อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซีย
๑. อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียเติบโตอย่างต่อเนื่องตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย
ในปี ๒๕๕๔ เศรษฐกิจอินโดนีเซียเติบโตร้อยละ ๖.๕ อัตราการขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี ๒๕๕๔ จึงขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ ๑๐.๗ เมื่อเปรียบเทียบกับพ.ศ. ๒๕๕๓
๒. อุตสาหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซียเข้มแข็งเพราะรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริม
โดยในช่วงต้น จะห้ามนำเข้ารถยนต์สำเร็จรูป (Complete Building Unit : CBU) และให้นำเข้าเพียงชิ้นส่วนยานยนต์ (Complete Knock Down : CKD) เพื่อนำมาประกอบในอินโดนีเซียเท่านั้น นอกจากนี้ ในปี ๒๐๐๐ รัฐบาลยังประกาศลดภาษีรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์
เพื่อลดต้นทุนการผลิตภายในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังอุตสาหกรรมยานยนต์ของอินโดนีเซียเริ่มมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะรัฐบาลประกาศมาตรการภาษีหลายอย่างที่ทำให้ต้นทุนราครถยนต์สูงขึ้น เช่น แนวคิดจะปรับให้รถยนต์จัดอยู่ในสินค้าฟุ่มเฟือยที่ต้องเสียภาษีสูง ค่าจดทะเบียนการโอนรถยนต์ที่สูง หรือการเตรียมนำอัตราภาษีรถยนต์แบบก้าวหน้ามาใช้เพื่อลดปริมาณการแออัดของรถยนต์ในกรุงจาการ์ตา
๓. ปี ๒๐๑๐ อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียยังเติบโตขึ้นอย่างมาก
โดยอาศัยปัจจัยบวก สนับสนุน คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ อัตราดอกเบี้ยยังไม่สูงเกินไปนัก และความเข้มแข็งของระบบสินเชื่อรถยนต์ที่ผู้ซื้อรถยนต์สามารถกู้ได้ถึงร้อยละ ๘๐ ของราคารถยนต์ ตลาดรถยนต์หลักของอินโดนีเซีย คือ รถประเภทอเนกประสงค์ (MPVs) และรถอเนกประสงค์แบบสปอร์ต (SUV) นักลงทุนญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนที่สำคัญที่สุดในตลาดรถยนต์อินโดนีเซีย โดยรถยนต์โตโยต้า มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ ๑ ถึงร้อยละ ๓๖.๒ มิตซูบิชิ เป็นอันดับ ๒ รอยละ ๑๕ และซูซิก เป็นอันดับ ๓ ร้อยละ ๑๐.๗ สำหัรบตลาดรถยนต์หรูหรา (luxury car) เช่น Mercedes หรือ BMW มีการขยายตัวแต่ไม่มากเท่ารถยนต์ญี่ปุ่น
๔. อย่างไรก็ตาม สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์เห็นว่า รัฐบาลกำลังดำเนินมาตรการบาง ประการ
ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายัวของอุตสาหกรรม เช่น การใช้อัตราภาษีก้าวหน้า (progressive car tax) ที่จะเก็บภาษีประมาณร้อยละ ๑-๒ สำหรับรถคันแรก แต่จะเก็บร้อยละ ๒-๑๐ สำหรับรถยนต์คันต่อไป การยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และความล้มเหลวในการสร้างถนนเพิ่มของรัฐบาลทั้งถนนทั่วไป และทางพิเศษ รวมทั้ง อัตราเงินเฟ้อที่หากเพิ่มสูงขึ้นก็จะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรม เป็นต้น
