กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย

กลยุทธ์ในการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย

  • ในการเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซีย บริษัทไทยจะต้องเริ่มจากการศึกษาตลาด เพื่อให้ทราบถึงลักษณะของตลาด และศักยภาพของตลาดสำหรับสินค้าที่ต้องการนำเข้ามาในตลาดอินโดนีเซีย
  • สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่จะต้องนำเข้ามาโดยผ่านผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้า(Distributors) ก่อนที่จะไปถึงผู้ค้าปลีก (Retailers) ดังนั้น จึงมีความจำเป็นต้องหารายชื่อผู้นำเข้า/ผู้กระจายสินค้าในอินโดนีเซียก่อน ซึ่งผู้กระจายสินค้าดังกล่าวจะต้องสามารถเข้าถึงผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ๆ ในอินโดนีเซียได้ อันได้แก่ Carrefour Hero Hypermart และ Alfamart เป็นต้น
  • สำหรับสินค้าประเภทวัตถุดิบพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมจะสามารถจำหน่ายแก่อุตสาหกรรมผู้ใช้โดยตรงหรือโดยผ่านตัวแทนท้องถิ่นก็ได้ ดังนั้นบริษัทไทยจึงควรตั้งสำนักงานผู้แทน (Representative office) ในอินโดนีเซียเพื่อดูแลตลาด และการบริการหลังการขายก็มีความสำคัญสำหรับลูกค้า
  • การจำหน่ายสินค้าให้แก่รัฐบาลหรือรัฐวิสาหกิจในอินโดนีเซีย บริษัทไทยควรมีสำนักงานตัวแทนที่จะประสานกับทางราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งส่วนใหญ่การซื้อสินค้าของรัฐบาล (Government procurement) จะดำเนินการโดยผ่านการประมูล ซึ่งผู้ยื่นประมูลจะต้องเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของอินโดนีเซีย โดยต้องเป็นบริษัทท้องถิ่นหรือบริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่นเท่านั้น
  • การจำหน่ายสินค้าให้แก่รัฐบาลนั้น โดยส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยบริษัทที่มีประสบการณ์ยาวนานกับทางรัฐบาล (Long experienced partners) ดังนั้นการร่วมประสานธุรกิจกับบริษัทท้องถิ่นที่สามารถเข้าถึงและมีประสบการณ์ยาวนานกับทางภาครัฐจึงเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการจำหน่ายสินค้าให้รัฐบาล

มีนาคม 2553
แหล่งข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงจาการ์ตา