การปฏิรูปธนาคารและสถาบันการเงินของอินโดนีเซีย

๑. ระบบธนาคารและสถาบันการเงินของอินโดนีเซียถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายสำคัญ
ได้แก่ กฎหมายเลขที่ ๗/๑๙๙๒ และแก้ไขใหม่โดยกฎหมายเลขที่ ๑๐/๑๙๙๘ อย่างไรก็ตาม หลังวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียปี ๑๙๙๘ เศรษฐกิจอินโดนีเซีย รวมทั้งภาคการเงินการธนาคารรัฐบาลได้รับผลกระทบอย่างมาก รัฐบาลจึงแก้ไขกฎหมายการเงินการธนาคาร
ให้นักลงทุนสามารถถือหุ้นธนาคารในอินโดนีเซียได้ถึงร้อยละ ๙๙
เพื่อให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาซื้อกิจการที่ประสบปัญหาไปแก้ไข และอนุญาตให้สาขาธนาคารต่างประเทศสามารถเปิดที่ใดก็ได้ในอินโดนีเซีย
ต่อมาเมื่อระบบการธนาคารของอินโดนีเซียพ้นช่วงวิกฤตรัฐบาลจึงได้ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบบางประการ เช่น จำกัดการเปิดสาขาของธนาคารต่างชาติไว้เฉพาะใน ๑๐ เมืองใหญ่ และปัจจุบันไม่มีการออกใบอนุญาตให้เปิดสาขาของธนาคารต่างชาติเพิ่มอีก แต่สาขาของธนาคารต่างชาติที่มีอยู่แล้วยังสามารถดำเนินกิจการหรือขยายกิจการได้ เช่น ธนาคารกรุงเทพสามารถเปิดสาขา ๒ ที่เมืองสุราบายาได้ เป็นต้น


๒. ในขณะนี้ ธุรกิจสถาบันการเงินในอินโดนีเซีย ยังไม่มีความหลากหลายมากนัก
กล่าวคือสินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ในภาคการธนาคาร คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ ๗๙.๕ ของสินทรัพย์ในธุรกิจสถาบันการเงินทั้งหมด ในปัจจุบันมีธนาคารประมาณ ๑๒๐ ธนาคาร โดยธนาคารขนาดใหญ่เป็นธนาคารของรัฐ ได้แก่ Mandiri, BNI, BRI มีเพียง BCA เป็นธนาคารของเอกชน อย่างไรก็ตาม ธนาคารขนาดใหญ่ ๑๐ ลำดับต้น นอกจาก ๔ ธนาคารดังกล่าวแล้ว ส่วนมากเป็นธนาคารที่ถือหุ้นใหญ่โดยนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งยึดครองส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจธนาคารอย่างมาก ธนาคารขนาดใหญ่ ๑๔ รายมีสินทรัพย์คิดเป็น ร้อยละ ๗๐ ของสินทรัพย์ในธุรกิจธนาคารทั้งหมด และสินทรัพย์เกินกว่าครึ่งหนึ่งของภาคการธนาคารเป็นของนักลงทุนต่างชาติ


๓. ระบบธนาคารในอินโดนีเซีย ประกอบด้วย ธนาคารพาณิชย์ (commercial bank)
ธนาคารท้องถิ่น (rural bank)

