อินโดนีเซียทบทวนสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติใหม่ ประจำปี 2559
เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2559 นาย Pramono Anung เลขา ครม. อินโดนีเซีย ได้แถลงข่าวการทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติในอินโดนีเซีย หรือ Negative Investments List (DNI) ซึ่งเป็น 1 ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ของรัฐบาล โดยมีการเปิด/ขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในสาขาสำคัญ อาทิ ห้องเย็น ยาง ทางด่วน ภาพยนตร์ e-commerce ร้านอาหาร ในขณะที่จำกัดการลงทุนของต่างชาติใน 20 สาขา และปกป้องธุรกิจขนาดเล็กและ SMEs ท้องถิ่น
1. สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น
สาขา | อัตราเดิม (%) | อัตราใหม่ (%) |
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติร้อยละ 100 | ||
1. ห้องเย็น [1] | 33 | 100 |
2. ศูนย์กีฬา | 49 | 100 |
3. การผลิตภาพยนตร์ (film production houses) | 49 | 100 |
4. ยางผง (crumb rubber) | 49 | 100 |
5. ร้านอาหาร / บาร์ / ร้านกาแฟ | 51 | 100 |
6. วัตถุดิบการผลิตยา | 85 | 100 |
7. ทางด่วน | 95 | 100 |
8. Telecommunication Testing and Labs | 95 | 100 |
9. การบริหารจัดการขยะที่ไม่เป็นพิษ | 95 | 100 |
สาขาที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น | ||
10. การกระจายสินค้า [2] | 33 | 67 |
11. การจัดการอบรมทางธุรกิจ | 49 | 67 |
12. ตัวแทนท่องเที่ยว | 49 | 67 |
13. สนามกอล์ฟ | 49 | 67 |
14. Transport Supporting Services | 49 | 67 |
15. พิพิธภัณฑ์ | 51 | 67 |
16. catering | 51 | 67 |
17. ธุรกิจการจัดประชุมงานแสดงสินค้า และ Travel Incentives | 51 | 67 |
18. การให้คำปรึกษาการก่อสร้างในโครงการมูลค่ามากกว่า 10,000 ล้านรูเปียห์ | 55 | 67 |
19. Telecommunication Services | 65 | 67 |
สาขาใหม่ที่เปิดให้มีการลงทุนจากต่างชาติจากเดิมไม่อนุญาต | ||
20. การติดตั้งไฟฟ้าความแรงสูง | 0 | 49 |
21. การขนส่งทางบก | 0 | 49 |
22. Healthcare support services | 0 | 67 |
23. ภาพยนตร์ และการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ | 0 | 100 |
24. E-commerce ที่มีขนาดตลาดมากกว่า 1 แสนล้าน รูเปียห์ | 0 | 100 |
จากเดิมร้อยละ 100 ปรับลดเหลือร้อยละ 33 ในเกาะสุมาตรา ชวา บาหลี และร้อยละ 77 ในเกาะกาลิมันตัน สุลาเวสี นูซาเตงการาตะวันออก มาลุกุ และปาปัว
[2] ในการทบทวน DNI เมื่อปี 2557 ได้ปรับจากอัตราร้อยละ 100 เหลือร้อยละ 33
ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซีย ทบทวน DNI ประมาณทุก 2 ปี การทบทวนสัดส่วนการลงทุน/การถือกิจการของต่างชาติครั้งนี้ มีการเพิ่มสาขาและขยายสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติมากกว่าการทบทวนเมื่อปี 2557 เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคบริการ
ซึ่งประธานาธิบดี Jokowi ได้เรียกการทบทวน DNI ครั้งนี้ว่าเป็นมาตรการ “Big Bang” เนื่องจากมุ่งหวังให้มาตรการดังกล่าวช่วยกระตุ้นการลงทุน และการจ้างงาน ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของ อซ. นอกจากนี้ ช่วงเวลาที่ประกาศมาตรการดังกล่าวเป็นช่วงก่อนการเยือนสหรัฐฯ ของ ปธน. อซ. เพื่อร่วม กปช. ASEAN-US Summit จึงเป็นการส่งสัญญาณที่ดีไปยังนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร E-commerce และภาพยนตร์ สำหรับเอกชนไทย สาขาร้านอาหารน่าจะเป็นอีกสาขาที่เอกชนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ขยายการลงทุนได้ดี เนื่องจากอาหารไทยได้รับความนิยมอยู่แล้ว โดยร้านอาหารไทยในอินโดนีเซียส่วนมากเป็นของนักธุรกิจท้องถิ่น โดยจ้างพ่อครัว/แม่ครัวชาวไทยมาควบคุมคุณภาพ
แหล่งข้อมูล: สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงจาการ์ตา