อินโดนีเซียกับการเป็น “ตลาด” หรือ “ฐานการผลิต”

อินโดนีเซียในปัจจุบันถูกมองเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ที่มีอัตราการเจริญเติบโตเป็นที่น่าจับตา และเริ่มเป็นแหล่งลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เห็นได้จากยอด FDI ที่ขยับสูงขึ้นทุกๆ ปี ทั้งนี้ สาเหตุหลักเป็นเพราะการเมืองที่มีเสถียรภาพ ความอุดมสมบูรณ์ของ
ทรัพยากรธรรมชาติ และค่าแรงราคาถูก ประกอบกับสื่อต่างประเทศให้ภาพกับสาธารณชนในทิศทางดังกล่าว ซึ่งรวมถึงความสำเร็จในการประชาสัมพันธ์ของ BKPM จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติ ซึ่งรวมทั้ง ไทยต่างมองไปในทิศทางเดียวกันว่า จะต้องเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียมิฉะนั้นจะ "ตกขบวน" โดยเฉพาะเมื่ออาเซียนกลายเป็น "ประชาคมอาเซียน" ในปี ๒๐๑๕ และประชาชนเกือบครึ่งหนึ่งของประชาคมดังกล่าวเป็นประชาชนของอินโดนีเซีย (๒๔๐ ล้านคน)

นอกจากการเมืองที่มีเสถียรภาพแล้ว อัตราค่าแรงที่ถูกก็ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน สร้างโรงงานผลิตในอินโดนีเซีย สถิติองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ปี ๒๐๐๙ ปรากฏว่า ค่าแรงของจีนอยู่ที่ประมาณ ๔๓๒ ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน / ไทย ๒๘๒.๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน และมาเลเซีย ๖๘๕.๗๐ ดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ในขณะที่สำนักงานสถิติอินโดนีเซีย (BPS) แสดงข้อมูลของอินโดนีเซียที่ ๑๒๗.๘๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ /เดือน และจะปรับขึ้นเป็น ๑๓๕.๘๐ ดอลลาร์สหรัฐ/เดือนในปี ๒๐๑๑ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ค่าแรงอินโดนีเซียยังถูกกว่าหลายประเทศมาก (แต่ยังสูงกว่ากัมพูชาและเวียดนาม) ประกอบกับนักลงทุนไทยบางรายต้องการย้ายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนค่าแรงขั้นต่ำในประเทศไทยที่สูงขึ้นเรื่อยๆ (ปัจจุบันจะปรับไปอยู่ที่ ๓๐๐ บาท/วัน) อย่างไรก็ตาม ภาพการลงทุนที่นักลงทุนไทยได้รับยังไม่ครบถ้วน เช่น เรื่องแรงงานไม่เคยกล่าวถึงกฎหมายแรงงานของอินโดนีเซียที่คุ้มครองแรงงานอย่างเข้มแข็ง อัตราค่าทำงานล่วงเวลาที่สูงมาก รวมทั้ง ฝีมือแรงงานของคนอินโดนีเซียไม่ใช่แรงงานมีฝืมือ และสหภาพแรงงานมีความเข้มแข็ง มีอำนาจต่อรองสูง ซึ่งความเข้มแข็งดังกล่าวเพิ่มขึ้นทุกวัน เห็นได้จากความสำเร็จในการเรียกร้องต่างๆ จากรัฐบาลซึ่งประสบผลสำเร็จเรื่อยมา

จริงอยู่ที่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และมีทรัพยากรและ แรงงานวัยทำงานจำนวนมาก อัตราค่าจ้างขั้นต้นยังต่ำ และเป็นตลาดที่น่าสนใจเพราะมีกำลังการบริโภค ซึ่งภาคเอกชนไทยสามารถแสวงประโยชน์ได้ อย่างไรก็ตาม ภาคเอกชนไทยจะต้องแยกประเด็นความเป็น "ตลาด" และ "ฐานการผลิต" ของอินโดนีเซียออกจากกันอย่างชัดเจน และควรใช้ประเด็นดังกล่าว
เป็นตัวช่วย "ตัดสินใจ"ว่า ต้องการเข้ามา "ลงทุน" หรือ "ทำการค้า" กับอินโดนีเซีย