โดยธนาคารพาณิชย์ ต้องถือหุ้นโดย คนอินโดนีเซีย นิติบุคคลอินโดนีเซีย หรือกิจการร่วมค้า (JV) ระหว่างคนอินโดนีเซียกับคนต่างชาติ ในขณะที่ ธนาคารท้องถิ่น (rural bank) ต้องถือหุ้นโดยคนอินโดนีเซีย หรือ รัฐบาลท้องถิ่นเท่านั้น ผู้ประสงค์จะประกอบกิจการธนาคารสามารถจัดตั้งได้นิติบุคคลเพื่อประกอบการในรูปแบบ บริษัทจำกัด / สหกรณ์ /วิสาหกิจท้องถิ่น (regional development enterprise) ความแตกต่างของธนาคารพาณิชย์กับธนาคารท้องถิ่น คือ ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ทุกรูปแบบขึ้นอยู่กับ profile ของเงินกองทุนของตนเอง แต่ธนาคารท้องถิ่นจะถูกจำกัดการทำธุรกรรม เช่น ทำธุรกรรมบางรายการ เช่น เงินฝากกระแสรายวัน / รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ / ธุรกิจประกันภัย / เข้าถือหุ้นในบริษัท ไม่ได้เป็นต้น และหากธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารท้องถิ่นจะเปิดสาขา สาขาย่อย สาขาในต่างประเทศ สำนักงานตัวแทน ฯลฯ จะต้องได้รับอนุญาตจากธนาคารกลางก่อน เช่นเดียวกับ
ธนาคารต่างประเทศหากจะเปิดสาขาในอินโดนีเซียต้องได้รับอนุญาตก่อนเช่นกัน


๔. ปัจจุบัน ธนาคารสำคัญในอินโดนีเซีย
เป็นธนาคารของรัฐ ๔ แห่ง / ธนาคารท้องถิ่น ๒๖ แห่ง / ธนาคารของเอกชน ๕๖ แห่ง /ธนาคารลูกของธนาคารต่างชาติ (subsidiary/joint venture) ๑๓ แห่ง / สาขาของธนาคารต่างชาติ ๑๐ แห่ง และธนาคารอิสลาม ๑๑ แห่ง

มูลค่าสินทรัพย์รวมในธุรกิจธนาคารคิดเป็นประมาณ ๓,๖๕๒.๘ ล้านล้านรูเปียห์ เป็นของธนาคารรัฐ ๑,๓๒๘.๒
ล้านล้านรูเปียห์ หรือร้อยละ ๓๖.๔
เป็นของบริษัทลูกธนาคารต่างชาติ ประมาณ ๑๘๑.๑ ล้านล้านรูเปีย์ หรือ ร้อยละ ๕.๐ เป็นของสาขาธนาคารต่างชาติประมาณ ๒๖๘.๕ ล้านล้านรูเปียห์ หรือร้อยละ๗.๓ สัดส่วนการปล่อยสินเชื่อคิดเป็นมูลค่ารวม ๒,๒๐๐.๑
ล้านล้านรูเปียห์ เป็นของธนาคารรัฐ ๗๗๖.๘ ล้านล้านรูเปียห์ หรือร้อยละ ๓๕.๓
เป็นของบริษัทลูกธนาคารต่างชาติ ๑๒๐.๔ ล้านล้านรูเปียห์ หรือร้อยละ ๕.๕ และเป็นของสาขาธนาคารต่างชาติ ๑๓๖.๕ ล้านล้านรูเปียห์ หรือร้อยละ ๖.๒

สินทรัพย์ของธนาคารขนาดใหญ่ของอินโดนีเซียมีขนาดใกล้เคียงกับธนาคารขนาดใหญ่ของไทย เช่น ธนาคาร Mandiri ซึ่งมีสินทรัพย์มากที่สุดอยู่ที่ประมาณ ๕๓ ล้านล้านรูเปียห์ เมื่อเปรียบเทียบกับ ธนาคารกรุงเทพมีสินทรัพย์สามารถคิดเป็นสกุลเงินรูเปียห์ประมาณ ๖๙ ล้านล้านรูเปียห์ ในขณะที่ ธนาคารกสิกรไทยมีสินทรัพย์ประมาณ ๔๓ ล้านรูเปียห์ใกล้เคียงกับธนาคาร BCA ที่มีประมาณ ๓๙ ล้านล้านรูเปียห์ และ BNI มีประมาณ ๓๕ ล้านล้านรูเปียห์ BRI มีประมาณ ๔๗ ล้านรูเปียห์ และธนาคารกรุงไทยมีประมาณ
๓๗ ล้านรูเปียห์ เป็นต้น


