มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้ ครม. Jokowi 2
เมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2558 ประธานาธิบดี Joko Widodo ได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดแรก (คาดว่าชุดที่สองจะประกาศภายในเดือน ก.ย. และชุดที่สามในเดือน ต.ค.) โดยแบ่งเป็น 3 กรอบหลัก ได้แก่
1. การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยการลดระเบียบ และขั้นตอนต่างๆ (de-bureaucracy) และเพิ่มการบังคับใช้กฎหมาย และการสร้างความแน่นอนในการทำธุรกิจ
โดยประธานาธิบดี Jokowi แถลงว่าในขณะนี้มีกฎระเบียบ 89 ฉบับ ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงแก้ไข เพื่อลดความซ้ำซ้อนและยกเลิกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมการผลิต ในจำนวนนี้รวมถึงการแก้ไขกฎระเบียบการขอใบอนุญาตนำเข้าสินค้าน้ำตาล เกลือ เสื้อผ้า ยางรถยนต์ และไข่มุก การยกเว้นการตรวจลงตราให้แก่ผู้มีวัตถุประสงค์การเดินทางเพื่อท่องเที่ยวเพิ่มเติม การลดขั้นตอนและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกน้ำมันปาล์มและสินแร่ และการออกกฎระเบียบที่สนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ
2. การเร่งดำเนินโครงการยุทธศาสตร์แห่งชาติต่างๆ โดยกำจัดอุปสรรคต่อการดำเนินโครงการให้ลุล่วง
อาทิ การเร่งขั้นตอนและกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับใบอนุญาต การจัดหา/เวนคืนที่ดิน การจัดซื้อสินค้า ตลอดจนการบริการของภาครัฐ และส่งเสริมบทบาทของ รบ. ท้องถิ่นในการดำเนินโครงการยุทธศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน
3. การเพิ่มการลงทุนในสาขาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ
โดย รบ. กลางจะสนับสนุนการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย และเพิ่มโอกาสการลงทุนในสาขาอสังหาริมทรัพย์ของประเทศ โดยจะแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออนุญาตให้ชาวต่างชาติเป็นเจ้าของห้องชุดระดับหรู (มูลค่ามากกว่า 700,000 ดอลลาร์สหรัฐ) และจะแก้ไขอัตราราคาห้องชุดที่จัดเป็นห้องชุดระดับหรู เพื่อให้ห้องชุดระดับที่ต่ำลงมาไม่เข้าข่ายต้องเสียภาษีสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
นาย Darmin Nasution รมว. ประสานกิจการเศรษฐกิจ ได้แถลงถึงนโยบายการพัฒนาหมู่บ้าน และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (micro, small and medium enterprises – MSMEs) เพื่อเพิ่มอำนาจในการจับจ่ายของประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง ซึ่งเป็นคนกลุ่มหลักของประเทศ ผ่านมาตรการต่างๆ อาทิ
- การขยายระยะเวลาการจัดสรรข้าวให้แก่ผู้มีรายได้น้อย จากเดิม 12 เดือน เป็น 14 เดือน
- การจัดสรรกองทุนหมู่บ้าน มูลค่า 1.46 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากงบประมาณปี 2558 ให้แก่หมู่บ้านต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในหมู่บ้านแต่ละแห่งโดยตรง โดยเลือกจากรายละเอียดโครงการต้นแบบที่ รบ. จัดสรรให้
- การจัดสรร LPG converter kit ให้แก่ชาวประมง เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านเชื้อเพลิง
- การพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ในฐานะแหล่งสินเชื่อสำหรับ MSMEs ในต่างจังหวัด
นอกจากนี้ รัฐบาลจะอุดหนุนสินเชื่อของ MSMEs ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อลดลงเหลือประมาณร้อยละ 12 จากอัตราปกติประมาณร้อยละ 22-23
ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ธนาคารกลาง และ Financial Services Authority (OJK) ของอินโดนีเซีย ได้ออกมาตรการทางการเงินใหม่หลายประการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นกัน อาทิ การลดระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการเปิดบัญชีธนาคารของชาวต่างชาติ โดยสามารถใช้เพียงหนังสือเดินทางในการเปิดบัญชีที่มียอดเงินฝากไม่เกิน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ การขยายเวลาการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี (tax holiday) สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เครื่องจักร เกษตร ประมง ขนส่ง และอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซขั้นต้น (upstream) ที่ลงทุนมากกว่า 71 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสำหรับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่ลงทุนมากกว่า 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี โดยที่เงินสกุลรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ธนาคารกลางจึงได้ออกมาตรการควบคุมการซื้อเงินสกุลต่างชาติ โดยกำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะซื้อเงินสกุลต่างชาติมูลค่ามากกว่า 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะต้องแจ้งวัตถุประสงค์การใช้เงินและหมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (จากเดิมกำหนดไว้ที่ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ)
อย่างไรก็ดี การประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวไม่ได้รับผลตอบรับในเชิงบวกจากตลาดมากนัก โดยในวันที่ 10 ก.ย. 2558 เงินสกุลรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง (อยู่ที่ 14,322 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐ จาก 14,244 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐในวันที่ประกาศมาตรการ) ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ JCI ลดลงร้อยละ 0.1 โดยหลายฝ่ายมองว่า มาตรการดังกล่าวหลายมาตรการไม่ใช่เรื่องใหม่ อีกทั้งมาตรการยังคงเป็นเพียงกรอบกว้างๆ ที่ยังต้องรอรายละเอียดในการนำไปปฏิบัติ เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบายและมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลมักประสบปัญหาความล่าช้าในการนำไปปฏิบัติหรือไม่ได้มีการนำไปปฏิบัติเลย
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา