การขึ้นค่าแรงในอินโดนีเซีย

๑. ต้นปีที่ผ่านมาจังหวัดต่างๆ ทั่วอินโดนีเซียทะยอยประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
ในสัดส่วน ที่แตกต่างกัน ในส่วนของกรุงจาการ์ตาประกาศขึ้นจาก ๑.๕ ล้านรูเปียห์/เดือน เป็น ๒.๒ ล้านรูเปียห์/เดือน (เพิ่มขึ้นร้อยละ ๔๔) ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่บางเมืองก็เพิ่มสูงกว่า เช่น เมืองโบกอร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ ๗๐ การปรับเพิ่มค่าแรงดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการที่โดยเฉพาะ SMEs และอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงาน (labour-intensive industry) เช่น สิ่งทอ รองเท้า ซึ่งกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซีย เพราะจากสถิติปี ๒๐๑๐ พบว่า SMEs ในอินโดนีเซียมีประมาณ ๕๓.๘ ล้านรายและว่าจ้างแรงงานกว่าครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมดในอินโดนีเซีย ในขณะที่แรงงานในอุตสาหกรรมที่เน้นแรงงานมีประมาณ ๓ ล้านคน และอุตสาหกรรมเน้นแรงงาน เช่น รองเท้าสร้างรายได้ให้กับอินโดนีเซียจำนวนมาก ปี ๒๐๑๒
ยอดส่งออกสูงถึง ๓.๕ พันล้าน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ ๖ ถือเป็นการเกินดุลการค้า ๓.๑๓ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

๒. สมาคมนายจ้างแห่งอินโดนีเซีย (Indonesia Employers Association : APINDO)
ประเมินว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ ภายในเดือน เม.ย. จะมีคนตกงานสูงถึง ๙๐๐,๐๐๐ คน เพราะบริษัทต่างๆ ไม่สามารถ
จ่ายค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น และต้องปลดคนงาน ทั้งนี้ APINDO จะยื่นคำร้องต่อศาลปกครองและ/หรือศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยความชอบธรรมของประกาศขึ้นค่าแรงดังกล่าว ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายเห็นว่า หากรัฐบาลไม่แก้ไข ตนจะหันไปเป็นเพียงผู้ค้าสินค้า (trader) นำเข้าสินค้าราคาถูกจาก จีน เวียดนาม ไทย เข้ามาจำหน่ายจะมีกำไรดีกว่าลงทุนด้วยตนเอง อย่างไรก็ตาม ในชั้นนี้ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการแก้ไข เพียงอนุญาตให้เอกชนสามารถขอผ่อนผันการขึ้นค่าแรงได้ แต่กฎกระทรวงแรงงานที่ ๒๓๑/๒๐๐๓ ซึ่งเป็นกฎหมายหลักก็มีข้อจำกัดเพราะกำหนดว่า บริษัทต้องประสบปัญหาการเงินติดต่อกัน ๒ ปีจึงจะได้สิทธิขอผ่อนผัน และจากสถิติพบกว่า ในบรรดาเอกชนที่ยื่นขอผ่อนผันกว่า ๔๐๐ ราย ในเขตบันเต็น จาการ์ตา และชวาตะวันตก มีเพียงไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ได้รับอนุมัติให้ผ่อนผัน ทั้งนี้ APINDO เปิดเผยว่า เกาหลีและอินเดียเริ่มตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่นแล้วเพราะการขึ้นค่าแรงทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ร้อยละ ๔-๙

๓. การขึ้นค่าแรงดังกล่าวกระทบเอกชนไทยหลายราย และต้องปรับโครงสร้าง อัตราค่าแรงใหม่
ตามที่สหภาพเรียกร้อง แต่บางรายแจ้งว่าไม่ได้รับผลกระทบ เพราะ แรงงานที่ว่าจ้างส่วนใหญ่ได้ค่าจ้างมากกว่า ๒.๒ ล้านรูเปียห์/เดือนอยู่แล้ว เพราะเป็นแรงงานมีฝีมือ เช่น วิศวกร ฯลฯ หรือ บางรายมีโรงงาน และฐานการผลิตอยู่นอกเขตจาการ์ตาและปริมณฑล ซึ่งอัตราค่าจ้างปรับขึ้นสูง ทั้งนี้ บริเวณย่านนิคมอุตสาหกรรมโดยรอบเช่น ตรังเกอรัง หรือ คาราวัง ซึ่งเป็นสถานที่ที่เอกชนไทยหลายรายตั้งโรงงานก็อยู่ในเขตที่อัตราค่าแรงปรับเพิ่มขึ้นเช่นกัน

