เศรษฐกิจรายสาขา

ความร่วมมือในการเปิดบริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับธนาคารกลางอินโดนีเซีย Bank Indonesia


เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 Bank Indonesia (BI) ออกแถลงการณ์ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ทั้งสองธนาคารได้เริ่มการเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ผ่านการใช้ QR Code สรุปสาระสำคัญดังนี้

1) การดำเนินการครั้งนี้ นับเป็นการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินสำหรับรายย่อย (retail payment system) ครั้งแรกระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าในไทยและอินโดนีเซียสามารถชำระเงินค่าสินค้า/บริการผ่าน QR Code และเป็นก้าวสำคัญของข้อริเริ่มการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity Initiative)

2) ปัจจุบัน ระบบนี้ยังอยู่ในช่วง pilot phrase เพื่อปรับและพัฒนาระบบให้สามารถใช้ได้อย่างราบรื่น และเตรียมความพร้อมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดใช้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 โดยในชั้นนี้ ผู้ใช้บริการจากอินโดนีเซีย/ไทย สามารถใช้แอพพลิเคชั่น mobile banking ของธนาคารที่ร่วมโครงการ เพื่อจ่ายเงินผ่าน QR Code ของร้านค้าไทย/อินโดนีเซียได้ และในอนาคต หวังว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้สามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือในการโอนเงินได้

3) การดำเนินการครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการดำเนินการตาม Indonesia Payment System Blueprint 2025 โดยเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางตรง (direct quotation) ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นที่กำหนดโดยธนาคารที่เป็นตัวกลางในการ quote อัตราแลกเปลี่ยนและบริการเงินทั้ง 2 สกุล (appointed cross currency dealer – ACCD) ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดค่าใช้จ่าย/ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม โดยนอกจากความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้ง 2 ปท. แล้ว ยังจะสามารถช่วยเหลือธุรกิจ SMEs การเข้าถึงบริการทางการเงิน และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาดิจิทัล

4) ปัจจุบัน มีธนาคารในอินโดนีเซียเข้าร่วมโครงการนี้ 11 ราย และ non-bank ของอินโดนีเซีย 5 ราย รวมทั้งธนาคารไทย 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคาร CIMB Thai

5) ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ Indonesia Payment System Blueprint 2025

เป็นนโยบายของ BI ที่ริเริ่มเมื่อปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่ ยุคดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซีย โดยมุ่งหมายที่จะ

  1. เสริมสร้างการบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัลและภาคการเงิน
  2. ทำให้เกิด digital transformation ในธุรกิจธนาคาร
  3. สร้างความเชื่อมโยงระหว่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจการเงิน (fintech) และการธนาคาร
  4. สร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรม การคุ้มครองผู้บริโภค คุณธรรมจริยธรรม (integrity) และการแข่งขันที่เป็นธรรม
  5. รักษาประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการเงินข้ามพรมแดน

นโยบายนี้ประกอบด้วย 5 ข้อริเริ่ม ได้แก่

  1. การให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถใช้และแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้บริการได้อย่างสะดวก มีมาตรฐาน และปลอดภัย หรือ Open Banking เพื่อการพัฒนาการให้บริการและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นอนาคตของธุรกิจธนาคารในยุคดิจิทัล
  2. การยกระดับ retail payment system ให้สะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน
  3. การปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (financial market infrastructure)
  4. การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
  5. การกำกับดูแล


Source: https://www.bi.go.id/en/publikasi/ruang-media/news-release/Pages/sp_170821.aspx


Back to the list