ค. ๒๕๕๕ ก.เกษตรอินโดนีเซียประกาศ กฎกระทรวง ๓ ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงหมายเลข ๘๘ (กำหนดรายชื่อพืช ผัก ผลไม้สดที่ต้องตรวจสอบการนำเข้า), หมายเลข ๘๙ (จำกัดจุดนำเข้าพืช ผัก ผลไม้สดตามประกาศเฉพาะท่าเรือ ๓ แห่งที่เมืองเมดาน สุราบายา และมาร์กัสซา และท่าอากาศยาน Soekarno-Hatta), หมายเลข ๙๐ (ควบคุมการนำเข้าพืชชนิดหัว โดยเฉพาะหอมแดง หอมหัวใหญ่ และกระเทียมให้นำเข้าได้เพียง ๔ จุดที่กำหนด) ซึ่งเดิมจะมีผลใช้บังคับในวันที่ ๑๗ มี.ค. ๒๕๕๕ หรือภายใน ๓ เดือนนับจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อควบคุมและตรวจสอบโรคพืชที่อาจติดมากับพืช ผัก และผลไม้สด รวมทั้งต้องการควบคุมการลักลอบนำเข้า และต่อมากระทรวงการค้าได้ออกกฎกระทรวงฯ ที่ ๓๐/๒๐๑๒ กำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าพืชผักผลไม้เมืองร้อน ซึ่งรวมถึง ทุเรียน และลำใย
๑.๒ กฎกระทรวงดังกล่าวได้รับการคัดค้านจากหลายๆ ประเทศ ออท. สหรัฐฯ ประจำกรุงจาการ์ตาได้เชิญหลายประเทศเข้าร่วมหารือ เพื่อร่วมกันยื่นหนังสือประท้วงต่อรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่ง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เกาหลีใต้ สหภาพยุโรป บราซิล มีท่าทีค่อนข้างแข็งกร้าว และเห็นร่วมกันว่า จะต้องประท้วงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรกับอินโดนีเซียอย่างแน่นอน ซึ่งอาจรวมถึงการฟ้องร้องไปยังองค์การการค้าโลก ต่อมา เมื่อวันที่ ๖ มี.ค. ๒๕๕๕ ก. เกษตรอินโดนีเซียประกาศยืดระยะเวลาการบังคับใช้กฎกระทรวงทั้ง ๓ ฉบับออกไปจนถึงวันที่ ๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๕ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต่างๆ เช่น ผู้นำเข้า/ออกสินค้ามาอินโดนีเซียเตรียมการตามกฎระเบียบและบริหารจัดการคลังสินค้า การขนส่งและการกระจายสินค้า ซึ่งรวมถึงการยืดการบังคับใช้ของ กฎกระทรวงการค้า เลขที่ ๓๐/๒๐๑๒ เช่นกัน
๑.๓ ฝ่ายไทยได้ยกประเด็นการจัดทำ MRAs หรือ Pest Free Zone ขึ้นหารือกับฝ่ายอินโดนีเซียเพราะ ตามกฎกระทรวงเกษตรฯ เลขที่ ๘๘ หากสินค้ามาจากประเทศที่มีความตกลง MRAs หรือมาจากเขตที่รัฐบาลอินโดนีเซียยอมรับว่าเป็นเขตปลอดโรคพืช (pest free zone) ก็จะได้รับการยกเว้นการจำกัดท่าเรือ และจะสามารถนำเข้าที่ท่าเรือกรุงจาการ์ตา (Tanjung Priok) ได้ แทนที่จะถูกจำกัดให้เข้าที่เฉพาะ ๓ ท่าเรือ ๑ ท่าอากาศยานดังกล่าว ซึ่งขณะนี้ ก. เกษตรฯ ของทั้งสองประเทศได้หารือกันแล้ว ซึ่งฝ่ายไทยได้ยื่นขอทำ MRAs ทุกรายการสินค้า (เปลี่ยนจากเดิมที่ขอทำเพียง ๕ รายการ) และเร่งให้รับรอง Pest Free Zone อย่างไรก็ตามขณะนี้ กระบวนการอยู่ระหว่างแลกเปลี่ยนเอกสาร ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานที่ปรึกษาเกษตรต่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตาปรากฏว่า ขั้นตอนการทำ MRAs หรือ Pest Free Zone จะต้องใช้เวลาประมาณ ๑-๒ ปี ซึ่งไม่ได้เร็วดังที่ฝ่ายไทยคาดคิดไว้ อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถทำ MRAs