แผนลดการให้เงินอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงตั้งแต่ปี 2554 ของรัฐบาลอินโดนีเซีย

1. เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2553 นาย Hatta Rajasa รมต. ประสานงานด้านเศรษฐกิจอินโดนีเซีย (Coordinating Economic Minister) แจ้งว่า รัฐบาลอินโดนีเซียได้รับการสนับสนุน จากรัฐสภาอินโดนีเซียเพื่อดำเนินแผนในการจำกัดโควต้าการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับการอุดหนุนราคาจากรัฐบาลสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลภายในปี 2011 และได้ตกลงโควต้าการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงดังกล่าวไว้ที่ปริมาณ 38.5 ล้านกิโลลิตรในปี 2554

อย่างไรก็ดี ในเช้าวันนี้ (14 ธ.ค. 2553) รัฐบาลและคณะกรรมาธิการ 7 ของรัฐสภาอินโดนีเซียซึ่งกำกับดูแลด้านพลังงานได้ตกลงที่จะเลื่อนกรอบเวลาสำหรับการปฏิบัติตามแผนฯ ออกไปจากเดิมภายในต้นเดือน ม.ค. 2554 เป็นภายในช่วงท้ายของไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 โดยคณะกรรมาธิการ 7 ได้ขอให้รัฐบาล

  1. ทำการศึกษาผลกระทบจากการดำเนินการตามแผนซึ่งครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่สมควรจะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว
  2. นำเสนอวิธีการปฏิบัติตามแผนที่ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนเนื่องจากรัฐบาลต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อรองรับมาตรการ อาทิ การขนส่งและกระจายน้ำมันเชื้อเพลิง การเพิ่มจำนวน หัวจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงในสถานีบริการน้ำมันซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการความพร้อมของผู้ประกอบการสถานีบริการน้ำมันในการให้บริการประชาชนด้วย


2. แผนการจำกัดโควต้าการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ได้รับการอุดหนุนราคาจากรัฐบาลคือน้ำมันประเภทพรีเมียมและน้ำมันดีเซล มีวัตถุประสงค์เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายหลักของรัฐบาลซึ่งเป็นประชาชนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่ามีโอกาสใช้น้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งมีราคาถูกกว่าท้องตลาดให้ได้มากที่สุด เนื่องจากในปัจจุบันพบว่า เจ้าของรถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งเป็นผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าใช้น้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนราคาเป็นปริมาณกว่าร้อยละ 55 ของปริมาณน้ำมันที่ได้รับการอุดหนุนราคาทั้งหมด



3. รมว. พลังงานอินโดนีเซีย คาดว่า รัฐบาลต้องใช้งบประมาณประมาณ 84.5 พันล้านรูเปียห์ในการปฏิบัติให้ได้ตามแผน โดยในเบื้องต้นจะมีการบังคับใช้แผนในเมือง Jakarta Bogor Depok Tangerang Bekasi และต่อมาในเมืองทั้งหมดบนเกาะชวาและบาหลี และในปี 2556 บนเกาะสุมาตราและกาลิมันตัน



4. ข้อสังเกต

  • 4.1 รัฐบาลอินโดนีเซียมีแนวคิดที่ จะลดโควตาการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ได้รับการอุดหนุน มาตั้งแต่ปลายปี 2550 แล้ว แต่ยังไม่มีแผนดำเนินการที่จริงจังจนกระทั่งเมื่อปลายเดือน พ.ย. 2553 ที่ผ่านมาโดยรัฐบาลอินโดนีเซียมีความพยายามที่จะดำเนินการให้ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2554 นี้เป็นต้นไป แต่ก็ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติภายในระยะเวลาที่กระชั้นชิด เช่น ประชาชนขาดความมั่นใจในความสามารถของรัฐบาลในการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับระบบการจำหน่ายน้ำมัน รวมถึงความพร้อมของบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina ซึ่งก็ประกอบธุรกิจสถานีบริการน้ำมันและต้องบริหารจัดการขนส่งน้ำมันประเภทต่างๆ ให้เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิง

  • 4.2 การตัดสินใจลดโควตาการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงที่ได้รับการอุดหนุนและการควบคุมการกระจายน้ำมันประเภทดังกล่าวให้ประชาชนที่มีความจำเป็นทางเศรษฐกิจได้รับประโยชน์จากมาตรการทางราคานั้น สืบเนื่องมาจากความจำเป็นของรัฐบาลในการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในรายการงบประมาณแผ่นดินซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาต้องสูญเสียไปกับยานพาหนะประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของประชาชนจำนวนมากซึ่งมีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า ทั้งนี้ รัฐบาลคาดหวังที่จะนำงบประมาณไปจัดสรรเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา การสาธารณสุข รวมถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก ซึ่งมีความจำเป็นลำดับต้นๆ สำหรับการพัฒนาประเทศ


  • 4.3 ราคาน้ำมัน ณ หัวจ่าย ซึ่งได้รับเงินอุดหนุนกับราคาน้ำมันตามราคาท้องตลาดราคาต่างกันประมาณ 3 พันรูเปียห์หรือประมาณ 10.6 บาท

Source:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา

Back to the list