ระบบค้าปลีกและกฎหมาย Franchise อินโดนีเซีย
กฎหมายค้าปลีก
1. ภาพรวม
1.1 อินโดนีเซียถือเป็นตลาดขนาดใหญ่
เพราะมีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ในเอเชียและใหญ่ที่สุดในอาเซียน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 6 % แม้จะชะลอตัวลงในช่วงปีที่ผ่านมา รายงานศึกษาของบริษัท McKinsey ปี 2012 แสดงข้อมูลว่า ชนชั้นกลางในอินโดนีเซียจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2010 ประมาณว่า มีชนชั้นกลางประมาณ 45 ล้านคน และจะขยายเป็น 135 ล้านคนในปี 2030 โดยเฉลี่ยในปัจจุบันคนอินโดนีเซียมีรายได้ต่อหัวประมาณ 3,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี และในประชากรทั้งมีมีประชากรที่อยู่ในเมืองขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดกลางถึงใหญ่ คิดเป็นร้อยละ 53 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งกลุ่มประชากรดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 73 ของ GDP
1.2 ความต้องการบริโภคในสังคมอินโดนีเซียจะทยอยเพิ่มขึ้นเรื่อยตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
และการขยายตัวของชนชั้นกลาง รวมทั้ง คนรุ่นใหม่ที่นิยมสินค้าแบรนด์เนม ทานอาหารนอกบ้าน และจับจ่ายใช้สอยยามว่างในห้างสรรพาสินค้า จึงคาดได้ว่า ธุรกิจค้าปลีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Modern store จะเป็นหนึ่งในธุรกิจที่น่าจะมีการขยายตัวอย่างมาก ทั้งนี้ รายงานการศึกษาของสิงคโปร์คาดการณ์ว่าการค้าปลีกในอินโดนีเซียจะเติบโตขึ้น 12.9% ในช่วงปี 2013 – 2017
1.3 ธุรกิจการค้าปลีกในอินโดนีเซียจัดอยู่ในอันดับที่ 19 จาก 30 อันดับประเทศที่น่าจับตามองสำหรับการค้าปลีก
ซึ่ง The 2556 Global Retail Development Index –GRDI วิเคราะห์ความเสี่ยงทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจของอินโดนีเซียอยู่ในระดับปานกลาง และเป็นตลาดที่ยังไม่มีความอิ่มตัว ไม่อยู่ใน Interest negative list ตลาดการค้าปลีกจำพวกอาหารและเครื่องดื่มมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด โดย Food Service มีมูลค่า 36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2011) มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.8 Modern Grocery Retail (Hypermarket, Supermarket, Convenience store, Minimarket) มีมูลค่า 33 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2011) มีอัตราเฉลี่ยเติบโตถึงร้อยละ 13.3 ส่วนการค้าปลีกประเภทสินค้าแฟชั่น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน มีมูลค่าอยู่ที่ 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ปี 2011) มีอัตราเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 2.9 ซึ่งคาดการณ์ว่าสินค้าแฟชั่นและอุปกรณ์อิเลคโทนิกส์จะเป็นสองประเภทสินค้าที่ได้รับความนิยมและเติบโตสูงในภายในปี 2016
2. ระบบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ระบบค้าปลีกอินโดนีเซียเป็นสาขาอ่อนไหว และรัฐบาลพยายามสงวนไว้ให้ผู้ประกอบการภายในประเทศ จะเห็นได้จากอินโดนีเซียไม่เปิดสาขาค้าปลีกในความตกลงการค้าบริการอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) และเป็นสาขาที่กำหนดไว้ใน Negative List ของอินโดนีเซียว่า จะต้องถือครองโดยกลุ่มทุนในประเทศร้อยละ 100 ยกเว้นหากเป็นค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น หากเป็นห้างสรรพสินค้าเกินกว่า 2,000 ตรม. หรือ minimarket ขนาดเกินกว่า 400 ตรม. อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นข้างมากได้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังไม่มีกฎระเบียบเฉพาะที่กำกับเรื่องค้าปลีก แต่มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น การกำหนด Zoning ของห้างค้าปลีก ฯลฯ เป็นต้น แต่รัฐบาลก็พยายามวางกฎเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว ในช่วงปี 2012-2013 เป็นช่วงสำคัญที่รัฐบาลออกกฎระเบียบที่มีผลต่อระบบการค้าปลีกและธุรกิจ Franchise ในอินโดนีเซีย [1] ดังนี้