และจะไม่ถูกจำกัดการนำเข้าเฉพาะที่ท่าเรือ ๓ แห่ง ท่าอากาศยาน ๑ แห่ง แต่โดยผลของกฎกระทรวงการค้าที่ ๓๐/๒๐๑๒ การนำเข้าก็ยังต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎกระทรวงดังกล่าว คือ ผู้นำเข้าจะต้องเป็นเฉพาะผู้นำเข้าที่มีคุณสมบัติตามที่ ก. การค้ากำหนด และได้รับใบอนุญาตจาก ก. การค้า /ผ่านการตรวจโดย surveyor ที่ ก. การค้าแต่งตั้ง และในการนำเข้าแต่ละครั้งจะต้องได้รับการอนุมัติ (recommendation) จาก ก. เกษตรก่อน ซึ่งก็คือ การกำหนดโควต้า หรือ quantitative restriction ทางหนึ่งนั่นเอง
๑.๔ ต่อมา ก.การค้าประกาศชะลอการใช้บังคับของกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าพืช ผัก ผลไม้เมืองร้อน (กฎระเบียบหมายเลข ๓๐/๒๐๑๒) จากเดิมวันที่ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๕๕ เป็น ๑๕ ก.ย. ๒๕๕๕ ด้วยเหตุผลเพื่อให้ผู้นำเข้าได้มีเวลาเตรียมตัว เพราะในชั้นนี้ ผู้นำเข้ายังไม่พร้อมและยังไม่ได้ขอรับใบอนุญาต ซึ่งขณะนี้ มีเพียงผู้นำเข้าเพียง ๕๔ รายจากหลายร้อยรายที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎดังกล่าวเพราะเงื่อนไขการได้รับใบอนุญาตจะกำหนดให้ผู้นำเข้าจะต้องแสดงหลักฐานการเป็นเจ้าของคลังสินค้า ห้องเย็น หรือระบบขนส่งเย็นรองรับด้วย ซึ่งปัจจุบันผู้นำเข้าส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมในประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังช่วยให้ผู้ส่งออกในต่างประเทศสามารถปรับตัวรองรับกับกฎระเบียบดังกล่าวได้ และยังให้เวลาอินโดนีเซียในการเสนอเรื่องดังกล่าวให้ WTO พิจารณาให้ความเห็นชอบมาตรการดังกล่าวก่อนด้วย
๑.๕ สอท. ได้รับแจ้งจาก สคร. ว่า กฎกระทรวงการค้าเลขที่ ๓๐/๒๐๑๒ มีผลใช้บังคับในเดือน ก.ย. ๒๕๕๕ และสมาคมผู้นำเข้าสินค้ามายังอินโดนีเซียร้องเรียนว่า ขณะนี้มีตู้คอนเทนเนอร์จากหลายประเทศตกค้างที่ท่าเรือกรุงจาการ์ตาและเมืองสุราบายาเป็นจำนวนมากโดยมาจากไทยจำนวน ๗๕ ตู้ ซึ่งตรวจสอบแล้วตรงตามที่ได้รับการร้องเรียนจากเอกชนไทยจริงและกระบวนการนำของออกล่าช้าเนื่องจากผู้นำเข้าติดปัญหาการแสดงเอกสารประกอบการนำเข้าที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงการค้า ทั้งนี้ เนื่องจากกฎกระทรวงประกาศใช้กระทันหันและยังไม่ชัดเจนจึงส่งผลกระทบต่อผู้นำเข้าในการขอรับใบอนุญาตนำเข้าผลไม้ตามช่วงเวลาที่กำหนด ซึ่ง ก. การค้า แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยมีหนังสือเวียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผ่อนผันให้ผู้นำเข้าผลไม้ที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการนำเข้าสินค้าและการขนส่งสินค้าว่า หากสินค้ามาถึงท่าเรืออินโดนีเซีย ก่อนวันที่ ๒๘ พ.ย. ๒๕๕๕ ให้สามารถนำสินค้าออกไปก่อนได้โดยมิต้องแสดงเอกสารตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ให้ครบ แต่จะต้องแสดงเอกสารดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ให้เสร็จสิ้นภายใน ๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๕ สคร. จึงเสนอให้ผู้ส่งออกไทยชะลอการส่งผลไม้ไทยมายัง อินโดนีเซียออกไปก่อนจนถึงวันที่ ๓๑ ธ.