เศรษฐกิจรายสาขา

1. ความเป็นมา
1.1 อินโดนีเซียมีนโยบายการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลภายในประเทศและระหว่างประเทศ
เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษา แหล่งเงินทุน และโอกาสทางเศรษฐกิจ อันจะนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และความเป็นอยู่ที่ดี โดยจากการสำรวจพบว่าชาวอินโดนีเซียใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถืออย่างน้อย 6 ชม./วัน และนิยมใช้งานโซเชียลมีเดีย รวมถึงดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้อินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ของสมาร์ทโฟนค่ายต่าง ๆ ที่มีโอกาสขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เพื่อจับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการหลากหลาย โดยหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ iPhone ของ Apple (ในปี 2566 มีมูลค่าประมาณ 2 พันล้าน USD คิดเป็น 85% ของสมาร์ทโฟนที่นำเข้ามาขายในอินโดนีเซียและ ณ เดือน ต.ค. 2567 Apple มีส่วนแบ่ง 12% ในตลาดสมาร์ทโฟนของอินโดนีเซีย) ทั้งนี้ ส่วนแบ่งทางการตลาดของ Apple จะน้อยกว่ายี่ห้ออื่น ๆ อาทิ Samsung Oppo Xiaomi เนื่องจากมีราคาสูงกว่า และมีภาพลักษณ์ของแบรนด์ระดับพรีเมียมสำหรับผู้มีรายได้สูง รวมทั้ง Apple มีเทคโนโลยีเฉพาะของตนเอง และเป็นผู้นำเทรนด์ ด้านเทคโนโลยีสมาร์ทโฟนของโลกในปัจจุบัน รวมถึงชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังนิยมใช้ระบบปฏิบัติการ Android มากกว่า เนื่องจากเข้าถึงง่ายและมีราคาย่อมเยากว่า
1.2 การนำสินค้าเข้ามาขายในอินโดนีเซียจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะในแต่ละสาขา
และสินค้า บางประเภทยังเข้าข่ายอยู่ภายใต้ข้อกำหนด Domestic Component Level (TKDN) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม การพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศและลดการนำเข้าในระยะยาว ด้วยการใช้ส่วนประกอบที่ผลิตภายในประเทศ หรือ การลงทุนหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีภายในประเทศ ด้วย ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวรวมถึงสมาร์ทโฟน อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ หรือ tablet computer ประเภทที่รองรับระบบ 4G/5G ที่วางขายในอินโดนีเซียซึ่งเดิมกำหนดว่าจะต้องมี TKDN ขั้นต่ำ 30% ตามกฎกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอินโดนีเซียปี ค.ศ. 2015 ทั้งนี้ ต่อมารัฐบาลอินโดนีเซียได้แก้ไขกฎดังกล่าว และออกกฎกระทรวงเทคโนโลยีฯ อินโดนีเซีย No. 13/2021 ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2021 กำหนดให้อุปกรณ์ข้างต้นต้องมี TKDN ขั้นต่ำ 35% ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะเพิ่ม TKDN ขึ้นเป็น 40% สำหรับโทรศัพท์มือถือและสมาร์ทโฟนทุกประเภทภายในปี 2568
1.3 ที่ผ่านมา Apple เน้นการนำส่วนประกอบต่าง ๆ มาจากหลายแห่งผ่าน Global supply chain
โดยปฏิบัติตาม TKDN ทั้งระหว่างปี ค.ศ. 2017-2020 (TKDN 30%) และตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021-2023 (TKDN 35%) ด้วยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการลงทุนในประเทศ เนื่องจากมี supplier จากอินโดนีเซียเพียงรายเดียว โดยมีมูลค่ารวมจากพันธกรณีตาม TKDM ประมาณ 100 ล้าน USD (ประมาณ 1.71 ล้านล้าน IDR) ซึ่ง Apple ได้เปิด Apple Developer Academy ขึ้นที่เมืองบันเติน (ปริมณฑลของกรุงจาการ์ตา) สุราบายา และบาตัม เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามพันธกรณี TKDM อย่างไรก็ดี ทางการอินโดนีเซียให้ข่าวว่า Apple ยังลงทุนไม่ถึงพันธรกณีที่มีอยู่ตาม TKDM ข้างต้น โดยมีมูลค่าประมาณ 1.48 ล้านล้าน IDR
1.4 เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 นาย Tim Cook ได้พบหารือกับนายโจโก วิโดโด (ประธานาธิบดีอินโดนีเซียขณะนั้น)
ที่กรุงจาการ์ตา โดยยืนยันการสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมปลายน้ำของอินโดนีเซียการตั้ง Apple Store ในอินโดนีเซียและการลงทุนให้ถึงตามพันธกรณี TKDN 1.71 ล้านล้าน IDR รวมถึงการลดการพึ่งพาชิ้นส่วนต่าง ๆ จากจีน
2. คำสั่งห้ามขาย iPhone16
2.1 เมื่อเดือนตุลาคม 2567 ทางการอินโดนีเซียปฏิเสธคำขอของ Apple ที่จะนำเข้า iPhone16