2.1 กฎหมายว่าด้วยแฟรนไชส์
กฎหมายหลักของอินโดนีเซียที่ใช้ควบคุมธุรกิจแฟรนไชส์ในอินโดนีเซีย ได้แก่ Government Regulation No. 42 [2] ซึ่งกฎหมายดังกล่าว รวมถึง ธุรกิจ modern store และห้างสรรพสินค้าด้วย ซึ่งต่อมากระทรวงการค้าได้ออกกฎระเบียบเพิ่มเติมเพื่อสนับสนุนให้เกิดหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างเจ้าของธุรกิจขนาดใหญ่กับ SMEs ภายในประเทศ รวมทั้ง ส่งเสริมให้เกิดการใช้วัตถุดิบหรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้แก่ประชาชน ซึ่งกฎระเบียบที่สำคัญได้แก่ กฎกระทรวงการค้าเลขที่ 53/2012 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ [3]และกฎกระทรวงการค้าเลขที่ 68/2012 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ประเภท Modern Store [4] รวมถึง กฎกระทรวงการค้าเลขที่ 07/2012 ว่าด้วยการประกอบธุรกิจแฟรนไซส์ประเภทอาหารและเครื่องดื่ม [5]สาระสำคัญของกฎระเบียบในธุรกิจแฟรนไชส์ มีดังนี้
2.1.1 ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องใช้วัตถุดิบหรือสินค้าท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 80
2.1.2 ผู้เป็นเจ้าของแฟรนไชส์จะต้องพิจารณาให้ SMEs ในท้องถิ่นเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนในการประกอบการด้วย
2.1.3 ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์จะถูกจำกัดไม่ให้ขยายสาขาเกิน 150 แห่ง สำหรับ Modern Store
และไม่เกิน 250 แห่งสำหรับแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนที่ประสงค์จะดำเนินการเองทั้งหมด (company – owned ) ทั่วประเทศอินโดนีเซียติดปัญหาการจำกัดการขยายสาขา
2.1.4 ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ต้องประกอบธุรกิจให้สอดคล้องกับใบอนุญาตฯ
กล่าวคือ ถ้าขอใบอนุญาตประเภทอาหารและเครื่องดื่มจะต้องจำหน่ายสินค้าในประเภทนี้ หากจะดำเนินกิจกรรมอื่นเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักสามารถทำได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนสินค้าที่ขายได้ [6]
2.1.5 หลักเกณฑ์ข้างต้นเกี่ยวกับการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น (2.1.1) จำนวนร้าน (2.1.3) อาจขอยกเว้นได้
อย่างไรก็ตามเกณฑ์ในชั้นนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะคิดคำนวณอย่างไร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า นักลงทุนยังสามารถเจรจาเพื่อหาทางออกได้ เช่น การยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต้องนำเข้าทั้งหมด ฯลฯ เป็นต้น
2.2 กฎหมายเกี่ยวกับค้าปลีก [7]
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2013 อินโดนีเซียออกกฎหมายค้าปลีกฉบับใหม่เพื่อใช้กำกับดูแลธุรกิจค้าปลีกให้เข้มงวดยิ่งขึ้น ได้แก่ กฎกระทรวงการค้าเลขที่ 70/2013 ซึ่งน่าจะมีผลใช้บังคับประมาณ มิ.ย. 2014 โดยกฎหมายดังกล่าวมีสาระคล้ายคลึงกับกฎหมายแฟรนไชส์ คือการสนับสนุนและคุ้มครองผู้ประกอบการภายในประเทศ เช่น การบังคับให้ใช้วัตถุดิบหรือสินค้า/บริการในท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 80 การเป็นหุ้นส่วนกับ SMEs หรือผู้ประกอบการท้องถิ่น การกำหนดจำนวนสาขาไว้ไม่เกิน 150 ร้าน สำหรับ Modern Store นอกจากนี้ หากจะดำเนินกิจกรรมอื่นเพื่อสนับสนุนธุรกิจหลักสามารถทำได้ไม่เกินร้อยละ 10 ของจำนวนสินค้าที่จำหน่าย ซึ่งข้อกำหนดที่กล่าวมาข้างต้นมีข้อยกเว้นที่คล้ายคลึงกับกฎหมายแฟรนไซส์ที่แก้ไขใหม่ แต่มีข้อกำหนดที่แตกต่างคือ การจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของธุรกิจ Modern Store สามารถมีสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเองได้ ไม่เกิน 15% ของจำนวนสินค้าที่ขายได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาใช้สินค้าของ SMEs ก่อน และสาเหตุสำคัญที่รัฐบาลประกาศใช้กฎกระทรวงการค้าฉบับนี้ เพราะมีธุรกิจค้าปลีกหลายรายหลีกเลี่ยงกฎหมายแฟรนไชส์โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายให้เป็นประโยชน์