หากภาคเอกชนไทยต้องการอินโดนีเซียเพียงเป็น "ตลาด" ที่ไว้ระบายสินค้า นอกจากตลาดภายใน (ประเทศไทย) หรือตลาดอื่นๆ ที่ส่งออกอยู่แล้ว ภาคเอกชนไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาในตลาดแห่งนี้ด้วยตนเอง แต่ควรหาพันธมิตรท้องถิ่น หรือ ผู้นำเข้าสินค้าที่เป็นอินโดนีเซียนำสินค้าของตนเข้ามาขายในตลาด ซึ่งโดยผลของความตกลงการค้าเสรีอาเซียน สินค้าเกือบทั้งหมดได้รับสิทธิอัตราภาษีร้อยละ ๐ จึงไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาตั้งโรงงานผลิตเพื่อลดภาระภาษีแต่อย่างไร ซึ่งหากภาครัฐประสงค์จะช่วยเอกชนไทยที่สนใจอินโดนีเซียในฐานะ "ตลาด" ก็อาจส่งเสริมให้เอกชนไทยสามารถมีส่วนในห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ของบริษัทที่ทำการค้ากับอินโดนีเซียอยู่แล้ว หรือเสาะหา หรือจัดตั้งรัฐวิสาหกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าไทย (distributing companies) ที่มีความเข้มแข็งและเข้ามาเปิดตลาดในอินโดนีเซียเพียงรายเดียว และรับจำหน่ายสินค้าไทยอื่นๆ ทั้งหมด เช่น กรณีบริษัท ดีทแฮล์ม เบอร์ลี่ยุคเกอร์ ยูนิลิเวอร์ ดำเนินการในไทย

หากภาคเอกชนไทยมองอินโดนีเซียในฐานะ "ฐานการผลิต" โดยมุ่งหวังจะใช้ประโยชน์จากทรัพยากร แรงงานของอินโดนีเซีย โดยคาดหมายตลาดอินโดนีเซีย และอาจรวมถึงตลาดที่เป็นพันธมิตรกับอินโดนีเซีย ภาครัฐก็อาจส่งเสริมให้ภาคเอกชนเข้ามาสำรวจพื้นที่ "การลงทุน" ไม่ใช่ "การค้า" ในอินโดนีเซีย แต่ภาคเอกชนควรต้องศึกษาให้ถ่องแท้ถึงอัตราต้นทุนแฝงที่บริษัทฯ จะต้องประสบ
เช่น ค่าขนส่งโลจิสติกส์ ซึ่งประมาณว่า น่าจะสูงประมาณร้อยละ ๒๐ ของต้นทุน อำนาจต่อรองของสหภาพแรงงาน ระบบราชการที่ยังอ่อนแอ รวมทั้ง ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น /ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ ความไม่พร้อมของสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา การสื่อสาร ซึ่งหากภาคเอกชนประเมินภาพรวมทั้งหมดแล้ว พร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าวโดยเข้าใจถึงหลัก high risk / high return ก็สามารถเข้ามายังพื้นที่การลงทุนในอินโดนีเซีย โดยมีแผนรองรับความเสี่ยงต่างๆ ให้ครบถ้วน ทั้งนี้ ในขณะนี้ บริษัทขนาดใหญ่ของไทยน่าจะมีศักยภาพในการลงทุนมากกว่าบริษัทขนาดเล็กแบบ SMEs ดังนั้น หากเป็น SMEs น่าจะเข้าข่ายจำพวกเสนอให้มองอินโดนีเซียในลักษณะ "ตลาด" มากกว่า "ฐานการผลิต"


Back to the list