ข้อมูลทั่วไป
สาธารณรัฐอินโดนีเซีย Republic of Indonesia
ทิศเหนือติดกับทะเลจีนใต้และมหาสมุทรแปซิฟิก ทิศตะวันตกเฉียงใต้ติดกับมหาสมุทรอินเดีย ทิศตะวันออกติดกับติมอร์-เลสเต และปาปัวนิวกินี และทิศใต้ติดกับทะเลติมอร์
พื้นที่
พื้นที่ทางบก 1,904,443 ตารางกิโลเมตร และพื้นที่ทางทะเล 3,166,163 ตารางกิโลเมตร (รวมพื้นที่ทั้งหมด 5,070,606 ตารางกิโลเมตร)
เมืองหลวง
กรุงจาการ์ตา
ประชากร
278.7 ล้านคน (2566) ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติอินโดนีเซีย โดยมีประชากรวัยแรงงาน (สำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2566) จำนวน 147.71 ล้านคน
ภาษาราชการ
ภาษาอินโดนีเซีย (Bahasa Indonesia)
ศาสนา
- อิสลาม ร้อยละ 87.2
- คริสต์นิกายโปรแตสแตน ร้อยละ 6.9
- คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ 2.9
- ฮินดู ร้อยละ 1.7
- พุทธ 0.7
(ข้อมูลจาก indonesia.go.id/profil/agama)
การเมืองการปกครอง
ประมุข
ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน คือ นายโจโค วิโดโด
ผู้นำรัฐบาล
นายโจโค วิโดโด (Joko Widodo) ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2557 เป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ของอินโดนีเซีย
รัฐมนตรีต่างประเทศ
นางเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี (Retno Lestari Priansari Marsudi)
ระบอบการปกครอง
ระบอบ สาธารณรัฐแบบประชาธิปไตย มีประธานาธิบดีเป็นประมุข และหัวหน้าฝ่ายบริหาร (ดำรงตำแหน่งวาระละ 5 ปี การเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดมีขึ้นเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2557)
เขตการปกครอง
30 จังหวัด และเขตการปกครองพิเศษ 4 เขต ได้แก่ กรุงจาการ์ตา เมืองยอกยาการ์ตา จังหวัดอาเจห์ และ จังหวัดปาปัวและปาปัวตะวันตก
วันชาติ
17 สิงหาคม
วันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทย
7 มีนาคม 2493
เศรษฐกิจการค้า
หน่วยเงินตรา
รูเปียห์ (10,000 รูเปียห์ ประมาณ 25 บาท)
GDP1,417.39 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (2566)
รายได้ประชาชาติต่อหัว
5,108.94 ดอลลาร์สหรัฐ (2566)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ร้อยละ 5.05 (2566)
สินค้านำเข้าสำคัญ
น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ยาและวัคซีน และชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
สินค้าส่งออกสำคัญ
น้ำมันปาล์ม น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ แร่ธาตุ ถ่านหิน น้ำมันปิโตรเลียม
ตลาดนำเข้าสำคัญจีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ (ไทยเป็นอันดับที่ 8)
ตลาดส่งออกสำคัญจีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย (ไทยเป็นอันดับที่ 9)
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐอินโดนีเซีย
1. ภาพรวมความสัมพันธ์ทั่วไปไทยสถาปนาความสัมพันธ์กับอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2493 โดยจะฉลองครบรอบ 75 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2568
2. ความสัมพันธ์ด้านการเมืองอินโดนีเซียเป็นพันธมิตรที่สำคัญของไทยทั้งในกรอบอาเซียนและในเวทีระหว่างประเทศอื่น ๆ และการที่อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ท่าทีของอินโดนีเซียเกี่ยวกับปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) ย่อมมีผลต่อท่าทีของประเทศมุสลิมโดยเฉพาะในกรอบ OIC ซึ่งที่ผ่านมา อินโดนีเซียให้ความร่วมมือที่ดี นอกจากนี้ มีความร่วมมือในการส่งเสริมด้านการศึกษาและมุสลิมสายกลาง (ระหว่างศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ Nadhalatul Ulama (NU) และ Muhammadiyah) ในรูปทุนการศึกษาแก่นักศึกษาไทย จชต. ในสาขาต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ด้านศาสนา
3. ความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจ3.1 การค้า
อินโดนีเซียเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญอันดับ 4 ของไทยในอาเซียน และเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของไทยในโลก ในปี 2566 มูลค่าการค้าทวิภาคีระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย เท่ากับ 18,394.44 ล้าน USD หดตัว 7.83% yoy โดยไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซีย มูลค่า 10,043.78 ล้าน USD และนำเข้าจากอินโดนีเซียมูลค่า 8,350.66 ล้าน USD ทำให้ไทยได้ดุลการค้ารวม 1,693.12 ล้าน USD (เพิ่มขึ้น 134.60% yoy)
สินค้าที่ไทยส่งออกไปยังอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ (2) น้ำตาลทราย (3) เม็ดพลาสติก (4) ข้าว และ (5) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ซึ่งมีมูลค่ารวม 4,749.68 ล้าน USD คิดเป็น 47.29% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังอินโดนีเซีย
สินค้าที่ไทยนำเข้าจากอินโดนีเซีย 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) น้ำมันดิบ (2) ถ่านหิน (3) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (4) ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และ (5) รถยนต์นั่ง มีมูลค่ารวม 4,066.22 ล้าน USD คิดเป็น 48.69% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยไปยังอินโดนีเซีย
3.2 การลงทุน
ในปี 2566 ไทยมีมูลค่าการลงทุน 185.85 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตและเคมีภัณฑ์ โดยบริษัทไทยขนาดใหญ่ ๆ ที่เข้าไปลงทุน อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย เหมืองบ้านปู ธนาคารกรุงเทพ ลานนาลิกไนต์ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ระหว่างปี 2562-2566 ไทยเป็นผู้ลงทุนในอินโดนีเซียลำดับที่ 4 (จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแปซิฟิก) มีมูลค่าการลงทุน 1,234.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
3.3 การท่องเที่ยว
ในปี 2566 มีนักท่องเที่ยวอินโดนีเซียเดินทางมาไทยจำนวน 760,938 คน และ มีนักท่องเที่ยวจากไทยไปอินโดนีเซีย 111,786 คน (สถิติปี 2556)
3.4 ประมง
อินโดนีเซียเป็นแหล่งประมงนอกน่านน้ำที่สำคัญของไทย กลไกสำคัญสำหรับความร่วมมือด้านประมงไทย-อินโดนีเซีย ได้แก่ คณะอนุกรรมการว่าด้วยความร่วมมือทางการประมงไทย-อินโดนีเซีย (JC Sub-Committee on Fisheries Cooperation) และการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อหารือทางเทคนิคด้านประมงระหว่างไทย - อินโดนีเซีย (Senior Technical Consultation Meeting) ทั้งนี้ อินโดนีเซียอยู่ระหว่างการปรับปรุงกฎหมายประมงในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่นักลงทุนต่างชาติจับตามองอย่างใกล้ชิด
3.5 พลังงาน
อินโดนีเซีย มีทรัพยากรปิโตรเลียมอุดมสมบูรณ์ กระทรวงพลังงานไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยเฉพาะความร่วมมือด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน โดยกรอบความร่วมมือด้านพลังงาน ได้แก่ Indonesia - Thailand Energy Forum (ITEF) ซึ่งเป็นเวทีให้ผู้แทนจากทั้งสองฝ่ายได้อภิปรายเกี่ยวกับเทคโนโลยี พัฒนาการความร่วมมือ และโอกาส ในการลงทุนด้านพลังงานระหว่างกัน
4.1 การเยือนที่สำคัญ
การเยือนระดับสูงที่สำคัญนับแต่ปี 2555 ได้แก่ สมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ เยือนอินโดนีเซีย ระหว่าง 18 - 21 พฤศจิกายน 2555 นายกรัฐมนตรี (น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) เข้าร่วมการประชุม Bali Democracy Forum ครั้งที่ 5 ที่บาหลี ระหว่างวันที่ 7-8 พฤศจิกายน 2555 และเข้าร่วมประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 25 ระหว่างวันที่ 5 – 7 ตุลาคม 2556 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร) เป็น ผู้แทนพิเศษของนายกรัฐมนตรีเดินทางเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ ประธานาธิบดีโจโค วิโดโด ระหว่างวันที่ 19-21 ตุลาคม 2557 และล่าสุด การเยือนอินโดนีเซียของนายกรัฐมนตรี (พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา) เพื่อเข้าร่วมการประชุม Asian African Leaders Summit เมื่อวันที่ 20-22 เมษายน 2558