3. ข้อสังเกต / ข้อเสนอแนะ
3.1 ความพยายามจัดระเบียบการค้าปลีกของรัฐบาล
เกิดขึ้นจากกฎหมายเดิมที่ใช้อยู่ (ซึ่งไม่ใช่กฎหมายกำกับการค้าปลีกโดยเฉพาะ) ใช้ไม่ได้ผลเพราะถูกหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะกฎหมายเรื่องแฟรนไชส์ จึงประกาศใช้กฎกระทรวงการค้าเลขที่ 70/2013 เพื่อบังคับตรงไปยังผู้ประกอบการค้าปลีก (modern stores ในรูปแบบต่างๆ ทั้ง minimarket, hyper markets, department stores) และเป้าหมายหลักต้องการมุ่งไปยังธุรกิจค้าปลีกที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ เพราะกระทรวงการค้าเห็นว่า ธุรกิจดังกล่าวโดยเฉพาะที่ต่างชาติเป็นเจ้าของพยายามหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมาย (เช่น 7-Eleven หรือ Lawson) ซึ่งตาม Negative List แล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในอินโดนีเซียจะต้องเป็นกลุ่มทุนภายในประเทศร้อยละ 100 เว้นแต่ประกอบการค้าปลีกขนาดใหญ่ ดังนั้น ในมุมมองของภาครัฐจึงมองว่า นักลงทุนต่างชาติพยายามเลี่ยงกฎหมาย (not in good faith)
3.2 กฎกระทรวงการค้า 70/2013 ออกมาอุดช่องโหว่ที่ถูกพยายามเลี่ยงจากกฎหมายแฟรนไชส์
(กฎกระทรวงการค้า 53 และ 68/2012) โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันทั้งในเรื่องการห้ามขยายสาขาเกินกว่า 150 สาขา หากจะเปิดมากกว่านั้นจะต้องกระทำในรูปแฟรนไชส์ หรือ ร่วมทุนกับ SMES ท้องถิ่น หรือ การห้ามวางจำหน่ายสินค้าของตนเองเกินกว่าร้อยละ 15 และจะต้องวางจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นร้อยละ 80 ทั้งนี้ เพราะในอดีตผู้ประกอบการค้าปลีกในอินโดนีเซียเลี่ยงกฎหมาย แฟรนไชส์ และไม่มีใบอนุญาตที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงดังกล่าวยังใหม่ และคาดว่าจะมีผลใช้บังคับประมาณ มิ.ย. 2014 แต่ยังมีความคลุมเคลือในหลายประเด็น ซึ่งคาดว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติก็อาจจะยังสับสน ซึ่งผู้ประกอบการน่าจะสามารถอาศัยโอกาสดังกล่าวเจรจาหารือและตกลงกับเจ้าหน้าที่ได้
3.3 เป็นที่เข้าใจว่าการบังคับให้ใช้ หรือวางจำหนายสินค้าท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 80 (local content)
หรือการจำกัดการห้ามขยายสาขาน่าจะขัดกับพันธกรณีของอินโดนเซียใน ASEAN Framework Agreement on Services (AFAS) และ ASEAN Comprehensive Investment Agreement (ACIA) หรืออาจรวมถึง GATS (WTO) อย่างไรก็ตาม กรณีการผิดพันธกรณีภายใต้อาเซียนในทางปฏิบัติไม่มีผลบังคับอย่างเป็นรูปธรรมเช่น WTO เพราะสมาชิกกระทำได้เพียงยกขึ้นหารือใน sectoral body ที่เกี่ยวข้องและให้มีมติปรับปรุงแก้ไข สำหรับการฟ้องร้องในกรอบ WTO แม้ในทางปฏิบัติจะไม่มีนัยโดยตรงกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ แต่ในการดำเนินความสัมพันธ์ทวิภาคี หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการเจรจาก็น่าจะดำเนินการก่อน ทั้งนี้ กฎดังกล่าวน่าจะกระทบผู้ประกอบการต่างชาติหลายรายที่ได้เข้ามาแล้วหรือกำลังจะเข้ามา ซึ่งผู้เล่นรายสำคัญ อาทิ IKEA จากสวีเดน (กำลังจะเข้ามา) และ Parkson จากมาเลเซีย (กำลังจะเข้ามา) รวมทั้ง Galeries Lafayette จากฝรั่งเศสซึ่งพึ่งเปิดดำเนินการไป ยังไม่นับถึง SOGO, Giant, Superindo ฯลฯ อย่างไรก็ตามเท่าที่มีการศึกษาผู้ประกอบการค้าปลีกต่างชาติหลายรายเปิดดำเนินการโดยใช้บริษัทท้องถิ่นเป็นเจ้าของเพียงแต่นำ brand เข้ามาใช้เท่านั้น ดังนั้น อาจมีอำนาจต่อรองกับรัฐได้ดีกว่า
