เศรษฐกิจรายสาขา

ข้อมูลสังเขปเกี่ยวกับนโยบายการจ้างแรงงานต่างชาติของอินโดนีเซีย

อินโดนีเซียเห็นว่าบริษัทต่างชาติ/ข้ามชาติในอินโดนีเซีย

มีบทบาทสำคัญในการสร้างงาน การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศด้านเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจ และเห็นว่าการจ้างแรงงานต่างชาติของบริษัทต่าง ๆ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งสริมเศรษฐกิจลกในภาพรวม เนื่องจากทำให้เกิดการพัฒนาทักษะ องค์ความรู้ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของทรัพยากรมนุษย์ ทั้งนี้ การมีกฎระเบียบที่ชัดเจนจะทำให้เกิดการปกป้องคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการแก่แรงงานต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกฎต่าง ๆ จะเน้นสร้างสมดุลระหว่างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับความยั่งยืนทางสังคม/สิ่งแวดล้อม การพัฒนาทักษะและโอกาสด้านการงาน การแบ่งสรรหน้าที่รับผิดชอบต่อแรงงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้ความสำคัญกับบทบาทของแรงงานท้องถิ่นและสังคมท้องถิ่นของ ประเทศนั้น ๆ ด้วย เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและแรงงานต่างชาติและท้องถิ่น อย่างไรก็ดีการจ้างแรงงานต่างชาติเป็นหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวที่สหภาพแรงงานประท้วงเกี่ยวกับ Omnibus Law on Job Creation มาโดยตลอด เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการแย่งงานที่มีรายได้ดีจากแรงงานท้องถิ่น รวมถึงอาจส่งผลให้มีแรงงานไร้ฝีมือต่างชาติในอินโดนีเซียมากขึ้น และแย่งงานกับคนท้องถิ่นซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่รัฐบาลอินโดนีเซียต้องพยายามปรับแก้กฎหมายแรงงานและกฎหมายส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมการจ้างงานประชาชน และได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะจากการลงทุนของต่างชาติ กับการเปิดช่องให้ชาวต่างชาติเข้ามาทำงานในอินโดนีเซียมากขึ้น

ระหว่างปี 2565 – 2567 จำนวนประชากรวัยแรงงานของอินโดนีเซีย เพิ่มขึ้นจาก 135.61 ล้านคน เป็น 142.18 ล้านคน (เพิ่มขึ้น 7.2 ล้านคน) และอัตราการว่างงานลดลงจาก 5.83% ในปี 2565 เหลือ 4.82% ในปี 2567 ทั้งนี้ พบว่ามีการจ้างงานเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมการผลิตกระดาษ การพิมพ์ สื่อบันทึกภาพ เหล็ก คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และหนัง (leather)

ความท้าทายสำคัญในการเพิ่มการจ้างงานและคุ้มครองแรงงานใน อินโดนีเซีย

  1. ทักษะของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของนายจ้าง
  2. ประชากรส่วนใหญ่ที่ยังว่างงาน คือกลุ่ม Gen Z ที่ยังลังเล/ไม่แน่ใจกับการเข้าสู่ระบบ workforce เนื่องจากความชอบส่วนบุคคลหรือการไม่ต้องการทำงาน
  3. กลุ่มผู้เรียนจบชั้นมัธยม เป็นกลุ่มที่มีอัตราว่างงานสูงสุด เนื่องจากต้องการเข้ามาทำงานในเมืองแต่ยังมีทักษะไม่เพียงพอกับตำแหน่งงานที่เปิดรับ
  4. แรงงานนอกระบบที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการที่ครอบคลุม

ในส่วนของการจ้างแรงงานต่างชาติในอินโดนีเซียนั้น พบว่าภาคธุรกิจบริการและภาคอุตสาหกรรมมีการจ้างแรงงานต่างชาติสูงสุด โดยส่วนใหญ่มาจาก จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ ในจำนวนแรงงานต่างชาติทั้งหมดนั้น มีตำแหน่งเชี่ยวชาญ (professional position) คิดเป็นร้อยละ 53.46 ตามด้วยตำแหน่ง advisor และ consultant

กฎหมายส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซียอนุญาตให้จ้างงานคนต่างชาติในอินโดนีเซียได้ โดยต้องดำเนินการตามอัตราการจ้างและตำแหน่งที่กำหนดไว้ รวมถึงไม่อนุญาตให้คนต่างชาติทำงานในตำแหน่งด้านทรัพยากรบุคคล (HR) ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังปรับปรุงกฎหมายเพื่อขยายโอกาสการจ้างแรงงานต่างชาติมากขึ้น เพื่อดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนเพิ่มและทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้ อาทิ การกำหนดให้บริษัทที่ต้องการจ้างแรงงานต่างชาติ มีอัตราส่วนแรงงานต่างชาติกับแรงงานท้องถิ่น 1:1 (เดิม 10:100) โดยกำหนดแนวทางการคุ้มครองแรงงานท้องถิ่นเพิ่มเติมไว้ใน Omnibus Law on Job Creation ทั้งนี้ 1 บริษัทที่ต้องการจ้างแรงงานต่างชาติจะต้องจัดทำ Foreign Worker Utilization Plan (RPTKA) ซึ่งเป็นเอกสารที่ระบุรายละเอียดการจ้าง ตำแหน่ง ขอบเขตของงาน และระยะเวลาการจ้างแรงงานต่างชาติ ในอินโดนีเซียและเป็นหนึ่งในเอกสารพื้นฐานที่จะต้องใช้ขอรับ Limited Stay Visa (VITAS) และ stay permit อย่างไรก็ดี สำหรับชาวต่างชาติที่รัฐบาลอินโดนีเซียเชิญหรือจ้างงานโดยตรง ไม่จำเป็นต้องจัดทำ RPTKA



Back to the list