สำหรับฝ่ายอินโดนีเซีย ประธานาธิบดี อินโดนีเซีย (นายซูซิโล บัมบัง ยูโดโยโน) เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) on East Asia ครั้งที่ 21 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2555 รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย (นายมาร์ตี นาตาเลกาวา) เดินทางเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย - อินโดนีเซีย (JC) ครั้งที่ 8 เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2556 และรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย (นางเร็ตโน มาร์ซูดี) เยือนไทยอย่างเป็นทางการ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใหม่ เมื่อวันที่ 1-2 เมษายน 2558
4.2 การประชุมที่สำคัญ
มีกลไกความร่วมมือทวิภาคีหลัก 2 กรอบ ได้แก่
(1) การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมไทย - อินโดนีเซีย (Joint Commission between the Kingdom of Thailand and the Republic of Indonesia - JC)
ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม
(2) คณะกรรมการระดับสูง (High Level Committee - HLC)
โดยมีผู้บัญชาการทหารสูงสุดของทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วม
5. ตัวอย่างความตกลงระหว่างไทย-อินโดนีเซียที่สำคัญ ได้แก่
- สนธิสัญญาทางไมตรี (3 มีนาคม 2497)
- ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีประหว่างประเทศทั้งสองในตอนเหนือของช่องแคบ มะละกาและในทะเลอันดามัน (17 ธันวาคม 2514)
- ความตกลงระหว่างไทย-อินโดนีเซีย-มาเลเซีย ว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีปในตอนเหนือของช่องแคบ มะละกา (21 ธันวาคม 2514)
- ความตกลงว่าด้วยการแบ่งเขตกั้นทะเลระหว่างประเทศทั้งสองในทะเลอันดามัน (11 ธันวาคม 2518)
- สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน (29 มิถุนายน 2519)
- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน (25 มีนาคม 2524)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านป่าไม้ (27 พฤษภาคม 2527)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านถ่านหิน (12 มกราคม 2533)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ การวิจัย และเทคโนโลยี (21 พฤษภาคม 2533)
- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการ (18 มกราคม 2535)
- ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน (17 กุมภาพันธ์ 2541)
- ความตกลงด้านวัฒนธรรม (17 มกราคม 2545)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว (23 พฤษภาคม 2546)
- ความตกลงว่าด้วยการบริการทางอากาศ (7 มีนาคม 2511 ปรับปรุงแก้ไข 2 มีนาคม 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุน (21 กรกฎาคม 2547)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตร (16 ธันวาคม 2548)
- บันทึกความเข้าใจการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย (26 ธันวาคม 2549)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดยอกยาการ์ตา (4 กันยายน 2550)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษา (27 มกราคม 2554)
- ความตกลงทางการค้า (Trade Agreement) (16 พฤศจิกายน 2554)
- ข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอินโดนีเซีย (16 พฤศจิกายน 2554)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยกับธนาคารกลางแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (ลงนามเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2562)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการค้าข้าวระหว่างกระทรวงพาณิชย์แห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงการค้าแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564)
- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านระบบหลักประกันสุขภาพระหว่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานหลักประกันสังคมเพื่อสุขภาพของสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (ลงนามเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2565)
