อินโดนีเซียทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2559

อินโดนีเซียทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2559

        เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 นาย Pramono Anung เลขา ครม. อินโดนีเซีย ได้แถลงข่าวการทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย หรือ Negative Investments List (DNI) ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ของรัฐบาล โดยมีการเปิด/ขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในสาขาสำคัญ อาทิ ห้องเย็น ยาง ทางด่วน ภาพยนตร์ e-commerce ร้านอาหาร ในขณะที่จำกัดการลงทุนของต่างชาติใน 20 สาขา และปกป้องธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs ท้องถิ่น

        1. สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น

สาขา อัตราเดิม (%) อัตราใหม่ (%)
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติร้อยละ 100
1. ห้องเย็น [1] 33 100
2. ศูนย์กีฬา 49 100
3. การผลิตภาพยนตร์ (film production houses) 49 100
4. ยางผง (crumb rubber) 49 100
5. ร้านอาหาร / บาร์ / ร้านกาแฟ 51 100
6. วัตถุดิบการผลิตยา 85 100
7. ทางด่วน 95 100
8. Telecommunication Testing and Labs 95 100
9. การบริหารจัดการขยะที่ไม่เป็นพิษ 95 100
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
10. การกระจายสินค้า [2] 33 67
11. การจัดการอบรมทางธุรกิจ 49 67
12. ตัวแทนท่องเที่ยว 49 67
13. สนามกอล์ฟ 49 67
14. Transport Supporting Services 49 67
15. พิพิธภัณฑ์ 51 67
16. catering 51 67
17. ธุรกิจการจัดประชุมงานแสดงสินค้า และ Travel Incentives 51 67
18. การให้คำปรึกษาการก่อสร้างในโครงการมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านรูเปียห์ 55 67
19. Telecommunication Services 65 67
สาขาใหม่ที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติจากเดิมไม่อนุญาต
20. การติดตั้งไฟฟ้าความแรงสูง 0 49
21. การขนส่งทางบก 0 49
22. Healthcare support services 0 67
23. ภาพยนตร์ และการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ 0 100
24. E-commerce ที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1 แสนล้าน รูเปียห์ 0 100

[1] ปรับกลับมาเป็นอัตราเดิมทั่วประเทศอีกครั้ง จากเดิมในการทบทวน DNI เมื่อปี 2557 ได้มีการจำกัดการลงทุนของต่างชาติ
จากเดิมร้อยละ 100 ปรับลดเหลือร้อยละ 33 ในเกาะสุมาตรา ชวา บาหลี และร้อยละ 77 ในเกาะกาลิมันตัน สุลาเวสี นูซาเตงการาตะวันออก มาลุกุ และปาปัว

[2] ในการทบทวน DNI เมื่อปี 2557 ได้ปรับจากอัตราร้อยละ 100 เหลือร้อยละ 33

        ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ทบทวน DNI ประมาณทุก 2 ปี การทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติครั้งนี้ มีการเพิ่มสาขาและขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากกว่าการทบทวนเมื่อปี 2557 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ

ซึ่งประธานาธิบดี Jokowi ได้เรียกการทบทวน DNI ครั้งนี้ว่าเป็นมาตรการ “Big Bang” เนื่องจากมุ่งหวังให้มาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของ อซ. นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ประกาศมาตรการดังกล่าวเป็นช่วงก่อนการเยือนสหรัฐฯ ของ ปธน. อซ. เพื่อร่วม กปช. ASEAN-US Summit จึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีไปยังนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร E-commerce และภาพยนตร์ สำหรับเอกชนไทย สาขาร้านอาหารน่าจะเป็นอีกสาขาที่เอกชนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ขยายการลงทุนได้ดี เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมอยู่แล้ว โดยร้านอาหารไทยในอินโดนีเซียส่วนมากเป็นของนักธุรกิจท้องถิ่น โดยจ้างพ่อครัว/แม่ครัวชาวไทยมาควบคุมคุณภาพ


18 กุมภาพันธ์ 2559
แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา

Back to the list