3.4 ในชั้นนี้พบว่า เงื่อนไขต่างๆ
อาทิ การบังคับให้วางจำหน่ายหรือใช้สินค้าท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 80 อาจขอยกเว้นได้ แต่กระทรวงการค้าต้องขอ recommendation จาก Forum of Structuring and development of traditional markets, shopping centers, and modern stores ก่อน ส่วนเงื่อนไขห้ามวางสินค้าภายใต้แบรนด์ตนเอง (house brand) เกินร้อยละ 15 จะได้รับยกเว้นหากสินค้าที่วางจำหน่ายไม่ใช่สินค้า made in Indonesia คือ ไม่มีคู่แข่งเป็นชาวอินโดนีเซีย หรือเป็นสินค้า high end หรือ high technology ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการที่เปิดดำเนินการหากมีสัดส่วน house brand เกินต้องปรับให้สอดคล้องกับ กฎหมายเลขที่ 70/2013 ภายใน 2 ปี หากสาขาเกิน 150 สาขาต้องปรับให้สอดคล้องภายใน 5 ปี จึงเห็นว่า ในชั้นนี้ ทางแก้ไขของผู้ประกอบการไทยอาจมีเป็น 2 แนวทาง ได้แก่
3.4.1 ให้ทีมที่ปรึกษาหารือกับผู้ประกอบการต่างชาติที่เปิดดำเนินการแล้ว
เช่น SOGO, Superindo, Galeries Lafayett หรือที่กำลังจะเปิดเช่น Parkson, IKEA ว่ามีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร และรวมตัวกันในลักษณะ peer pressure เพื่อกดดันภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จในหลายโอกาสแล้ว เช่น กรณีห้ามนำเข้าทุเรียน ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยมีการหารือกับผู้ประกอบการ supermarkets และผู้นำเข้าหลายราย ซึ่งต่างก็เป็นผู้ออกหน้ากดดันรัฐบาล จนในที่สุดรัฐบาลก็ผ่อนคลายมาตรการดังกล่าวลง
3.4.2 ผู้ประกอบการอาจวางแผนระยะยาวในการเปิดฐานการผลิตสินค้ารายการสำคัญ
และคาดว่าน่าจะทำตลาดได้ดีในอินโดนีเซีย ซึ่งก็จะแก้ไขปัญหา local content ได้ในระยะยาว สำหรับการจำกัดจำนวนสาขานั้น ในชั้นนี้ คาดว่า ผู้ประกอบการไทยน่าจะยังไม่เปิดสาขาถึง 150 สาขา
- [1] สาเหตุที่กฎหมายเกี่ยวกับ franchise มีผลกับการค้าปลีกเพราะร้านค้าปลีกส่วนใหญ่จะประกอบการในลักษณะของ franchise ที่ผ่านมาในอินโดนีเซียประสบปัญหาว่า ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ซึ่งเข้ามาในอินโดนีเซียตั้งแต่ประมาณปี 2009 จนกระทั่งปัจจุบัน มีสาขาทั่วอินโดนีเซียมากกว่า 100 สาขา อาศัยช่องว่างของกฎหมายโดยไม่ได้ขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจที่ถูกต้อง แต่อาศัยใบอนุญาตประกอบธุรกิจร้านอาหารแทน เพราะ 7-Eleven ในอินโดนีเซียมีพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารด้วย ซึ่งนอกจาก 7-Eleven แล้วร้านค้าปลีก Lawson ก็ประกอบธุรกิจในลักษณะคล้ายกัน จึงทำให้รัฐบาลพยายามควบคุมมากขึ้น
- [2] Government Regulation Number 42 year 2007 on Franchising (23 July 2007)
- [3] Regulation of the Ministry of Trade Number 53/M-DAG/PER/8/2012
- [4] Regulation of the Ministry of Trade Number 68/M-DAG/PER/10/2012
- [5] Regulation of the Ministry of Trade Number 07/M-DAG/PER/2/2013
- [6] ข้อกำหนดเกี่ยว 10% ยังไม่มีความชัดเจนเนื่องจากมีการตีความว่า 10% ของจำนวนสินค้าที่วางขายทั้งหมด บ้างตีความว่า 10% ของสินค้าที่ขายได้
- [7] โปรดศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมในภาคผนวกที่แนบมาพร้อมนี้
- PERATURAN MENTERI PERDAGANGAN REPUBLIK INDONESIA NOMOR: 53/M-DAG/PER/8/2012
- REGULATION OF THE MINISTER OF TRADE NUMBER 68/M-DAG/PER/10/2012
- PERATURAN MENTERI PERDAGANGAN REPUBLIK INDONESIA NOMOR: 70/M-DAG/PER/12/2013
- PERATURAN MENTERI PERDAGANGAN REPUBLIK INDONESIA NOMOR: 53/M-DAG/PER/8/2012
Source: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา (วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2557)