เพื่อจำหน่ายในอินโดนีเซียโดยให้เหตุผลว่า Apple ยังไม่ได้ลงทุนให้ถึงตามพันธกรณี TKDN ของอินโดนีเซียและการตั้ง Apple Developer Academy ไม่สามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ที่บริษัทได้รับจากการจำหน่ายสินค้าในอินโดนีเซียได้ ซึ่งทำให้ในเวลาต่อมา Apple ได้เพิ่มข้อเสนอการลงทุนเป็น 10 ล้าน USD และ 100 ล้าน USD ตามลำดับ เพื่อให้สามารถตอบสนองตามพันธกรณี TKDN เดิมและของใหม่ได้ โดยจะมีการส่งเสริม R&D และการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ของสินค้าของบริษัทในอินโดนีเซีย
2.2 รัฐบาลอินโดนีเซียปฏิเสธข้อเสนอการลงทุน 100 ล้าน USD (1.57 ล้านล้าน IDR) ของ Apple
เนื่องจาก (1)อินโดนีเซียเป็นตลาดใหญ่ที่ให้ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับ Apple มหาศาล แต่ Apple กลับเลือกลงทุนในอินโดนีเซียน้อยกว่าที่ลงทุนในสิงคโปร์ (4 ล้านล้าน IDR) และเวียดนาม (255 ล้านล้าน IDR) ทางการอินโดนีเซียจึงต้องการให้บริษัทลงทุนให้ได้สัดส่วนกับผลประโยชน์ ที่ได้จากตลาดอินโดนีเซีย (2) Apple ต้องลงทุนในอินโดนีเซียในมูลค่าทัดเทียมกับผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายอื่น ๆ ในอินโดนีเซียอาทิ Samsung (8 ล้านล้าน IDR) และ Xiaomi (5 ล้านล้าน IDR) (3) การลงทุนของ Apple จะต้องคำนึงถึงการเพิ่มมูลค่าเพิ่มด้านเศรษฐกิจ และการเพิ่มการจ้างแรงงานในประเทศ
2.3 ต่อมา Apple ได้เพิ่มข้อเสนอมูลค่าการลงทุนเป็น 1 พันล้าน USD (15.9 ล้านล้าน IDR)
เพื่อตั้งโรงงานผลิต AirTag ที่เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะรีเยา รวมถึงส่วนประกอบอื่น ๆ ผ่าน supplier ซึ่งหากดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2569 ก็จะสร้างงานได้ 2,000 ตำแหน่ง และสามารถผลิต AirTag ป้อนเข้าสู่ตลาดโลกได้ 65% ของจำนวน AirTag ทั้งหมด โดยจะเป็นการลงทุนโดย suppliers ของ Apple ซึ่งในเบื้องต้น รมต. กระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียระบุว่าทางการอินโดนีเซียประสงค์ให้ Apple เข้ามาตั้งโรงงานผลิต iPhone มากกว่า AirTag ที่เป็นเพียงอุปกรณ์เสริม และยืนยันว่า Apple ต้องปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของรัฐบาลตามข้อ 2.2 รวมถึงการดำเนินการตามพันธกรณี TKDN และการถ่ายทอด R&D ด้วย แต่ในขณะเดียวกันรัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและอุตสาหกรรมปลายน้ำอินโดนีเซียก็ระบุว่า Apple อยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซีย ในเรื่องนี้
2.4 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 68 หลังจากที่ Apple เปิดตัว iPhone 16e รุ่นประหยัด
และมีแผน จะวางขายในอินโดนีเซียด้วยนั้น ทางรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมอินโดนีเซียได้ให้ข่าวว่า Apple ได้ดำเนินการตามพันธกรณี TKDN ตามข้อ 1.4 แล้ว และล่าสุด รัฐบาลอินโดนีเซียก็ได้อนุญาตให้ Apple นำเข้า iPhone16 ได้ แต่ไม่มีการเปิดเผยดีลการลงทุนระหว่างทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด
3. ข้อมูลเพิ่มเติม
3.1 การดำเนินการของอินโดนีเซียทั้งหมดนี้ไม่ใช่ประเด็นเกี่ยวกับ TKDN เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
แต่เป็นการเพิ่มข้อกำหนดต่าง ๆ ให้การลงทุนได้สัดส่วนกับผลประโยชน์ที่อินโดนีเซียจะได้รับด้วย รวมถึงการเรียกร้องให้ Apple มองอินโดนีเซียเป็นส่วนหนึ่งของ Global Supply Chain และเพิ่มจำนวน supplier อุปกรณ์ในอินโดนีเซียแม้ในชั้นแรกจะมีเพียงประเด็น TKDN ก็ตาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขยับ bar การลงทุนจากการเปรียบเทียบการลงทุนของ Apple กับประเทศ อื่น ๆ และบริษัทอื่น ๆ
3.2 การดำเนินการดังกล่าวสร้างความกังวลให้แก่สมาชิกสภาเศรษฐกิจ แห่งชาติอินโดนีเซีย(National Economic Council – DEN) บางราย
เนื่องจากอาจส่งผลกระทบกับการค้ากับสหรัฐฯ นอกจากนี้ มาตรการดังกล่าวอาจใช้ไม่ได้ผลกับบริษัทรายอื่น ๆ ที่ไม่มีทรัพยากรและอำนาจการต่อรองเท่ากับ Apple ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทดังกล่าวเลือกไปตั้งโรงงานในประเทศอื่น และส่งสินค้าเข้ามายังอินโดนีเซียแทน ซึ่งไม่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลอินโดนีเซีย