อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในประเทศอินโดนีเซีย

1. ความสำคัญของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกับเศรษฐกิจมหภาค

1.1 อินโดนีเซียเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010

เติบโตเฉลี่ยเกินกว่าร้อยละ 6 ยกเว้นปี 2013 ที่การเติบโตชะลอตัวลงเล็กน้อยอยู่ที่ ร้อยละ 5.78 ซึ่งการเติบโตดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการบริโภคภายในเพิ่มขึ้นอย่างมาก สอดคล้องกับการขยายตัวของชนชั้นกลาง โดยบริษัทที่ปรึกษา McKinsey ได้ศึกษาและประเมินว่า ในปี ค.ศ. 2012 อินโดนีเซียมีชนชั้นกลางประมาณ 45 ล้านคน แต่จะเพิ่มเป็น 135 ล้านคนภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งหมายถึงการเพิ่มกำลังการบริโภคอย่างมหาศาล การขยายตัวของเศรษฐกิจดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มสูงตามไปด้วย

1.2 รัฐบาลตระหนักถึงความต้องการดังกล่าวจึงมุ่งหวังให้เกิดการลงทุนขนาดใหญ่

ตามแหล่งน้ำมันก๊าซธรรมชาติที่มีอุดมสมบูรณ์ในประเทศจึงมีแผนการส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และในปี ค.ศ. 2012 ได้จัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีแห่งชาติขึ้นที่จังหวัดบันเต็น และจะขยายออกไปยังจังหวัดอื่นๆ เช่น ชวาตะวันออก กาลิมันตันตะวันออก เป็นต้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอีกหลากอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมยาง อุตสาหกรรมรถยนต์ เพราะต้องใช้ส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่าง ๆ

1.3 รายงานศึกษาต่างๆ คาดการณ์ว่า

ภายในปี ค.ศ. 2018 ตลาดของอุตสาหกรรม ปิโตรเคมีในอินโดนีเซียจะสูงถึง 30 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของ GDP ในขณะที่ ความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าร้อยละ 5 ต่อปีติดต่อกันมาตั้งแต่ ค.ศ. 2009 [1]แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอินโดนีเซียประสบปัญหาวัตถุดิบปิโตรเคมี (Feedstocks) [2]ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำ (Upstream Petrochemical Industry) [3] ไม่ได้รับการพัฒนาและลงทุน จึงเกิดการขาดแคลนวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำ (Downstream Petrochemical Industry) [4]และต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศเป็นหลัก [5] ซึ่งทำให้เกิดปัญหาต้นทุนเพราะผลิตภัณฑ์นำเข้ามีความผันผวนทางราคาสูง ปัจจุบันรัฐบาลจึงต้องเข้ามาส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อเปลี่ยนสถานะจากประเทศผู้นำเข้าวัตถุดิบทางการผลิต [6] มาสู่การเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบชั้นดีในภูมิภาคเอเซีย ซึ่งเป็นการวางแผนที่จะช่วยส่งเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจใน ทุกระดับไม่ว่าจะเป็นระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และช่วยลดปัญหาการนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังมีความผันผวน และควบคุมราคาสินค้าอุปโภคไม่ให้กระทบต่อสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนส่วนใหญ่

2. บทบาทนักลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

2.1 ปัจจุบันอินโดนีเซียประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ

ทำให้การเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าประเภทปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำยากขึ้น โดยเฉพาะการขาดแคลนแนฟตา และ ก๊าซธรรมชาติเหลว [7]ปัจจุบันอินโดนีเซียนำเข้าแนฟตาถึง 1.7 ล้านตันต่อปี และนำเข้าเอทิลีน 1.2 ล้านตันต่อปี โพพิลีน 9 หมื่นตันต่อปี และพาราไซลีนอีกกว่า 2.5 แสนตันต่อปี ยังไม่นับปัญหาการขนส่งวัตถุดิบจากแหล่งผลิตไปยังที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมี รัฐบาลจึงต้องพยายามสร้างแรงจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติ และในประเทศเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมขั้นต้นมากขึ้น โดยรัฐบาลพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้น 2 แห่ง คือ ที่ มุอะรา จังหวัด สุมาตราใต้ และ บินตันนิ จังหวัดปาปัวตะวันออก โดยส่วนหนึ่งของนิคมอุตสาหกรรมจะสามารถสกัดวัตถุดิบขั้นต้นไปยัง นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นต้นอีก 3 แห่งในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก จังหวัดบันเต็ง และจังหวัดชวาตะวันออก

