เศรษฐกิจรายสาขา

สรุปการบรรยายเกี่ยวกับสภาวะและการคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซีย โดยนาย Josua Pardede, Chief Economist ของ Bank Permata เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2566

1. ภาพรวม

เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังมีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่ม G20 โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคภาคครัวเรือน การส่งออก (แม้มูลค่าจะลดลงจากราคาสินค้าส่งออกสำคัญที่ลดลงในตลาดโลก) ภาคการผลิตที่ดัชนี PMI ยังสามารถขยายตัวได้ และน่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องถึงปี 2567 โดยองค์กรด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศหลายสำนัก อาทิ OECD IMF ADB เห็นว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซีย น่าจะขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 4.7 – 5 ในปี 2566 และร้อยละ 4.9 – 5.1 ในปี 2567 ซึ่งนับว่าสูงหากเทียบกับ ประเทศที่พัฒนาแล้วใน G20 ทำให้ค่าเงิน IDR และการลงทุน รวมถึงพันธบัตรของอินโดนีเซียยังมีแนวโน้มที่ดีตามไปด้วย

2. การขยายตัวของอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

อุตสาหกรรมด้านบริการ (ค้าปลีก-ส่ง ขนส่ง-โกดัง ICT) ของอินโดนีเซียขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านการขนส่งและโกดังที่ขยายตัวถึงร้อยละ 15.3 และอุตสาหกรรมที่พัก-ร้านอาหาร ที่ขยายตัวร้อยละ 9.8 ในไตรมาส 2/2566 ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสำคัญ 4 สาขาที่มีส่วนสำคัญต่อ GDP อินโดนีเซียในไตรมาส 2/2566 ได้แก่ (1) เกษตร ป่าไม้ ประมง ขยายตัวร้อยละ 2 (2) เหมืองแร่ ขยายตัวร้อยละ 5 (3) อุตสาหกรรมการผลิต ขยายตัวร้อยละ 4.9 และ (4) ค้าปลีก-ส่ง และการซ่อมบำรุงยานพาหนะ ขยายตัวร้อยละ 5.3

3. การขยายตัวของภาคการผลิตในแต่ละสาขา

3.1 สินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการขยายตัวสูงสุดในไตรมาส 2/2566 (ร้อยละ 17.3) และเป็นการขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันนโยบาย เศรษฐกิจ ปลายน้ำของ อินโดนีเซียที่ รัฐบาลอินโดนีเซีย เร่งเครื่องดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่สถานการณ์ COVID-19 ในประเทศทุเลาลงในปี 2565 ทั้งนี้ ภาคการผลิตสำคัญ 3 สาขาที่มีส่วนสำคัญต่อ GDP อินโดนีเซียในไตรมาส 2/2566 ได้แก่ (1) ถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ขยายตัวร้อยละ 8.2 (2) อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัวร้อยละ 4.6 (3) อุตสาหกรรมยาและเคมี หดตัวร้อยละ 1.4 ซึ่งมาจากการสิ้นสุดภาวะโรคระบาดของ COVID-19

4. การค้าการลงทุนกับไทย

4.1 ไทยเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญของอินโดนีเซีย โดยเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าที่สำคัญ ทำให้ในระยะที่ผ่านมา อินโดนีเซียเสียดุลการค้าให้กับไทยอย่างต่อเนื่อง โดยสินค้าที่อินโดนีเซียนำเข้าจากไทยเน้นหนักไปที่น้ำตาล รถยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ และพลาสติก ส่วนสินค้าที่อินโดนีเซียส่งออกมายังไทยส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกี่ยวกับพลังงาน (ถ่านหิน น้ำมัน) รถยนต์และชิ้นส่วน และทองแดง

4.2 ในด้านการลงทุน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2003 เป็นต้นมา FDI จากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเคมี ยานยนต์ ถ่านหิน ยางพารา และอุตสาหกรรมเกษตร/อาหาร

5. การคาดการณ์สำหรับอนาคต

หากอินโดนีเซียต้องการจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2045 จะต้องผลักดันให้ GDP ขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 6-7 ต่อปี จนถึงปี ค.ศ. 2045 ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่กับนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจที่รัฐบาลอินโดนีเซียวางรากฐานไว้ โดยมีสาขาสำคัญคือการแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นให้มีมูลค่าสูงขึ้นก่อนส่งออก (ควบคู่กับการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อลดการนำเข้าสินค้า) การสร้างงาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งในด้านสาธารณูปโภคและการคมนาคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านการปฏิรูประบบกฎหมายและระเบียบภายในจำนวนมากเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุน ซึ่งเป็นที่มาของ Omnibus Law on Job Creation




Back to the list