เศรษฐกิจรายสาขา
เมื่อเดือน ต.ค. 2559 กระทรวงศาสนาอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงที่ 42/2016 ว่าด้วยโครงสร้างและพันธกิจของกระทรวงศาสนาอินโดนีเซีย ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งองค์กรรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล (Halal Products Certification Agency – BPJPH) ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่ 33/2014 ว่าด้วยการรับรองสินค้าฮาลาล (Law No. 33/2014 on Halal Product Assurance) เพื่อให้ BPJPH เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการออกใบรับรอง การเก็บค่าธรรมเนียม แทน LPPOM MUI ซึ่งเป็นองค์กรตรวจรับรองมาตรฐานฮาลาลของอินโดนีเซีย ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความโปร่งใสด้านการจัดการเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมการออกใบรับรองดังกล่าวมาโดยตลอด เนื่องจาก LPPOM MUI เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ทำให้การตรวจสอบทำได้ยาก อย่างไรก็ดี BPJPH จะอยู่ภายใต้กระทรวงศาสนา และ LPPOM MUI จะยังคงมีอำนาจในการตัดสินว่าสินค้าใดเป็นสินค้าฮาลาลหรือไม่ อนึ่ง ในชั้นนี้ BPJPH ยังไม่เริ่มดำเนินการ และการรับรองฮาลาลยังคงอยู่ที่ LPPOM MUI จนกว่ากระบวนการจัดตั้งจะเสร็จสิ้น
นอกจากนี้ เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2559 กระทรวงศาสนาอินโดนีเซียได้ปรับปรุงร่างระเบียบว่าด้วยการบังคับใช้กฎหมายฮาลาลที่ 33/2014 โดยยังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงร่าง และยังไม่ทราบแน่ชัดว่าจะมีการออกระเบียบดังกล่าวได้เมื่อใด ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษากฎหมายเอกชน ซึ่งได้รับร่างระเบียบดังกล่าวได้ระบุประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
- สาระสำคัญยังคงเป็นไปตามเดิม คือ สินค้าฮาลาลที่นำเข้า / จำหน่าย / ซื้อขายในอินโดนีเซียจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล จากปัจจุบันที่การรับรองสินค้าฮาลาลเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ประกอบการ โดยกฎหมายฮาลาลที่ 33/2014 ระบุว่า การบังคับใช้ดังกล่าวจะมีผลภายใน 5 ปี นับจากวันที่กฎหมายประกาศใช้ ซึ่งคือวันที่ 17 ต.ค. ค.ศ. 2019
- นิยามของสินค้าฮาลาล หมายรวมถึงสินค้าและบริการด้านอาหาร เครื่องดื่ม ยา เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ ชีวภัณฑ์ สินค้า GMO และสินค้าอื่นที่เกี่ยวข้อง
- การบังคับใช้ใบรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาลจะเป็นไปทีละขั้นตอน โดยจะแบ่งสินค้าและบริการออกเป็น 3 กลุ่ม ตามลำดับความสำคัญ ได้แก่
(1) อาหารและเครื่องดื่ม
(2) สินค้าที่เกี่ยวข้องและบริการ
(3) ยา เครื่องสำอาง เคมีภัณฑ์ ชีวภัณฑ์ และสินค้า GMO
- จะมีการตั้ง Halal Audit Institution และ Halal Auditor ทำหน้าที่ตรวจสอบ/ทดสอบสินค้า และตัดสินว่าสินค้าใดฮาลาลหรือไม่
- สินค้าจากต่างประเทศที่ได้รับการรับรองจากสถาบันรับรองที่มีความร่วมมือกับ BPJPH ไม่จำเป็นต้องขอรับใบรับรองจาก BPJPH แต่ยังคงต้องลงทะเบียนสินค้าดังกล่าวกับ BPJPH ก่อนวางจำหน่ายในประเทศ
ทั้งนี้ คาดว่ากระทรวงศาสนาอินโดนีเซียจะต้องออกระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการบังคับใช้กฎหมายฮาลาลที่ 33/2014 มากกว่า 20 ฉบับ