๕. อินโดนีเซียตั้งเป้าหมายที่จะแข่งขันกับไทย โดยมุ่งเป้าจะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ ในภูมิภาคแทนไทย และประสงค์จะให้ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตรถยนต์จากไทยมาที่อินโดนีเซีย สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ (GAIKINDO) ให้ภาพว่า ยอดขายรถยนต์ในอินโดนีเซีย ปี ๒๐๑๐ อยู่ที่ ๗๖๔,๐๘๘ คัน ในขณะที่ไทย ๘๐๐,๓๕๗ คัน และยอดขายในอินโดนีเซียจะโตปีละประมาณร้อยละ ๑๐-๑๕ ซึ่งแข็งแกร่งกว่ายอดขายของไทยที่ร้อยละ ๗.๔๕ ซึ่งหากพิจารณาปริมาณการผลิตรถยนต์ในอาเซียน ขณะนี้ไทยมีกำลังการผลิตมากเป็นอันดับ ๑ ที่ประมาณร้อยละ ๓๒ ในขณะที่อินโดนีเซียผลิตได้ที่ร้อยละ ๓๑ ทั้งนี้ ยอดการผลิตรถยนต์ในอินโดนีเซียกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และบริษัทรถยนต์หลายยี่ห้อต่างประกาศเพิ่มกำลังการผลิตและลงทุนเพิ่ม เช่น โตโยต้า ไดอัทสุ ซูซูกิ นิสสัน BMW และ Mercedes Benz สมาคมยานยนต์จึงคาดว่า ปีนี้จะขายได้ประมาณ ๘๐๐,๐๐๐-๘๕๐,๐๐๐ คัน และจะชนะไทยในไม่ช้า ทั้งนี้ รถยนต์ญี่ปุ่นที่ผลิตในอินโดนีเซียใช้ชิ้นส่วนในอินโดนีเซียถึงร้อยละ ๘๐
๖. อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในไทยมีพัฒนาการต่อเนื่องกว่า ๓๐ ปี
และมีความสามารถ ด้านการผลิตสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลประกาศนโยบายเปิดเสรียานยนต์ในปี ๑๙๙๑ ยอดจำหน่ายยานยนต์ในประเทศ และการประกอบรถยนต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านการผลิต การตลาด การจ้างงาน การพัฒนาเทคโนโลยี และความเชื่อมโยงต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ รวมทั้ง การลงทุนในประเทศ ประเทศไทยถือเป็นบานการผลิตของผู้ผลิตยานยนต์ทั่วโลก และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ปิกอัพ และรถจักรยานยนต์อันดับต้นๆ ของโลก เนื่องจากมีแรงงานที่มีทักษะและคุณภาพ และอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ มียุทธศาสตร์ฯ ที่ชัดเจน ยานยนต์หลักที่ไทยให้ความสำคัญ ๔ ชนิด คือ รถปิกอัพไม่เกิน ๑ ตัน รถยนต์ขนาดเล็กคุณภาพสูง (Eco Car) รถจักรยานต์ยนต์ และอะไหล่และชิ้นส่วนตกแต่ง ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีความเข้มแข็งและเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกยานยนต์ในภูมิภาคเพราะไทยมีความตกลงการค้าเสรีรองรับตลาดส่งออกรถยนต์ของไทย เช่น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอินเดีย รวมทั้ง ระบบการประกอบธุรกิจในไทยมีความสะดวกในการประกอบธุรกิจ และได้รับการจัดอันดับเป็ฯลำดับที่ ๑๙ ใน Ease of Doing business 2011 ของ World Bank ในขณะที่อินโดนีเซียอยู่ลำดับที่ ๑๒๑ เป็นต้น จึงเป็นที่นิยมของนักลงทุนต่างชาติในการใช้เป็นฐานการผลิต นอกจากนี้ รถยนต์ที่ผลิตในไทยยังเข้ามาขายในอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก และเป็นหนึ่งในประเด็นที่ฝ่ายอินโดนีเซียเคยยกขึ้นกล่าวว่า ทำให้อินโดนีเซียต้องเสียดุลการค้ากับไทย แต่ทั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะนโยบายของบริษัทญี่ปุ่นที่ให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคมากกว่าเป็นการจงใจดำเนินการของฝ่ายไทยแต่อย่างไร
๗. ขณะนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียมีความคล้ายคลึงกับไทย
