เศรษฐกิจรายสาขา

๑. ภายหลังจากธนาคารกลางเคยประกาศเริ่มนโยบายเปลี่ยนแปลงค่าเงินรูเปียห์ (rupiah redenomination)

เมื่อปี ๒๐๑๐ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา (๒๐๑๒) ก. คลังอินโดนีเซียแถลงว่า ขณะนี้ ร่างกฎหมายเปลี่ยนแปลงค่าเงินรูเปียห์ (rupiah redenomination) ซึ่งสาระสำคัญ คือ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินรูเปียห์ โดยการลดจำนวนลง ๑ ต่อ ๑.๐๐๐ หรือกล่าวให้ง่ายขึ้นคือ การตัด ศูนย์ (๐) ออกไปจำนวน ๓ ตัว จากจำนวนเดิม (ธนบัตรเดิม ๑,๐๐๐ รูเปียห์ ธนบัตรใหม่จะเป็นจำนวน ๑ รูเปียห์) เพื่อส่งเสริมการทำธุรกรรมทางการค้าและการเงิน และเพื่อเตรียมการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้เสร็จสิ้นแล้ว และจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร์ให้ความเห็นชอบภายในปี ๒๐๑๓ โดยในการเปลี่ยนแปลงค่าเงินดังกล่าวจะไม่กระทบมูลค่าของรูเปียห์แต่อย่างใด

๒. กระบวนการเปลี่ยนแปลงค่าเงินจะใช้เวลาประมาณ ๑๑ ปีในการดำเนินการ (๒๐๑๑-๒๐๒๒)

แบ่งเป็น ๔ ช่วง ขณะนี้ อยู่ระหว่างขั้น (๑) ช่วงเตรียมการ (๒๐๑๑-๒๐๑๓) ต่อไปจะเข้าสู่ (๒) ช่วงคาบเกี่ยวของเงิน ๒ แบบ (๒๐๑๔-๒๐๑๘) (๓) ช่วงยกเลิกเงินแบบเก่า (๒๐๑๙-๒๐๒๒) (๔) ช่วงสุดท้ายจนกระทั่งเงินแบบเก่าหมดไปจากระบบ (๒๐๒๒ เป็นต้นไป) โดยรัฐบาลจะเริ่มพิมพ์ธนบัตรใหม่ประมาณกลางปี ๒๐๑๓ และเริ่มเวียนธนบัตรใหม่ในปี ๒๐๑๔ ในช่วงคาบเกี่ยวของเงิน ๒ แบบจะมีธนบัตร ๒ แบบ เวียนในระบบ คือ ธนบัตรแบบเดิม และธนบัตรใหม่ซึ่งตัด ๐ ออกไปแล้ว ๓ ตัว ซึ่งรัฐบาลจะขอให้ผู้ประกอบการค้าติดป้ายราคาทั้งในมูลค่าเงินแบบเดิมและแบบใหม่ หากผู้ประกอบการไม่ติดป้ายราคาทั้ง ๒ ราคา จะมีมาตรการ sanction ทั้งนี้ รัฐบาลตระหนักว่า การให้ผู้ประกอบการในระบบตลาดแบบเดิม (traditional markets) รวมทั้ง ผู้ค้าในจังหวัดห่างไกลเข้าใจและประกาศราคาทั้ง ๒ มูลค่าเป็นเรื่องยาก แต่ก็จะพยายาม ทั้งนี้ ในปี ๒๐๑๙ จะใช้เฉพาะเงินแบบใหม่ แต่ยังอนุญาตให้ทำธุรกรรมภายใต้เงินแบบเดิมจนถึงปี ๒๐๒๒ หลังจากปี ๒๐๒๒ จะมีเฉพาะเงินแบบใหม่ และทำธุรกรรมเฉพาะในรูปเงินแบบใหม่เท่านั้น

๓. ในประวัติศาสตร์การเงินการคลังของอินโดนีเซีย เคยทำการเปลี่ยนแปลงค่าเงินมาแล้วหลายครั้ง