2.2 เอกชน อาทิ บริษัท Ferrostaal มีแผนจะลงทุนกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

เพื่อสร้างอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำที่จังหวัดปาปัวตะวันออก โดยจะสร้างโรงงานเพื่อผลิตเมทานอล โพพิลีน และโพลีโพพิลีนจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าวัตถุดิบได้กว่า 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ในขณะที่ บริษัท Chandra Asri [8]ลงทุนเพิ่มกับบริษัท Partamina ในการสร้างโรงงานโพลีโพพิลีน ในจังหวัดชวาตะวันตก โดยคาดว่าจะสามารถผลิตโพลีโพพิลีนได้มากกว่า 250,000 ตันต่อปี การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 2015 นอกจากนั้น ยังลงทุนในการสร้างโรงงานผลิตบูตาอิดีนแห่งแรกของประเทศ ในเขต ซีเลงกอง จังหวัดบันเต็ง ซึ่งมีมูลค่าในการลงทุนกว่า 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อส่งเสริมความต้องการการใช้วัตถุดิบในการผลิตพลาสติก [9] ในประเทศได้อย่างทั่วถึง เช่นเดียวกับ บริษัท South Korean Honam Petrochemical Corp. จะลงทุนสร้างนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จำนวนกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถผลิตเอททิลีนได้มากกว่า 1 ล้านตันต่อปี โพพิลีน 5.5 แสนตันต่อปี โพลีเอทานอล 6แสนตันต่อปี โมโนเอทานอล 7 แสนตันต่อปี โพลีโพพิลีน 6 แสนตันต่อปี และบูตาอิดีน 1.4 แสนตันต่อปี ซึ่งเป็นการลงทุนที่ครบวงจร โดยการผลิตจะเน้นการสนับสนุนความต้องการวัตถุดิบภายในประเทศร้อยละ 80 ของกำลังการผลิตและส่งออกร้อยละ 20

2.3 ในส่วนของไทย กลุ่มบริษัท ปตท.

ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับบริษัท Pertamina เมื่อเดือนธันวาคม ค.ศ. 2013 เพื่อลงทุนร่วมกันกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งในการลงทุนดังกล่าวนอกจากก่อสร้างโรงงานแล้ว ยังรวมถึงการวิจัยและพัฒนาสินค้า การตลาดเพื่อสร้างส่วนแบ่งในเอเชียอย่างยั่งยืน การเข้ามาร่วมทุนของกลุ่มปตท. จะช่วยทำให้ Pertamina สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านปิโตรเคมีของอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2025 ในชั้นนี้ คาดว่า โรงงานที่กลุ่ม ปตท. จะเข้ามาดำเนินการน่าจะอยู่ใกล้แหล่งน้ำมันในเมืองบาลองกันจังหวัดชวาตะวันตก มีกำลังการผลิตเอทิลีน 2.5 แสนตันต่อปี โพลีโพพิลีน 3.5 แสนตันต่อปี โพลีเอทิลีน และ โพลีไวนิลคลอไรด์ รวมกัน 4 แสนตันต่อปี และคาดว่าจะมีส่วนแบ่งการตลาดถึงร้อยละ 30 เมื่อสร้างโรงงานเสร็จในปี ค.ศ. 2017 อย่างไรก็ตาม บริษัท Pertamina ยังต้องสร้างความร่วมมือกับบริษัท Chandra Asti ในการสร้างโรงงานผลิตโพลีโพรพิลีน ร่วมกันอีกทางหนึ่งด้วย

ในชั้นนี้ รูปแบบการเข้าสู่ตลาดปิโตรเคมีของอินโดนีเซียของบริษัทต่างชาติ แบ่งเป็น 3 รูปแบบ คือ (1) ร่วมทุนกับบริษัทขนาดใหญ่ของอินโดนีเซีย ได้แก่ Chandra Asri และ Pertamina (2) ดำเนินการเองโดยมักเป็นบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Honam จากเกาหลี หรือ Mishubishi จากญี่ปุ่น (3) ลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีปลายน้ำในส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น ผลิตผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับวัสดุเคมี เช่น Lion หรือ Uniliver ที่ร่วมลงทุนในบริษัทลูกของบริษัทอินโดนีเซีย

3. นโยบายและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

3.1 แม้จะเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญแต่จนถึงปัจจุบันรัฐบาลยังไม่มีนโยบายและบทบาทที่ชัดเจน

ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ปรากฏเด่นชัดที่สุด ได้แก่ การใช้มาตรการภาษีในการสร้างแรงจูงใจ เช่น ให้งดเว้นการจัดเก็บภาษี (Tax Holiday) และ การลดหย่อนภาษี (Tax Allowance) แต่ก็ยังมีเงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ในยื่นขอการยกเว้นการจัดเก็บภาษี เช่น การลงทุนขั้นต่ำจะต้องมีวงเงินไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านรูเปียห์อินโดนีเซีย หรือประมาณ 1.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจะต้องฝากเงินลงทุนอย่างน้อยร้อยละ 10 ในธนาคารของอินโดนีเซีย การยื่นคำขอลดหย่อนภาษีจะต้องทำภายในสิ้นปี ค.ศ. 2014 โดยบริษัทที่ได้รับการลดหย่อนจะ ได้รับสิทธิในการยกเว้นภาษีเป็นเวลา 10 ปี หลังจากที่เริ่มเดินเครื่องจักรในโรงงาน ในกรณีที่โรงงานมีความต้องการจะพัฒนาสาธารณูปโภคเพิ่มเติมในบริเวณใกล้เคียงกับโรงงานหรือนิคม จะได้รับการยกเว้นภาษีสูงสุด 12 ปี อย่างไรก็ตาม 2 ปีสุดท้ายจะได้รับการลดหย่อนภาษีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น นอกจากนั้น การได้รับสิทธิในการลดหย่อนจะต้องได้รับการประเมินทุกๆ 6 เดือน เงื่อนไขในการประเมินจะรวมไปถึงการสร้างงานในท้องถิ่น และการถ่ายทอดเทคโนโลยี เป็นต้น [10] อย่างไรก็ตาม มาตรการจูงใจดังกล่าวยังสร้างความลังเลให้กับ หลายบริษัทที่จะขอเข้ารับเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี เนื่องจากจะต้องส่งมอบเอกสารการตรวจสอบบัญชีของบริษัทอย่างละเอียดเป็นระยะๆ ตลอดระยะเวลาที่ได้รับยกเว้นภาษี และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีอาจะถูกยกเลิกได้ทันทีเมื่อไม่สามารถรักษาเงื่อนไขที่รัฐกำหนดแม้เพียงข้อเดียว ทั้งยังต้องติดต่อกับหน่วยงานรัฐอีกหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบร่วมกัน [11] ทำให้เกิดความล่าช้าในกระบวนการดำเนินการ เป็นต้น

4. ข้อคิดเห็น

4.1 ตลาดปิโตรเคมีอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่มากแต่ยังเป็นตลาดที่ยังขาดกฎเกณฑ์ที่เป็นระบบ

และขาดความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรม เพราะแม้ภาครัฐตระหนักถึงความสำคัญแต่ไม่ได้มีนโยบาย หรือมาตรการรองรับหรือสนับสนุนแต่ประการใด มาตรการสำคัญที่ใช้ คือ มาตรการทางภาษี จึงทำให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้เป็นภาพเดียวกัน กล่าวคือ ผู้ผลิต ต้นน้ำไม่ได้ผลิตสินค้าที่อุตสาหกรรมปลายน้ำจะนำไปใช้ประโยชน์ต่อ หรือ ผลิตแต่ไม่เพียงพอ หรือเมื่อผลิตแล้ว หากเหลือจากการบริโภคจะสามารถส่งออกโดยปลอดภาระภาษีได้หรือไม่ เป็นต้น

ในอุตสาหกรรมดังกล่าวผู้เล่นสำคัญ คือ Chandra Asri และ Pertamina ซึ่งเป็นบริษัท ขนาดใหญ่และมีอิทธิพล และทั้ง 2 บริษัทร่วมทุนกับบริษัทไทย เพราะเห็นว่า ไทยเป็นผู้นำในอุตสาหกรรรม ปิโตรเคมีในภูมิภาค ดังนั้น ไทยจึงน่าอาศัยโอกาสนี้ชิงเป็นความได้เปรียบเป็นผู้วางกรอบแนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในอินโดนีเซียให้สอดคล้องกับแนวทางประกอบธุรกิจของไทย ซึ่งก็จะทำให้บริษัทไทยได้ประโยชน์ในตลาดอย่างมาก เพราะกฎระเบียบต่างๆ จะเป็นไปในทิศทางเดียวกับที่ไทยคุ้นเคยและเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนก่อน สภาผู้แทนราษฎรได้ออกกฎหมายการค้าฉบับใหม่และจำกัดเพดานการส่งออกจำนวนผลิตภัณฑ์ที่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพราะรัฐบาลต้องการสงวนวัตถุดิบเอาไว้ใช้ให้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ ดังนั้น หากบริษัทไทยต้องการลงทุนและหวังทั้งตลาดภายในและส่งออกก็อาจประสบปัญหา แต่หากเอกชนไทยเป็นผู้เริ่มวางกฎเกณฑ์ก่อนผ่านหุ้นส่วนที่มีบทบาทสำคัญในภาครัฐอินโดนีเซีย เช่น Pertamina และ Chandra Asri ก็จะช่วยให้กฎหมายที่ออกมีความเป็น องค์รวมและเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันตลอดไม่เกิดปัญหาดังกล่าวอีกในอนาคต เป็นต้น

4.2 โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคเป็นอุปสรรคสำคัญโดยเฉพาะการขนส่งสินค้าระหว่างอุตสาหกรรม

จึงทำให้ต้นทุนอุตสาหกรรมยังสูง นอกจากนี้ แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติบางแห่งมีอายุมาก ซึ่งต้องปรับปรุงและต้องใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้นในการขุดเจาะก็มีส่วนทำให้ต้นทุนสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ภาษีนำเข้าสินค้าปิโตรเคมีในอินโดนีเซียปัจจุบันลดต่ำลงอย่างมาก (ระหว่างร้อยละ 0-5) เนื่องจากผลของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน ดังนั้น หากต้นทุนขนส่งและค่าเทคโนโลยีสูงอาจทำให้กระบวนการผลิตภายในประเทศผลิตแล้วราคาสูงกว่า นำเข้าก็เป็นได้ หากเป็นเช่นนั้น ผู้ประกอบการอาจมองว่า นำเข้ามาใช้ จะประหยัดต้นทุนกว่า ก็จะทำให้ความพยายามพัฒนาอุตสาหกรรรมปิโตรเคมียากประสบผล ซึ่งหากต้องการให้ประสบผลสำเร็จนอกจากมีนโยบายชัดเจนแล้ว ยังต้องแก้ไขปัญหาที่ทำให้ต้นทุนสูงด้วย ซึ่งหากอินโดนีเซียประสบผลสำเร็จในการแก้ไขปัญหาต้นทุนแล้ว อาจทำให้ยอดนำเข้าน้อยลง ไทยก็อาจได้รับผลกระทบจาก ที่เคยส่งออกผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีมายังอินโดนีเซียได้มากเพราะภาษีต่ำก็อาจต้องปรับกลยุทธ์เป็นย้ายเข้ามาลงทุนป้อนตลาดในอินโดนีเซียโดยตั้งโรงงานแทน ซึ่งเป็นทิศทางที่กลุ่ม ปตท. และเครือซิเมนต์ไทยกำลังดำเนินการอยู่แล้ว




  • [1] อินโดนีเซียมีความต้องการผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีใน เพิ่มจากเดิม ๗.๓๕๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ เป็น ๑๑.๕๕๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ และจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น ๑๔.๖๐๐ ตัน ในปี พ.ศ. ๒๕๖๐

  • [2] แนฟตา เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการผลิตสารตั้งต้นปิโตรเคมี คือ พวก โอลิฟินส์ ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของ เอทิลีน และ โพพิลีน

  • [3] เป็นผลิตภัณฑ์พวก เอทิลีน และ โพพิลีน, ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการทำสินค้าครัวเรือน บูตาอิดีน สำหรับอุตสาหกรรมยาง และ condensate (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ที่ใช้ในกระบวนการผลิตสิ่งทอสังเคราะห์

  • [4] กลุ่มที่เกิดจากการสังเคราะห์ขั้นต้น และขั้นกลาง มาเป็นกลุ่มพลาสติก กลุ่มเส้นใยสังเคราะห์ กลุ่มยางสังเคราะห์ และสารเคลือบผิวและกาว

  • [5] ความต้องการพลาสติกสูงมาก อินโดนิเซ๊ยนำเข้าวัตถุดิบผลิตพลาสติกกว่า ๔๐% ของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม

  • [6] อินโดนีเซียนำเข้าวัตถุดิบตั้นต้นกว่าปีละ ๖.๕ พันล้านเหรียญสหรัฐ และเพิ่มขึ้น ประมาณ ๑๐% ทุกปี

  • [7] สารจำพวกไฮโดรคาร์บอนเหลว จำพวก เฮกเซน เพนเทน เฮปเทน ที่จะเป็นสารตั้งต้นเพื่อป้อนให้กับโรงงานกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มอ็อกเทน

  • [8] สารจำพวกไฮโดรคาร์บอนเหลว จำพวก เฮกเซน เพนเทน เฮปเทน ที่จะเป็นสารตั้งต้นเพื่อป้อนให้กับโรงงานกลั่นน้ำมันเพื่อเพิ่มอ็อกเทน

  • [9] การอุปโภคพลาสติกในอินโดนีเซียมากกว่า ๒.๘ ล้านตัน กว่า ๗๐% เป็นการใช้สารโพลีโพพิลีนและโพลีเอทิลีน อีก ๓๐% เป็นการใช้สารโพลีไวนิลคอไรด์และโพลเอทิลีน

  • [10] ปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย ได้ประกาศรายชื่อของอุตสาหกรรมที่ได้รับการลดหย่อนภาษีมาเช่น โรงงานถลุงเหล็กใน ซีเลกอน จังหวักบันเต็ง อุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันใน บาลองกัน จังหวัดชวาตะวันตก และโรงงานอุตสาหกรรมหนัก ที่ลงทุนโดนบริษัทจากสหรัฐอเมริกา

  • [11] หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ Industry minister and Investment Coordinating Board chief (BKMP), Industry Minister, Ministry of Finance, Taxation directorate general ซึ่งอยู่ในกระบวนการตั้งแต่เริ่มตรวจสอบการขอยกเว้นภาษี และการรักษาสิทธิในการละเว้นภาษี

  • โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในภาคผนวกที่แนบมาพร้อมนี้
    - ตารางแสดงรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ในแต่ละสายการผลิต และปริมาณความต้องการภายในประเทศของอินโดนิเซีย

Back to the list