นโยบายประมงที่สำคัญในสมัยประธานาธิบดี Jokowi และผลกระทบต่อเรือประมงไทย


<p class="b-text" style="text-indent: 40px;"> 1. นับแต่ประธานาธิบดี Jokowi เข้ารับตำแหน่ง และได้ประกาศการส่งเสริมการพัฒนาประเทศภายใต้วิสัยทัศน์ Maritime Axis  </p>

<p style="text-indent: 40px;"> โดยเน้นการปกป้องและรักษาทรัพยากรทางทะเลของประเทศ ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดังกล่าวอย่างยั่งยืนและเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของชาวอินโดนีเซียนั้น กระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงฯ หลายฉบับในช่วงปลายปี 2557 อาทิ <br>
(1) กฎกระทรวงประมงฯ ที่ 56/2014 ว่าด้วยการระงับการออกและการต่ออายุใบอนุญาตทำการประมงในเขตจัดการประมงอินโดนีเซีย (moratorium) เป็นระยะเวลา 6 เดือน หรือจนถึงปลายเดือน เม.ย. 2558 และ <br>
(2) กฎกระทรวงประมงฯ ที่ 57/2014 ว่าด้วยการห้ามขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล (transshipment)    </p>











<p class="b-text" style="text-indent: 40px;"> 2. ในปี 2558 กระทรวงประมงฯ อินโดนีเซียได้ออกกฎกระทรวงประมงฯ ที่ 2/2015  </p>

<p style="text-indent: 40px;"> ว่าด้วยการห้ามใช้อุปกรณ์จับปลาประเภทอวนลากและอวนล้อมในเขตการบริหารการประมงอินโดนีเซีย โดยกฎกระทรวงดังกล่าวแก้ไขกฎกระทรวงประมงฯ ที่ 42/2014 ว่าด้วยอุปกรณ์การจับปลาในเขตการบริหารการประมง ซึ่งเป็นบทแก้ไขครั้งที่ 4 ของกฎกระทรวงประมงฯ ที่ 2/2011 แต่ยังคงอนุญาตให้ผู้ที่ถือใบอนุญาตทำประมงด้วยอุปกรณ์ดังกล่าวสามารถทำการประมงต่อไปได้จนกว่าใบอนุญาตจะหมดอายุ กฎกระทรวงฯ ฉบับนี้ใช้บังคับกับทั้งเรือประมงท้องถิ่นและเรือประมงต่างชาติ โดยตามระเบียบเดิมรัฐบาลอินโดนีเซียห้ามการใช้อวนลากและอวนล้อมบางประเภทในหลายพื้นที่ทำประมงอยู่ก่อนแล้ว แต่ฉบับใหม่นี้ห้ามทุกพื้นที่ และห้ามอวนลากและอวนล้อมเกือบทุกประเภท </p>





<p class="b-text" style="text-indent: 40px;"> 3. จากข้อมูลในพื้นที่ปรากฏว่า  กฎกระทรวงฯ ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเรือประมงไทยอย่างมาก  </p>

<p style="text-indent: 40px;"> และในขณะเดียวกันเรือประมงอินโดนีเซียก็ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ที่ผ่านมา นักธุรกิจและชาวประมงท้องถิ่นได้รวมตัวเพื่อประท้วงเรื่องดังกล่าว นอกจากนี้ ในสภาผู้แทนราษฎรของอินโดนีเซียได้เปิดอภิปรายเรื่องดังกล่าวในคณะกรรมาธิการ 4 ว่าด้วยการเกษตรและประมง โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงฯ มาชี้แจง ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประมงฯ ได้ชี้แจงกับคณะกรรมาธิการและรับปากว่า จะพยายามหาทางไม่ให้กระทบกับประมงท้องถิ่น เช่น อาจพิจารณาออก guidelines เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น แต่ในชั้นนี้ ยังไม่มีการประกาศชะลอการบังคับใช้กฎกระทรวงดังกล่าวแต่อย่างใด</p>





<p class="b-text" style="text-indent: 40px;"> 4. ในภาพรวม นับตั้งแต่ปลายปี 2557 ซึ่งมีการประกาศกฎกระทรวงกิจการทางทะเลและประมงอินโดนีเซีย ฉบับที่ 56-58/2014   </p>

<p style="text-indent: 40px;"> ชะลอการต่อใบอนุญาตทำประมง / ห้ามการขนถ่ายปลากลางทะเล / และให้เจ้าหน้าที่กระทรวงประมงปฏิบัติหน้าที่อย่างระมัดระวังอย่าให้เข้าข่ายทุจริต เป็นต้นมานั้น ปรากฏว่า เรือประมงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก ไม่สามารถออกหาปลาได้ เพราะเมื่อเข้าฝั่งมาถ่ายปลาก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้กลับออกไปหาอีก เพราะเจ้าหน้าที่ระมัดระวังตัวเกรงว่าจะกระทำผิดระเบียบ และแม้ว่า กฎกระทรวงจะระบุว่า ใบอนุญาตที่ยังไม่หมดอายุยังสามารถประกอบธุรกิจประมงไปได้จนกว่าจะหมดอายุ แต่ในความเป็นจริง เรือประมงต่างๆ ก็ไม่สามารถออกจับปลาได้ เพราะเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่กล้าออกใบอนุญาตให้ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวก็สอดคล้องกับข้อมูลจากเจ้าของเรือประมงไทยในบริเวณเมืองอำบนว่า เรือไม่สามารถออกจากฝั่งได้ ต้องจอดรอ และไม่สามารถนำลูกเรือกลับทางเรือประมงได้

</p>












<div class="data-contact">
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา
<br>
17 กุมภาพันธ์ 2558

</div>

Back to the list