๔. การปรับค่าแรงดังกล่าวมีลักษณะเป็นนโยบายประชานิยม เพื่อสร้างความนิยม
ทั้งในแง่การเมืองท้องถิ่น และการเมืองระดับชาติ เพราะหากมองในภาพรวมแล้ว การปรับขึ้นค่าแรงให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจไม่ใช่สิ่งผิด แต่ต้องคำนึงถึงปัจจัยรอบด้านด้วย เช่น หากให้เอกชนขึ้นค่าแรงจะต้องประกันให้ยอดขาย และกำลังการผลิต (productivity) เพิ่มขึ้นด้วย แต่รัฐบาลกลับไม่สามารถประกันสิ่งดังกล่าวได้ เพราะรัฐมีข้อจำกัดเรื่องสาธารณูปโภคที่ทำให้เอกชนไม่สามารถขยายกำลังการผลิตได้อย่างเต็มที่ และแรงงานอินโดนีเซียส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานไร้ฝีมือ (unskilled labour) ที่ต้องการการพัฒนาฝีมือจึงจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ นอกจากนี้ การปรับขึ้นค่าแรงอาจส่งผลให้บริษัทต้องปลดคนงานจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของคนอินโดนีเซียลดลง โอกาสที่บริษัทจะเพิ่มยอดขาย หรือกำไร จึงยิ่งเป็นไปได้ยาก แต่กลับจะทำให้คนอินโดนีเซียหันไปเป็น trader นำสินค้าราคาถูกเข้ามาจำหน่ายมากกว่าเป็นผู้ประกอบการผลิต ซึ่งจะทำให้อินโดนีเซียขาดดุลการค้ามากขึ้น

๕. หากคำนวณจากค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงจาการ์ตาที่ปรับเพิ่มเป็น ๒.๒ ล้านรูเปียห์/เดือน
จะพบว่า ขณะนี้ อัตราค่าจ้างของอินโดนีเซียและไทยใกล้เคียงกันมาก แม้ไทยจะปรับเป็นค่าแรงวันละ ๓๐๐ บาทแล้วก็ตาม ดังนั้น อินโดนีเซียจึงไม่อาจนับว่าเป็นแหล่งแรงงานราคาถูกได้อีกต่อไป โดยอาจพิจารณาจากตาราง ดังนี้


กรุงจาการ์ตา กรุงเทพฯ
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ๒.๒ ล้านรูเปียห์/เดือน คิดเป็นเงินไทยประมาณ ๖,๗๓๐ บาท

- ทำงาน ๕ วัน/สัปดาห์ วันละ ๘ ชั่วโมง สัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมง
หรือ
ทำงาน ๖ วัน/สัปดาห์ วันละ ๗ ชั่วโมง สัปดาห์ละ ๔๐ ชั่วโมง
เวลาทำงาน อาจเป็น ๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. แล้วแต่ตกลงกัน

๓๐๐ บาท/วัน

- หากทำงาน ๒๒ วัน /เดือน
คิดเป็นเงิน ๖,๖๐๐ บาท/เดือน
เวลาทำงาน ๘.๐๐-๑๗.๐๐น. (๘ ชม./วัน)
หาก ทำงาน ๒๖ วัน/เดือน
คิดเป็นเงิน ๗,๘๐๐ บาท

ค่าล่วงเวลาในวันทำงาน - ๑.๕ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงสำหรับชั่วโมงแรก และ
- ๒ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมงสำหรับชั่วโมงต่อไป
- ๑.๕ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
ค่าล่วงเวลาในวันหยุด - ๗ ชั่วโมงแรกจ่าย ๒ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
- ชั่วโมงที่ ๘ จ่าย ๓ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
- ชั่วโมงที่ ๙-๑๐ จ่าย ๔ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
- หากมีมีสิทธิได้ค่าจ้างอยู่แล้ว จ่าย ๑ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
- หากไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างจ่าย ๒ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
- หากเกินชั่วโมงทำงาน ในวันทำงานปรกติจ่าย ๓ เท่าของค่าจ้างต่อชั่วโมง
เงื่อนไขอื่นๆ ห้ามทำงานล่วงเวลาเกินกว่า ๓ ชั่วโมงต่อวัน  

จากตารางดังกล่าว โรงงานในไทยที่ให้ลูกจ้างทำงาน ๕ วัน/สัปดาห์ (หยุดเสาร์-อาทิตย์ จะมีต้นทุนแรงงานต่ำกว่าในอินโดนีเซีย เพราะค่าแรงต่อเดือนโดยเฉลี่ยใกล้เคียงกัน คือ ของอินโดนีเซียประมาณ ๖,๗๓๐ บาท ของไทย ๖,๖๐๐ บาท
แต่ค่าล่วงเวลาในวันทำงานกับค่าล่วงเวลาในวันหยุดของไทยต่ำกว่าของอินโดนีเซียมาก
กล่าวคือ ของไทย ๑.๕ เท่าของอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมง แต่อินโดนีเซีย ชั่วโมงแรกจ่าย ๑.๕ เท่า ชั่วโมงถัดไปจ่าย ๒ เท่า และทำได้มากสุดต่อวันเพียง ๓ ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้กำลังการผลิตต้องหยุดเมื่อครบ ๓ ชั่วโมง สำหรับค่าล่วงเวลาในวันหยุดของอินโดนีเซียยิ่งแพงกว่าไทยมาก โดยเฉพาะหากโรงงานในไทยจ่ายลูกจ้างเป็นค่าจ้างรายเดือน จะเสียค่าล่วงเวลาในวันหยุดเพียง ๑ เท่า แต่หากจ้างเป็นรายวันจึงจะเสีย ๒ เท่า (เท่ากับ อัตราที่อินโดนีเซียให้จ่ายใน ๗ ชั่วโมงแรกของวันหยุด) และหากเกินชั่วโมงทำงานในวันทำงานปรกติ (ไทย) จึงจ่าย ๓ เท่า แต่ของอินโดนีเซีย ชั่วโมงที่ ๘ จ่าย ๓ เท่า และชั่วโมงที่ ๙-๑๐ จ่าย ๔ เท่า


Source:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (มีนาคม 2556)

Back to the list