๕. ปัจจุบัน ระบบธนาคารอินโดนีเซีย ยังใช้ระบบ single licensing
กล่าวคือ ได้รับใบอนุญาตใบเดียวสามารถดำเนินกิจการธนาคารได้ทั้งหมด ไม่ต้องกลับมาขออนุญาตอีก แต่ธนาคารกลางอยู่ระหว่างการพิจารณาเปลี่ยนไปใช้ระบบ multiple licensing เช่นเดียวกับ สิงคโปร์ มาเลเซีย และไทย ทั้งนี้ หากพิจารณาในภาพรวมจะเห็นว่า ระบบธนาคารอินโดนีเซียยังเปิดเสรีกว่าทั้งไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ เพราะยังใช้ระบบ single licensing มีข้อจำกัดเฉพาะสัดส่วนการถือหุ้น แต่ยังไม่มีข้อจำกัดอื่นในการประกอบธุรกิจ แต่ในมาเลเซีย สิงคโปร์และไทยมีข้อจำกัดในการขอเปิดสาขา และให้บริการ ATM


๖. ธุรกิจธนาคารและสถาบันการเงินในอินโดนีเซียยังมีความท้าทายอยู่มาก
เพราะในปัจจุบัน บริษัทอินโดนีเซีย ร้อยละ ๙๙.๘๑ เป็น SMEs และในจำนวนนี้ ร้อยละ ๖๐-๗๐ หรือคิดเป็นประมาณ ๕๑.๓ ล้านราย ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน (unbankable) นอกจากนี้ ร้อยละ ๒๕ ของประชากรวัยทำงาน หรือประมาณ ๔๐ ล้านคน ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งความท้าทายดังกล่าว รัฐบาลและธนาคารกลางตระหนักเป็นอย่างดี และพยายามแก้ไข ทั้งนี้ ในปี ๒๐๑๒ ที่ผ่านมาธนาคารกลางได้ออกกฎระเบียบหลายประการเพื่อปฏิรูปโครงสร้างสถาบันการเงิน / สร้างความเข้มแข็งและขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ หากธนาคารไทยประสงค์จะเข้ามาลงทุนในธุรกิจสถาบันการเงินในอินโดนีเซียในปี ๒๐๑๓ จะต้องเตรียมรับมือกับกฎระเบียบใหม่ ดังนี้

๖.๑ กฎระเบียบเกี่ยวกับสัดส่วนการถือหุ้น : ธนาคารกลางได้ปรับกฎระเบียบสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ใหม่จากเดิมที่เคยอนุญาตให้ถือได้ถึงร้อยละ ๙๙ ตั้งแต่ปี ๑๙๙๙ เป็น

  • สถาบันการเงินอนุญาตให้ถือได้ไม่เกินร้อยละ ๔๐
  • บริษัทแต่ไม่ใช่สถาบันการเงินอนุญาตให้ถือได้ไม่เกินร้อยละ ๓๐
  • บุคคลธรรมดาอนุญาตให้ถือได้ไม่เกิน ร้อยละ ๒๐ แต่หากเป็นในธนาคารอิสลามให้ถือได้ไม่เกินร้อยละ ๒๕