ค. ๒๕๕๕ จนกว่ากระบวนการขอรับอนุญาตจากฝ่ายอินโดนีเซียจะเกิดความชัดเจนหรือได้รับการยืนยันจากผู้นำเข้าอินโดนีเซียว่าได้ดำเนินการเตรียมเอกสารขอรับอนุญาตครบถ้วนสมบูรณ์และได้รับอนุญาตตามกฎกระทรวงฯ แล้วจึงจะดำเนินการส่งออกมายังอินโดนีเซีย นอกจากนี้ สคร. กำลังเจรจาขอให้กรมการค้าต่างประเทศอินโดนีเซีย เลื่อนกำหนดวันที่มีผลบังคับใช้ของกฎกระทรวงฯ ออกไปอีก ๓ เดือน (ม.ค. – มี.ค. ๕๖) เพื่อให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้ามีเวลาในการเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าว
๑.๖ ต่อมา ปรากฏเป็นข่าวในสื่อท้องถิ่นว่า สหรัฐฯฯ ได้ยื่นคำร้องต่อองค์การการค้าโลกว่า กฎการห้ามนำเข้าสินค้าซึ่งรวมถึงพืชเมืองร้อนของอินโดนีเซีย ซึ่งต้องขออนุญาตนำเข้าก่อน ไม่ใช่กระบวนการอนุญาตโดยอัตโนมัติ (non-automatic import licensing) เป็นการกีดกันทางการค้า (trade-restrictive measures) ซึ่งเป็นมาตรการที่ขัดกับหลักการขององค์การการค้าโลก ซึ่งทั้ง ๒ ฝ่ายจะต้องเข้าหารือกัน (consultation) เพื่อหาข้อสรุปให้ได้ภายใน ๖๐ วัน ซึ่งคาดว่านอกจากสหรัฐฯ แล้ว สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น แคนาดาก็จะร้องเรียนเช่นกัน ซึ่ง รมว.การค้าให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีไปชี้แจงกับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้เป็นเพียงกระบวนการหารือ (consultation) ไม่ใช่การเผชิญหน้า (confrontation) และกฎระเบียบดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปกป้องเกษตรกรท้องถิ่น และอ้างว่า สหรัฐฯ เองก็มีมาตรการกีดกันในรูปแบบต่างๆ เช่นกัน
๒. ประเด็นกฎหมาย
๒.๑ Article XI ของ GATT ห้ามรัฐภาคีใช้มาตรการใดๆ ที่ไม่ใช่ภาษีในการจำกัดการนำเข้าและส่งออกสินค้า โดยเฉพาะมาตรการเชิงปริมาณ (quantitative restriction) เช่น โควต้า ยกเว้นเกิดกรณีสำคัญในประเทศ เช่น
(๒) มีปัญหาดุลการชำระเงิน (Article XVIII:B) และมาตรการดังกล่าวจะต้องใช้เป็นเวลา “ชั่วคราว” เท่านั้น หรือ
(๓) เป็นการห้ามนำเข้าส่งออกเพื่อกำหนดมาตรฐานและจัดระเบียบเกี่ยวกคุณภาพของสินค้า หรือ
(๔) ห้ามนำเข้าสินค้าเกษตรและประมงเพื่อบังคับมาตรการของรัฐในการจำกัดการผลิตสินค้าท้องถิ่น
และรัฐซึ่งประกาศใช้จะต้องแจ้งให้สาธารณะทราบถึงจำนวนโควต้าที่จะอนุมัติในแต่ละปี เป็นต้น นอกจากนี้ ยังอาจจำกัดการนำเข้าได้ หากเข้าข้อยกเว้นทั่วไป (Article XX) หากสินค้าที่นำเข้าเป็นอันตรายต่อสุขอนามัย พืชและสัตว์ เป็นต้น
๒.๒ ในอดีต อินโดนีเซียเคยถูกร้องเรียนเรื่องการใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าในหลายสินค้า เช่น การห้ามนำเข้ารถยนต์และรถจักรยานยนต์ และการกำหนดโควต้านำเข้ายานพาหนะเชิงพาณิชย์ (commercial vehicle) ซึ่งอินโดนีเซียก็พยายามลดมาตรการกีดกันดังกล่าวลงเรื่อยๆ และพยายามจะใช้เฉพาะมาตรการที่องค์การการค้าโลกอนุญาติ (WTO-consistent measures)
Source: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (๒๑ มกราคม ๒๕๕๖)