สถานการณ์ปัจจุบันของภาค SMEs ในอินโดนีเซีย

1. มาตรการส่งเสริมภาค SMES ของรัฐบาล อินโดนีเซีย

1.1 ภาค SMEs ของอินโดนีเซียสร้างโอกาสในการจ้างงานและการสร้างรายได้ให้กับประชากรของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียจึงมีความตั้งใจที่จะพัฒนาภาค SMEs ของประเทศ

1.2 รัฐบาลอินโดนีเซีย ได้จัดสรรเงินงบประมาณประจำปี 2553 จำนวน 20 พันล้าน รูเปียห์ผ่านโครงการ Micro-credit support programme (KUR) ซึ่งดำเนินการโดยธนาคารพาณิชย์ของรัฐ โดยตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2553 ผู้ประกอบการจำนวน 680,270 คนได้รับเงินกู้รวมเป็นยอดเงินทั้งสิ้น 6.5 พันล้านรูเปียห์ วงเงินกู้สูงสุดสำหรับธุรกิจขนาดย่อม (micro scale) คือ 20 ล้านรูเปียห์ต่อราย (ประมาณ 2 พันดอลลาร์สหรัฐ) จากเดิมเพียง 5 ล้านรูเปียห์ต่อราย (ประมาณ 5 ร้อยดอลลาร์สหรัฐ) ทั้งนี้ นิยามของธุรกิจขนาดย่อมของรัฐบาลอินโดนีเซีย คือ ธุรกิจที่มีเงินทุนไม่เกิน 50 ล้านรูเปียห์

1.3 เมื่อกลางเดือนกันยายน 2553 ที่ผ่านมา นาย Hatta Rajasa, Coordinating Economic Minister ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า กระทรวงการค้า/กระทรวง SMEs/กระทรวงเกษตร/กระทรวงอุตสาหกรรม/กระทรวงป่าไม้ได้ลงนาม MoU กับ บริษัทด้าน credit insurance และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อกับ SMEs อย่างจริงจังมากขึ้น

2. ปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาภาค SMEs ของ อินโดนีเซีย

2.1 อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงและความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับ SMEs ในปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 20 – 30 ซึ่งสภาหอการค้าและอุตสาหกรรม อินโดนีเซีย (KADIN) เห็นว่าไม่ควรสูงกว่าร้อยละ 17 (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่คือร้อยละ 12) นอกจากนี้ ขั้นตอนการยื่นเอกสารเพื่อขอรับสินเชื่อจากธนาคารต่างๆ มีความยุ่งยากและผู้ประกอบการ SMEs บางราย (1) ยังไม่ทราบข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ KUR เพื่อสนับสนุน SMEs (2) มีประเภทของธุรกิจที่มิใช่เป้าหมายที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ต้องการปล่อยสินเชื่อ

2.2 ขีดความสามารถของ SMEs อินโดนีเซียที่ค่อนข้างจำกัด

ระดับ entrepreneur spirit ของผู้ประกอบการ SMEs อินโดนีเซียยังไม่สูงพอเนื่องจากยังขาด know how ในการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ การทำการตลาดต่างประเทศ และการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ปัญหาข้างต้นยังเกี่ยวพันกับ (1) แรงงานอินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนมากแต่ยังคงเป็น low-skilled labor (2) เทคโนโลยีที่เหมาะสมสำหรับ SMEs ในแต่ละประเภท

3. บทบาทของภาคเอกชนอินโดนีเซียในการส่งเสริมธุรกิจ SMEs ของประเทศ

KADIN มีแผนจะส่งเสริมขีดความสามารถของผู้ประกอบการ SMEs โดย เจ้าหน้าที่KADIN จะให้ความช่วยเหลือในการจัดตั้งธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือนแก่ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อแล้ว และจะส่งเสริมการดำเนินการให้มูลค่าการส่งออกภาค SMEห ของประเทศเพิ่มขึ้นในอนาคต (มูลค่าการส่งออกของภาค SMEs อินโดนีเซียลดลงจาก 1.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2008 เหลือเป็นจำนวน 1.23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)


Source:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (15 ตุลาคม 2553)

Back to the list