6. เรื่องอื่น ๆ
ความสัมพันธ์ด้านสังคมและวัฒนธรรม ไทยและอินโดนีเซียมีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมที่ใกล้ชิด มีการจัดทำความตกลงด้านสังคมและวัฒนธรรม และมีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมและสม่ำเสมอ โดยกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ การอัญเชิญผ้าพระกฐินพระราชทานไปทอดถวายยังวัดในอินโดนีเซีย การสถาปนาความสัมพันธ์บ้านพี่เมืองน้องระหว่างกัน รวมทั้งกิจกรรมเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับอินโดนีเซียในปี 2553
จุดเด่นของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนคิดเป็นประมาณร้อยละ 35 และมีตลาดขนาดใหญ่ กลุ่มประชากรหลากหลาย ทรัพยากรจำนวนมหาศาล ทั้งทรัพยากรมนุษย์ที่เกินครึ่งเป็นประชากรวัยทำงาน ทรัพยากรธรรมชาติทั้งบนดินและในน้ำ เช่น ก๊าซธรรมชาติ ทองแดง นิกเกิล ประมง คาดว่าอินโดนีเซียมีปริมาณน้ำมันสำรอง 12 ปี ก๊าซธรรมชาติ 33 ปี และถ่านหิน 82 ปี ทำให้เป็นที่จับตามองในเวทีโลกด้านเศรษฐกิจในปัจจุบัน และมีผู้สนใจลงทุนและสร้างสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งอินโดนีเซียเองก็ตระหนักถึงข้อได้เปรียบดังกล่าวดี และใช้ทรัพยากรเหล่านี้เป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ส่งเสริมเศรษฐกิจปลายน้ำ และยกระดับให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว
ทรัพยากรที่สำคัญ ได้แก่- ปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และอินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ผลิตอันดับที่ 1 ของโลก
- ถ่านหิน ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของอินโดนีเซียที่เป็นผู้ผลิตถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดเป็นลำดับ 2 ของโลก และเป็นแหล่งพลังงานหลักในประเทศ โดยประมาณร้อยละ 60 ของไฟฟ้าที่ผลิตในอินโดนีเซียมาจากถ่านหิน
- แร่ธาตุ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุจำนวนมากจากที่ตั้งที่อยู่บนเปลือกโลก เช่น ทองแดง นิกเกิล แบ็กไซต์ ฯลฯ โดยอินโดนีเซียเริ่มมีนโยบายห้ามส่งออกแร่ดิบเพื่อนำมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ
- ก๊าซธรรมชาติ เป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานที่อินโดนีเซียให้สัมปทานบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุน
นโยบายเด่นด้านเศรษฐกิจ
การปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ
ทั้งด้านกฎระเบียบการค้า การลงทุน และแนวคิดของผู้ประกอบธุรกิจ เน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำ
การพัฒนา Connectivity
ทั้งด้านกายภาพและเทคโนโลยี เพื่อสร้างการเชื่อมโยงให้กับทุกส่วนของประเทศที่เป็นเกาะ ทำให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และสามารถเดินทางได้อย่างสะดวก เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคม
การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) และเศรษฐกิจสีน้ำเงิน (Blue Economy)
เพื่อสร้างความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระยะยาว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมหาศาลให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นโยบาย Economic Nationalism
โดยส่งเสริมการใช้สินค้าภายในประเทศแทนสินค้านำเข้า เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ และจำกัด/ห้ามการส่งออกหรือนำเข้าสินค้า และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่อาจกระทบต่ออุตสาหกรรมในประเทศ
ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายตามข้างต้น คือ “การดึงดูดการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การจ้างงานชาวอินโดนีเซียที่เกินครึ่งของจำนวนประชากรเป็นวัยแรงงาน และการพัฒนาต่อเนื่องกันไป
โทร. 0-2643-5209-10 แฟกซ์. 0-2643-5208
E-mail : [email protected]