สาเหตุการปรับแก้ไขกฎระเบียบดังกล่าวเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบธนาคารของอินโดนีเซีย เพราะปัจจุบันในอินโดนีเซียมีธนาคารมากถึง ๑๒๐ ราย แต่มีเงินกองทุนในขนาดที่แตกต่างกัน บางรายประกอบธุรกิจเกินวงเงินทุนที่มีอยู่ และมีเพียงเจ้าของเดียว ซึ่งหากประสบปัญหาก็จะแก้ไขได้ยากเพราะมีฐานะการเงินไม่เข้มแข็งพอ อย่างไรก็ตาม ธนาคารที่มีสัดส่วนการถือหุ้นที่แตกต่างไปจากกฎระเบียบปัจจุบันจะยังคงสามารถรักษาโครงสร้างการถือหุ้นเดิมไว้ได้ หากยังคงผ่านการทดสอบ financial healthy and good corporate governance test ซึ่งจัดทุก ๖ เดือน แต่หากไม่ผ่านการทดสอบติดต่อกัน ๓ รอบติดต่อกันก็จะถูกบังคับให้ปรับสัดส่วนโครงสร้างหุ้นให้เป็นตามกฎดังกล่าว ทั้งนี้ กฎระเบียบดังกล่าวไม่ได้จำกัด การเข้าซื้อกิจการธนาคารในอินโดนีเซียและประสงค์จะถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ ๔๐ ที่กฎหมายกำหนด หากผู้เข้าซื้อกิจการเป็นสถาบันการเงินที่มีสถานะการเงินที่เข้มแข็ง ก็สามารถยื่นขอให้ธนาคารกลางพิจารณาอนุมัติเป็นกรณีๆ ไป แต่ทั้งนี้ การนำกฎระเบียบดังกล่าวมาใช้ทำให้ ธนาคารกลางจะต้องปรับแก้ไขกฎเกณฑ์เดิมเรื่อง single presence ที่กำหนดว่า ผู้ถือหุ้นจะไม่สามารถเป็นเจ้าของกิจการธนาคารเกินกว่า ๑ รายในเวลาเดียวกันได้ โดยหากถือหุ้นธนาคารเกินกว่าร้อยละ ๒๕ ในธนาคารมากกว่า ๑ แห่ง กฎเดิมจะต้องบังคับให้จำหน่ายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นรายอื่นจนอยู่ในสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด หรือ ควบรวมธนาคารดังกล่าวเข้าด้วยกัน อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางจะปรับแก้ไขให้สามารถตั้ง holding company ขึ้นมารองรับได้

๖.๒ การนำระบบ Multi-Licensing มาใช้ :
กรณีนี้ยังคงอยู่ระหว่างการหารือ แต่เป็นที่ค่อนข้างเด่นชัดว่าในอนาคตธนาคารกลางจะนำมาใช้อย่างแน่นอน ในหลักการคือจะเปลี่ยนจากระบบ single licensing ที่มีใบอนุญาตเพียงใบเดียวสามารถประกอบการได้ทั้งหมดเป็นระบบ Multi-Licensing ที่ต้องขออนุญาตธนาคารกลางก่อนดำเนินการ ทั้งนี้ การให้อนุญาตธนาคารกลางจะพิจารณาจากเงินกองทุนเป็นหลัก เพราะเงินทุนหลักชั้นที่ 1 (core capital tier 1) จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญสำหรับการประกอบธุรกิจ ในชั้นนี้ หากจะประกอบธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซีย จะต้องมีเงินกองทุนอย่างน้อย ๑ ล้านล้านรูเปียห์ โดยตามกฎแบ่งเงินกองทุนเป็น ๔ ชั้น (profile) ดังนี้

  • Profile 4
    น้อยกว่า ๑ ล้านล้านรูเปียห์ จะไม่สามารถทำธุรกิจ E-banking และแลกเปลี่ยนเงินตราได้
  • Profile 3
    มากกว่า ๑ ล้านล้านรูเปีย์ แต่น้อยกว่า ๕ ล้านล้านรูเปียห์ สามารถทำธุรกิจ E-banking และแลกเปลี่ยนเงินตราได้
  • Profile 2
    มากกว่า ๕ ล้านล้านรูเปียห์ แต่น้อยกว่า ๓๐ ล้านล้านรูเปียห์ อนุญาตให้ทำธุรกิจธนาคารแบบเต็มรูปแบบได้ (full banking services) แต่จะส่งเสริมให้ไปแข่งในระดับภูมิภาค (regional level) แทน
  • Profile 1
    มากกว่า ๓๐ ล้านล้านรูเปียห์ สามารถทำธุรกิจธนาคารเต็มรูปแบบและทำธุรกิจได้ทั้งในระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ ธนาคารกลางจะแบ่งพื้นที่ทั่วอินโดนีเซียเป็น ๖ เขตตามความหนาแน่นของประชากร และธนาคาร เช่น Zone 1 : Jakarta (DKI) / Zone 2 : Java and Bali / Zone 6 West Papua, West Sulawesi, West Nusa Tenggara, North Maluku etc ทั้งนี้ หากเปิด ๓ สาขาใน Zone 1 แล้วต้องเปิด ๑ สาขาใน Zone 5-6 ด้วย

