เศรษฐกิจรายสาขา
กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการออกหนังสือรับรองการอนุญาตนำเข้าผลิตภัณฑ์พืชสวนจากต่างประเทศ (No. 86/Permentant/OT.104/8/2013 Concerning Import Recommendation of Horticulture Products) และกระทรวงการค้าอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงว่าด้วยการแก้ไขบทบัญญัติการนำเข้าผลิตภัณฑ์พืชสวนจากต่างประเทศ (No. 47/M-DAG/PER/8/2013 Concerning Amendment of Regulation of the Minister of Trade No. 16/M-DAG/PER/4/2013) ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2556 มีสาระสำคัญ ดังนี้
1. กฎกระทรวงเกษตรดังกล่าวกำหนดให้การนำเข้าพริกและหอมแดงจากต่างประเทศ ต้องได้รับการอนุญาตให้นำเข้าจากกระทรวงการค้าอินโดนีเซียก่อน โดยจะพิจารณาให้นำเข้าได้หากราคาพริกและหอมแดงในประเทศราคาสูงเกินกว่าราคาที่กระทรวงการค้าอินโดนีเซียกำหนด เพื่อควบคุมไม่ให้ราคาสินค้าดังกล่าวในประเทศสูงกว่าราคาที่ควรจะเป็น
2. ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์พืชสวนประเภทอื่นๆ ที่ไม่ใช่พริกและหอมแดงจากต่างประเทศมายังอินโดนีเซีย สามารถยื่นคำขอหนังสือรับรองการอนุญาตนำเข้า (RIPH) จากกระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้ 2 ครั้ง คือ (1) ในช่วง 15 วันทำการแรกของเดือน พ.ย. ของทุกปี สำหรับการนำเข้าในช่วง ม.ค.-มิ.ย. ในปีถัดไป และ (2) ในช่วง 15 วันทำการแรกของเดือน พ.ค. ของทุกปี สำหรับการนำเข้าในช่วงเดือน ก.ค.-ธ.ค. ในปีนั้น แต่พริกและหอมแดงจะอนุญาตให้ยื่นขอใบอนุญาตได้ตลอดทั้งปี
ช่วงเวลานำเข้า | การยื่นขอใบ RIPH จากกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย | การยื่นขอใบ RIPH จากกระทรวงเกษตรอินโดนีเซีย |
ม.ค. – มิ.ย. | ภายใน 15 วันทำการแรก ของเดือน พ.ย. ปีก่อนหน้า | ภายในเดือน ธ.ค. ปีก่อนหน้า |
ก.ค. – ธ.ค. | ภายใน 15 วันทำการแรก ของเดือน พ.ค. ปีนั้น | ภายในเดือน มิ.ย. ปีนั้น |
3. กระทรวงเกษตรอินโดนีเซียมีหน้าที่เพียงการพิจารณาออกใบอนุญาตนำเข้าสินค้าพืชสวนจาก ตปท. (RIPH) โดยพิจารณาข้อมูลทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์เท่านั้น โดยเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบ RIPH จากกระทรวงเกษตรอินโดนีเซียแล้ว จึงนำใบอนุญาตดังกล่าวไปยื่นต่อกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย เพื่อขอใบ IP (Import of Horticulture Products) ต่อไป ซึ่งในขั้นตอนนี้ ผู้ประกอบการจะต้องระบุปริมาณที่ขออนุญาตนำเข้า โดยผู้ประกอบการจะต้องนำเข้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ของปริมาณที่ได้รับอนุญาต ตลอดจนต้องปฏิบัติตามมาตรการอื่นๆ ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 20 ของกฎกระทรวงการค้าฯ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ก็จะถูกเพิกถอนใบอนุญาตเป็นเวลา 2 ปี
4. สำหรับการนำเข้าพริกและหอมแดงนั้น อยู่ภายใต้การพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบราคาผลิตภัณฑ์พืชสวน (Team of Horticulture Product Price Monitoring) จัดตั้งโดยกระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ซึ่งจะอนุญาตให้นำเข้าได้หากราคาในท้องตลาดสูงกว่าราคาอ้างอิง โดยยึดหลักการคร่าวๆ ว่า หากราคาพริกและหอมแดงในตลาดสูงกว่าร้อยละ 30 ของราคาอ้างอิง ก็จะมีพิจารณาให้มีการนำเข้าจากต่างประเทศ
5. ทั้งนี้ กฎกระทรวงดังกล่าวสะท้อนแนวทางของรัฐบาลอินโดนีเซียที่เปลี่ยนจากการใช้โควต้ามาเป็นกลไกราคา ในการควบคุมราคาสินค้าเกษตรสำคัญ โดยเฉพาะพริกและหอมแดง อย่างไรก็ตาม กลไกดังกล่าวยังมีนัยเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า (Non-Tariff Barriers : NTB) อยู่เพราะยังใช้กลไกการขออนุญาตและจำกัดจำนวนใบอนุญาตไม่ใช่การนำเข้าโดยเสรี แต่ในพืชที่มีความอ่อนไหว เช่น พริกและหอมแดง ก็ผ่อนคลายมากขึ้นโดยยอมให้ขออนุญาตได้ทั้งปี
Source: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา (23 มกราคม 2557)