เศรษฐกิจรายสาขา
1. สาเหตุของการปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บค่าไฟฟ้าใน อซ.
การประกาศปรับขึ้นอัตราฯ (โดยเฉลี่ยร้อยละ 10 และสูงสุดไม่เกินร้อยละ 18 ในกรณีที่เป้นภาคอุตสาหกรรม) เป็นผลมาจากการปรับแก้ตัวเลขงบประมาณแผ่นดินในปี 2010 เมื่อปลายพฤษภาคม 2553 ที่ผ่านมา โดยรัฐบาลอินโดนีเซียหวังว่า การปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าของอินโดนีเซียจะเป็นการเพิ่มรายได้ให้รัฐบาลนำไปจัดสรรการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งนี้ การประกาศปรับขึ้นค่าไฟฟ้าจะบังคับใช้กับกลุ่มผู้ใช้กระแสไฟฟ้าตั้งแต่ 900 วัตต์ขึ้นไปเท่านั้น
2. ผลกระทบต่อภาคเอกชน อซ.
2.1 ได้มีการคาดการณ์ค่าไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมสำคัญต่างๆ ของอินโดนีเซีย อาทิ (1) อุตสาหกรรมอาหาร ร้อยละ 30 (2) อุตสาหกรรมโรงแรม ร้อยละ 33.3 และ (3) อุตสาหกรรมซีเมนต์และอิเล็คทรอนิกส์จะมีต้นทุนการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 49 และ 40 ตามลำดับ ภาคเอกชนอินโดนีเซียเห็นว่าไม่ใช่ร้อยละ 10 ตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศไว้
2.2 ภาคธุรกิจเอกชนอินโดนีเซียได้ให้ความเห็นว่าการปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บค่าไฟฟ้าอาจทำให้เกิด Domino Effect ตามมา อาทิ (1) การเลิกจ้างงานครั้งใหญ่อันจะส่งผลกระทบต่ออัตราการว่างงาน (2) ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของ อซ. ในด้านราคาและการพัฒนา SMEs และอุตสาหกรรมของประเทศซึ่งส่วนใหญ่ยังคงเป็นอุตสาหกรรม labour intensive (3) ราคาสินค้าที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อของ อินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้ ภาคเอกชนจึงได้เสนอให้ รบ.อซ. พิจารณาทบทวนการลดการให้เงินอุดหนุนแก่ธุรกิจส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติเพื่อกระตุ้นให้มีการนำทรัพยากรดังกล่าวมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ
3. มุมมองของภาครัฐบาล
แม้รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนที่จะทบทวนการปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บค่าไฟฟ้า หลังจากได้รับการร้องเรียนเป็นจำนวนมาก รมว.พลังงานและแร่ธาตุของอินโดนีเซียได้ชี้แจงว่า SMEs ส่วนใหญ่ใช้กระแสไฟฟ้า 450 - 900 วัตต์ ดังนั้นจึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือภาคอุตสาหกรรม นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียสามารถทำให้ประชาชนอินโดนีเซียจำนวน 19 ล้านครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้เพิ่มขึ้น Coordinating Minister for the Economy ได้ชี้แจงว่า ไม่น่าจะทำให้เกิดการยกเลิกจ้างงานครั้งใหญ่ และค่าไฟฟ้าคิดเป็นร้อยละ 5 ของต้นทุนการผลิต ดังนั้นราคาสินค้าจะปรับตัวสูงขึ้นไม่เกินร้อยละ 1
4. ข้อพิจารณาสำหรับนักลงทุนไทย
4.1 แนวโน้มในปัจจุบันความต้องการการใช้ไฟฟ้าของอินโดนีเซียอยู่ในอัตราที่สูงมาก ในขณะที่อินโดนีเซียยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้า เพื่อตอบสนองความต้องการของคนในประเทศได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยที่จะพิจารณาเข้ามาลงทุนสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ นักลงทุนไทยอาจจะต้องรอจังหวะให้ประเด็นการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้าในอินโดนีเซียนิ่งเสียก่อน
4.2 ความได้เปรียบทางการแข่งขันโดยเฉพาะด้านราคาของสินค้าอินโดนีเซียน่าจะลดลงภายใต้การบังคับใช้ข้อตกลงการค้าเสรี ซึ่งในปัจจุบันก็เป็นข้อกังวลของภาคอุตสาหกรรมอินโดนีเซียด้วยเช่นกัน
4.3 เสียงเรียกร้องจากประชาชนอินโดนีเซียเกี่ยวกับธุรกิจส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติของอินโดนีเซียอาจส่งผลต่อผู้ประกอบการไทยในธุรกิจดังกล่าว หากยังมีเสียงเรียกร้องอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการต่างชาติจะไม่สามารถนำทรัพยากรจากอินโดนีเซียกลับเข้าไปใช้ประโยชน์ในภาคพลังงานของประเทศตนเองได้ในปริมาณที่เคยทำมาก่อน เนื่องจากอินโดนีเซียมีความต้องการทรัพยากรดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าภายในประเทศ
Source: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (29 กรกฎาคม 2553)