๖.๓ กฎการส่งเสริม SMEs และภาคการผลิตที่แท้จริง (real sector) :
ธนาคารจะต้องจัดสรรสินเชื่อร้อยละ ๒๐ ให้กับวิสาหกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดย่อม (micro, small and medium enterprise (MSME) โดยจะต้องดำเนินการจัดสรรให้ได้ตามเป้าภายใน ๖ ปี โดยในช่วง ๒ ปีแรก ยังไม่กำหนดวงเงินสัดส่วน แต่ในช่วงปีที่ ๓ จะต้องจัดสรรให้ได้ ร้อยละ ๕ / ช่วงปีที่ ๔ ร้อยละ ๑๐ / ช่วงปีที่ ๕ ร้อยละ ๑๕ และในช่วงปีที่ ๖ จะต้องให้ได้ร้อยละ ๒๐

นอกจากนี้ ธนาคารจะต้องจัดสรรแผนการปล่อยสินเชื่อ (credit portfolio) ไปยังภาคการผลิตที่แท้จริง (real sector) โดยแบ่งสัดส่วนตามวงเงินกองทุน (profile) ดังนี้

  • Profile 4 กองทุนน้อยกว่า ๑ ล้านล้านรูเปียห์ จัดสรร ร้อยละ ๕๕
  • Profile 3 กองทุนมากกว่า ๑ ล้านล้านรูเปียห์ แต่น้อยกว่า ๕ ล้านล้านรูเปียห์ จัดสรร ร้อยละ ๖๐
  • Profile 2 กองทุนมากกว่า ๕ ล้านล้านรูเปียห์ แต่น้อยกว่า ๓๐ ล้านล้านรูเปียห์ จัดสรร ร้อยละ ๖๕
  • Profile 1 กองทุนมากกว่า ๓๐ ล้านล้านรูเปียห์ จัดสรร ร้อยละ ๗๐

๖.๔ กฎการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio : CAR) และ Capital Equivalence maintained assets (CEMA) :
ธนาคารจะต้องดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่อย่างน้อย ร้อยละ ๘ ซึ่งกรณีนี้รวมถึงสาขาของธนาคารต่างประเทศด้วย โดยสาขาของธนาคารต่างประเทศจะต้องนำเงินมาฝากกับธนาคารกลางเพื่อเป็น CEMA ในรูปตราสารหนี้ของอินโดนีเซียเพื่อเป็นประกันสภาพคล่องหากบริษัทแม่เกิดวิกฤติ โดยจะต้องรักษา CEMA ไว้กับธนาคารกลางที่ร้อยละ ๘ ของยอดเงินฝากของลูกค้า หรือภายในปี ๒๐๑๗ จะต้องดำรง CEMA ไว้ที่ธนาคารกลาง อย่างน้อย ๑ ล้านล้านรูเปียห์ (๑๐๓.๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ทั้งนี้ ธนาคารต่างๆ มีระดับการรักษาเงินกองทุนที่แตกต่างกันขึ้นกับความเสี่ยง เพื่อป้องกันหากเกิดปัญหาในบริษัทแม่จะได้ยังคงมีเงินกองทุนป้องกันความเสี่ยงได้

  • Profile 4 น้อยกว่า ๑ ล้านล้านรูเปีย์ ดำรงไว้ที่ ร้อยละ ๑๑-๑๔
  • Profile 3 มากกว่า ๑ ล้านล้านรูเปีย์ น้อยกว่า ๕ ล้านล้านรูเปียห์ ดำรงไว้ที่ ร้อยละ ๑๐-๑๑
  • Profile 2มากกว่า ๕ ล้านล้านรูเปียห์ แต่น้อยกว่า ๓๐ ล้านล้านรูเปียห์ ดำรงไว้ที่ ร้อยละ ๙-๑๐
  • Profile 1 มากกว่า ๓๐ ล้านล้านรูเปียห์ ดำรงไว้ที่ ร้อยละ ๘