กล่าวคือ ในปี ๑๙๖๐ รัฐบาลเปลี่ยนแปลงค่าเงินโดยใช้วิธีที่เรียกว่า “sanering” ซึ่งนอกจากจะตัด ๐ แล้ว ยังลดมูลค่าเงินตามอัตราแลกเปลี่ยนด้วย คือ เดิม ๑ ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ ๑๑.๔ รูเปียห์ เป็น ๑ ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ ๔๕ รูเปียห์ ต่อมาในช่วงปี ๑๙๖๑-๑๙๖๕ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ปี ๑๙๖๕ สูงถึงร้อยละ ๖๐๐ รัฐบาลจึงต้องค่อยๆ ประกาศเปลี่ยนแปลงค่าธนบัตรโดยธนบัตร ๑๐๐ รูเปียห์กลายเป็นธนบัตร ๑.๐๐๐ รูเปียห์ และเป็น ๕,๐๐๐ รูเปียห์ จนสุดท้ายในปี ๑๙๖๔ ธนบัตร ๑๐๐ รูเปียห์กลายเป็นธนบัตร ๑๐.๐๐๐ รูเปียห์ และสุดท้ายในปี ๑๙๖๕ รัฐบาลก็ประกาศใช้เงินรูเปียห์ใหม่ (new rupiah) ที่มีค่า ๑ รูเปียห์ใหม่เท่ากับ ๑,๐๐๐ รูเปียห์ เดิม ด้วยประสบการณ์ดังกล่าว ธนาคารกลางและรัฐบาลค่อนข้างมั่นใจว่าครั้งนี้มีประสบการณ์ที่ดีกว่าในอดีต และได้เรียนรู้จากกรณีของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงค่าเงินเช่น ตุรกี หรือ ประเทศที่ล้มเหลว เช่น ซิมบับเว จึงจะแตกต่างจากครั้งก่อนๆ และจะทำอย่างรอบคอบระมัดระวัง เพราะจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน มูลค่าเงินรูเปียห์ยังคงเดิม และไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ กล่าวคือ เดิม กาแฟ ๑ แก้วราคา ๕๐,๐๐๐ รูเปียห์ ในเงินแบบใหม่จะราคา ๕๐ รูเปียห์ (ใช้ธนบัตร ๑ ใบเท่าเดิมในการซื้อ ธนบัตรเดิม ๕๐,๐๐๐ รูเปียห์ ธนบัตรใหม่ ๕๐ รูเปียห์) และไม่มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน เช่น ปัจจุบัน ๑ ดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณ ๙,๖๖๘ รูเปียห์ ต่อไป ๑ ดอลลาร์สหรัฐฯ ก็จะเท่ากับ ๙.๖ รูเปียห์ ซึ่งการเปลี่ยนดังกล่าวจะทำให้การจับจ่ายด้วยเงินสกุลรูเปียห์มีความสะดวกและง่ายดายขึ้น และช่วยการให้ทำธุรกรรมต่างๆ โดยเฉพาะธุรกรรมกับธนาคารและระบบคอมพิวเตอร์ เพราะไม่ต้องกรอก ๐ เป็นจำนวนมาก ก. การคลังระบุด้วยว่า ปัจจุบัน ก. การคลังประสบปัญหาไม่สามารถทำธุรกรรมการเงินโดยตรง (direct transaction) เกินวงเงิน ๑๐ ล้านล้านรูเปียห์กับระบบได้ เพราะจำนวนหลัก (digits) มากเกินไปต้องทำแบ่งทำธุรกรรมเป็นรายย่อยๆ ๒ รายการ รายการละ ๕ ล้านล้านรูเปียห์ เป็นต้น และในขณะนี้ ธนบัตร ๑๐๐,๐๐๐ รูเปียห์ เป็นธนบัตรที่มีมูลค่ามากเป็นลำดับ ๒ ในอาเซียนรองจากธนบัตร ๕๐๐,๐๐๐ ด่องของเวียดนาม

๔. ข้อสังเกต

๔.๑ การเลือกเปลี่ยนแปลงค่าเงินในช่วงเวลานี้น่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม
เพราะการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน (redenomination) ควรทำในช่วงเงินเฟ้อต่ำ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนเกิด ความคาดหวังในเรื่องของเงินเฟ้อ ซึ่งปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียอยู่ในภาวะควบคุมได้ คือ ประมาณ ร้อยละ ๔.๖ ซึ่งหากจะทำให้ได้ผลดี รัฐบาลต้องควบคุมเงินเฟ้อไว้ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ มิฉะนั้น หากเกิดอัตราเงินเฟ้อรุนแรง เช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี ๑๙๖๕ ก็จะทำให้ค่าเงินอ่อนค่า และการตัด ๐ ออกไปก็จะเป็นการสูญเปล่า เพราะสุดท้ายเงินก็กลับไปเฟ้ออยู่ดี

๔.๒ การเปลี่ยนแปลงค่าเงินแม้ไม่กระทบมูลค่าเงินหรืออัตราแลกเปลี่ยน
เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางบัญชีธนาคาร แต่จะสับสนเฉพาะในธุรกรรมที่ทำเป็นเงินสดในการซื้อขายในชีวิตประจำวันเท่านั้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ควรระมัดระวัง คือ ความน่าเชื่อถือของระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคาร เพราะหากระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารมีความไม่แน่นอน และน่าเชื่อถือ อาจเกิดปัญหาความถูกต้องของยอดเงินในบัญชี หรือธุรกรรมที่ทำผ่านธนาคารในช่วงที่ยังใช้เงิน ๒ ระบบได้เช่น ไม่แน่ใจว่า เป็นยอดหนี้ ๑ พันล้านรูเปียห์ หรือ ๑ ล้านล้านรูเปียห์ เป็นต้น


Source:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา

Back to the list