นโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรของอินโดนีเซีย

1. ปธน. Jokowi ต้องการใช้การปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรเป็นนโยบายหลักในการขับเคลื่อน นโยบายเศรษฐกิจที่เป็นธรรม หรือ Just Economy

เนื่องจากเห็นว่าการถือครองและการใช้ที่ดินในประเทศยังไม่มีประสิทธิภาพ มีพื้นที่จำนวนมากที่ถูกทิ้งร้าง ไม่เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลตั้งเป้าที่จะจัดสรรที่ดินเปล่าดังกล่าวจำนวนกว่า 21.7 ล้านเฮกตาร์เพื่อใช้เป็นที่ทำกิน เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจและช่วยลดปัญหาความยากจน ในจำนวนนี้ จะจัดสรรให้กับคนในชนบทภายใต้นโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (Tanah Objek Reforma Agraria - TORA) จำนวน 9 ล้านเฮกตาร์ [1] และอีก 12.7 ล้านเฮกตาร์ที่เหลือ จะจัดสรรให้กลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่ดูแลและใช้ประโยชน์ อย่างไรก็ดี ในชั้นนี้ ปธน.อินโดนีเซียยังไม่ได้ลงนามในประกาศ ปธน. ที่เกี่ยวข้องเพื่อบังคับใช้นโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ นโยบายปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรนี้ถือเป็นการนำกฎหมายที่ดินเพื่อการเกษตร (Agrarian Law) ซึ่งออกมาตั้งแต่ ค.ศ. 1960 กลับมาใช้อีกครั้ง โดยในสมัย ปธน. SBY ได้มีการจัดสรรที่ดินจำนวนประมาณ 470,000 เฮกตาร์ ให้แก่เกษตรกรประมาณ 435,000 ครัวเรือน ภายใต้ TORA เช่นกัน

2. ภาคีด้านการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร (Agrarian Reform Consortium - KPA) [2]

มองว่านโยบายดังกล่าวยังคงเป็นนโยบายในกรอบใหญ่ เน้นผลทางการเมืองเป็นหลัก เนื่องจากในชั้นนี้ ยังไม่มีการออกกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในทางปฏิบัติ และยังไม่มีการจัดตั้งคณะทำงาน/กลไกการทำงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหากรณีพิพาทเรื่องการอ้างสิทธิเหนือที่ดินยังคงอยู่ และจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการจัดสรรที่ดินภายใต้ TORA ต่อไป

3. ทั้งนี้ ธนาคารโลกและ Oxfam ได้ออกรายงานเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย

ระบุว่าระดับความเหลื่อมล้ำของอินโดนีเซียสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก (รองจากรัสเซีย เดนมาร์ก อินเดีย สหรัฐฯ และไทย) โดยผู้ที่ร่ำรวยที่สุด 4 คนแรก มีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าคนจนที่สุด 100 ล้านคนของประเทศรวมกัน โดยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของอินโดนีเซียในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เป็นประโยชน์ต่อประชากรเพียงร้อยละ 20 ของประเทศเท่านั้น ในขณะที่ร้อยละ 80 ของประชากรอินโดนีเซียที่เหลือ (ประมาณ 200 ล้านคน) ยังคงยากจน แม้ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียระบุว่า ดัชนี Gini ของอินโดนีเซียปี 2559 ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 0.40 จากร้อยละ 0.41 ในช่วงปี 2554-2558 ซึ่งสะท้อนว่าความเหลื่อมล้ำลดลงก็ตาม

4. เป็นที่น่าสังเกตว่า กระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซีย

ได้ให้ข้อมูลว่า ในการจัดสรรที่ดินจากพื้นที่ป่า ทางการอินโดนีเซียจะหลีกเลี่ยงการจัดสรรที่ดินในจังหวัดที่มีพื้นที่ป่าอยู่น้อยกว่าร้อยละ 30 เช่น จ. Lampung ในเกาะสุมาตรา และจังหวัดอื่นๆ ในเกาะชวา อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงนั้น พื้นที่ที่มีกรณีพิพาทการอ้างสิทธิในที่ดินส่วนมากอยู่ในจังหวัดดังกล่าว อีกทั้งเป็นพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงสุด [3] และเป็นจังหวัดที่มีดัชนี Gini ในเกณฑ์สูง (0.36-0.42) หากเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศทั้งสิ้น

5.นโยบายปฏิรูปเกษตรกรรมเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามของรัฐบาลอินโดนีเซีย

ในการผลักดัน Just Economy และเป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจในปีนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชากรทุกคน ภายใต้ Nawa Cita หรือประเด็นเร่งด่วน 9 ประเด็นของรัฐบาลอซ. [4] โดย ปธน. Jokowi ได้กระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งการดำเนินการผลักดันนโยบายดังกล่าวอยู่เป็นระยะๆ




[1] ในจำนวนนี้ ประกอบด้วย (1) ที่ดินที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงสิ่งแวดล้อมและป่าไม้อินโดนีเซียจำนวน 4.1 ล้านเฮกตาร์ (2) ที่ดินรกร้างจากใบอนุญาตเพาะปลูกหมดอายุ จำนวน 0.4 ล้านเฮกตาร์ และ (3) ที่ดินเปล่า ยังไม่มีผู้ถือครอง (uncertified) 4.5 ล้านเฮกตาร์


[2] เป็นองค์กรภาคประชาสังคม ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ. 1994 มีสมาชิกอยู่ประมาณ 170 องค์กรจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยชมรมเกษตรกร ขาวประมง กลุ่มชาติพันธุ์ และ NGO ท้องถิ่นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดสรรที่ดิน และทรัพยากรเพื่อการเกษตรอย่างเป็นธรรม เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร

[3] เกาะชวามีประชากรประมาณ 150 ล้านคน และเกาะสุมาตราประมาณ 50 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศประมาณ 255 ล้านคน

[4] “Nawa Cita” หรือ ประเด็นเร่งด่วน 9 ประเด็น ประกอบด้วย (1) คุ้มครองประชาชน รักษาผลประโยชน์ของประเทศ ส่งเสริมอัตลักษณ์ในฐานะประเทศทางทะเล (maritime nation) (2) ส่งเสริมธรรมาภิบาลและประชาธิปไตยของประเทศ (3) พัฒนาพื้นที่ชนบท (4) ปฏิรูปประเทศเพื่อสร้างระบบบังคับใช้กฎหมายที่ปราศจากการทุจริตคอร์รัปชั่น (5) พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา สวัสดิการสังคม สาธารณสุข และสิทธิในการถือครองที่ดิน (6) เพิ่มขีดความสามารถและสมรรถภาพในการแข่งขันในตลาดระหว่างประเทศ (7) ลดการพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากต่างประเทศ (8) ปฏิรูปการศึกษาทั้งในด้านโครงสร้างและหลักสูตร (9) ส่งเสริมความหลายหลายและเพิ่มพื้นที่ในการหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นของประชาชน


Back to the list