๖.๕ กฎหมายบังคับให้สาขาของธนาคารต่างประเทศต้องจัดตั้งเป็นบริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซีย :
สภาผู้แทนราษฎร์ได้เสร็จสิ้นการพิจารณากฎหมายที่จะบังคับให้สาขาของธนาคารต่างประเทศ หากประสงค์จะประกอบธุรกิจในอินโดนีเซียจะต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทตามกฎหมายอินโดนีเซียไม่สามารถกระทำธุรกิจในฐานะสาขาธนาคารต่างชาติได้อีกต่อไป ซึ่งกฎดังกล่าวจะมีผลย้อนหลัง ซึ่งทำให้สาขาธนาคารต่างชาติอย่างร้อย ๑๐ ราย รวมทั้ง ธนาคารกรุงเทพได้รับผลกระทบจะต้องแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด นอกจากนี้ กฎหมายดังกล่าวจะระบุห้ามการเป็นเจ้าของธนาคารในอินโดนีเซียมากกว่า ๑ ธนาคารด้วย ซึ่งในชั้นนี้ กฎดังกล่าว ธนาคารกลางอยู่ระหว่างการทบทวนและอาจจะปรับเปลี่ยนให้กระทำได้แต่ต้องจัดตั้ง holding company ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า กฎหมายอาจทำให้ profile ความเสี่ยงของธนาคารที่เป็นสาขาของธนาคารต่างชาติลดลง และทำให้ต้นทุนการประกอบการสูงขึ้น เพราะเดิมสาขาธนาคารต่างชาติสามารถกู้ยืมดอลลาร์จากธนาคารต่างชาติได้ โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมความเสี่ยง (risk premium) แต่เมื่อกลายเป็นบริษัทแล้ว จะถูกเก็บค่าธรรมเนียมตามชั้นความเสี่ยง (profile) ของตนเอง

๖.๖ การอนุญาตให้ธนาคารทำธุรกิจบริหารจัดการกองทุนเงินตราต่างประเทศ (foreign exchange fund) :
ธนาคารกลางจะอนุญาตให้ธนาคารที่เข้าข่าย profile 1-2 สามารถทำธุรกิจตั้ง trustee ได้ เพื่อให้บริษัทที่มีรายได้เป็นเงินตราต่างประเทศ เช่น บริษัทแก๊สและน้ำมันนำรายได้ที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศเข้ามาฝากในประเทศ โดยธนาคารสามารถรับเป็นผู้บริหารกองทุน (Trust Fund) ดังกล่าว ทั้งนี้ ธนาคารที่จะได้รับอนุญาตจะต้องเข้าเกณฑ์ตามที่ธนาคารกลางกำหนด ซึ่งสาขาของธนาคารต่างชาติ หากมีคุณสมบัติครบตามเกณฑ์ก็สามารถขออนุญาตทำธุรกิจดังกล่าวได้เช่นกัน

๖.๗ การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลสถาบันการเงินองค์กรใหม่ :
ในปี ๒๐๑๓ ธนาคารกลางและ Capital Market and Financial Institutions Supervisory Agency (Bapepam-LK) จะถ่ายเทบทบาทการกำกับดูแลสถาบันการเงิน และตลาดทุนมาให้กับองค์กรใหม่ คือ Financial Services Supervisory Authoirity หรือ OJK โดยองค์กรดังกล่าวจะเริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่ภายในต้นปี ๒๐๑๓ โดยต่อไป สถาบันการเงินจะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีให้กับ OJK ร้อยละ ๐.๐๓ ของสินทรัพย์ทั้งหมด และภายในปี ๒๐๑๖ จะเพิ่มค่าธรรมเนียมเป็น ร้อยละ ๐.๐๖ อย่างไรก็ตามอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการทบทวน เนื่องจากได้รับการคัดค้านจากสถาบันการเงิน


Source:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (21 มกราคม 2556)

Back to the list