คือ ยังเป็นลักษณะ รับจ้างผลิต คือ ได้รับเทคโนโลยีเฉพาะในชั้นการผลิต แต่ไม่ได้รับเทคโนโลยีในชั้นการออกแบบ การสรรสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ และการตลาด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งไทยและอินโดนีเซียจะต้องหาทางถ่ายเทมาจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเข้ามาลงทุนให้ได้มากที่สุด ซึ่งหากประเทศใดประสบความสำเร็จในการยกระดับตนเองจากประเทศผู้รับจ้างผลิต เป็นประเทศเจ้าของเทคโนโลยี นวัตกรรม และการออกแบบ โอกาสที่จะเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียนก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก ทั้งนี้ กฎหมายภายในของอินโดนีเซีย แม้ปัจจุบันเปิดช่องให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ถึงร้อยละ ๑๐๐ ในด้านการประกอบรถยนต์ แต่ในชั้นการจัดจำหน่าย และการตลาด ก็ยังใช้ระบบการจัดตั้งบริษัทท้องถิ่นให้ทำหน้าที่แทนในลักษณะ joint venture จึงนับเป็นอุปสรรคประการหนึ่งในการได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในทางการตลาด ฯลฯ
๘. แม้อินโดนีเซียจะพยายามแข่งขันกับไทยเพื่อแย่งชิงความเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์
และ ปรากฏชัดเจนว่า นักลงทุนต่างชาติหลายรายเพิ่มการลงทุนในอินโดนีเซีย แต่หากวิเคราะห์จะพบว่า การเพิ่มของอินโดนีเซียเป็นในลักษณะการเพิ่มยอดขายและการผลิตเพื่อสนองการบริโภคภายในประเทศเท่านั้น กล่าวคือ ในชั้นนี้ นักลงทุนต่างชาติต่างมองอินโดนีเซียในฐานะเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพ (ประชากร ๒๔๐ ล้านคน และประชากรกว่า ๕๐ ล้านคนมีกำลังการซื้อรถยนต์ และอาจซื้อได้มากกว่า ๑ คัน/คนป จึงเร่งลงทุนเพิ่มการผลิตเพื่อรองรับตลาดอินโดนีเซีย แต่ยังไม่ปรากฏชัดว่า นักลงทุนต่างชาติรายใด รวมทั้ง ญี่ปุ่น มุ่งจะพัฒนาให้อินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตในภูมิภาคทดแทนไทย ซึ่งอาจเป็นเพราะอินโดนีเซียยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่จะเป็นฐานการผลิตให้บริษัทยานยนต์ต่างชาติในการส่งออก เพราะยังขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะสูง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ สมาคมอุสาหกรรมยานยนต์อินโดนีเซียเองก็มองข้ามภาพดังกล่าว และสนใจเพียงเรื่องการเร่งเพิ่มยอดการผลิตให้ชนะไทยเท่านั้น จึงเห็นได้ว่า โครงสร้างการผลิตของไทยยังได้เปรียบอินโดนีเซียที่จะรักษาการเป็นฐานการผลิตในภูมิภาค และเปิดรับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาให้ไทยกลายเป็นเจ้าของนวัตกรรม เพราะร้อยละ ๓๘ ของรถยนต์ที่ผลิตในไทยเป็นไปเพื่อการส่งออก นักลงทุนต่างชาติจึงยังต้องนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาในไทยเพื่อให้ได้ตามมาตรฐานของประเทศที่ประสงค์จะส่งออกอยู่ และในภาคการผลิต รัฐบาบอนุญาตให้บริษัทต่างชาติถือหุ้นได้ถึงร้อยละ ๑๐๐ แต่หากเป็นธุรกิจบริการจะต้องขออนุญาตกับคระกรรมการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อน แต่ก็มักจะได้รับอนุญาต จึงไม่มีข้อจำกัดใดๆ เช่นอินโดนีเซีย
Source: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (สิงหาคม ๒๕๕๔)