อนุมัติทันใจลงทุนในอิเหนา ภายใน 3 ชั่วโมง
รัฐบาลอินโดนีเซียภายใต้การนำของ โจโค วิโดโด มีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปเศรษฐกิจอินโดนีเซียอย่างจริงจัง เพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มงบประมาณสำหรับพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน รวมทั้งออกมาตรการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ ล่าสุดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียได้เปิดตัวการลดขั้นตอนและลดระยะเวลาในการขอใบอนุญาตการลงทุนในแดนอิเหนาโดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมง เท่านั้น
ลองมาดูขั้นตอนและรูปแบบของการให้บริการจดทะเบียนขอใบอนุญาตการลงทุน (Investment Licensing Service) ที่อินโดนีเซียได้โฆษณาภายใต้ธีม “Invest in Remarkable Indonesia” ว่าได้ปรับให้สะดวกและรวดเร็วสำหรับผู้มาใช้บริการกัน
- นักลงทุนเดินทางไปที่คณะกรรมการประสานงานด้านการลงทุนของอินโดนีเซีย (BKPM) เทียบเท่ากับ BOI ของไทย เพื่อพบ และปรึกษากับผู้อำนวยการหน่วยให้บริการลงทุนเกี่ยวกับแผนงานการลงทุน และยื่นขอรับใบอนุญาตการลงทุน การยื่นต้องเดินเรื่องโดยผู้ถือหุ้นบริษัทที่ประสงค์จะลงทุน และเอกสารที่จำเป็นสำหรับการยื่นขอลงทุน มีดังนี้
1.1 บัตรประจำตัวหรือหนังสือเดินทางของผู้ลงทุน
1.2 มูลค่าแผนงานการลงทุนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านรูเปีย หรือประมาณ 265 ล้านบาท
1.3 มีการจ้างแรงงานท้องถิ่น 1,000 คน
1.4 เอกสารจัดตั้งบริษัท (กรณีที่เป็นบริษัทอินโดนีเซีย)
1.5 เอกสารการเป็นหุ้นส่วน (กรณีที่เป็นบริษัทต่างชาติ)
1.6 แผนในลักษณะ flowchart แสดงการจัดการผลิตและการดำเนินการ ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบจนถึงขั้นที่ได้สินค้าที่ผลิตเรียบร้อย
- รอเจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจเอกสาร
- หลังจากดำเนินการขอจดทะเบียนอนุญาตลงทุน ผู้ขอใบอนุญาตจะได้รับใบอนุญาตที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
(1) Investment license
(2) Deed of Establishment and Approval
(3) Tax Registration Number
(4) Certificate of Company Registration
(5) The Foreign Workers Recruitment Plan
(6) Work Permit
(7) Importer Identification Number
(8) Custom Registration Number
(9) Letter on Land Availability Information (หากต้องการ)
การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของ 10 ชาติสมาชิก นอกจากจะทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม แต่ในขณะเดียวกัน ก็ทำให้เกิดการแข่งขันด้านการค้า การลงทุน ทำให้ชาติสมาชิกอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย รุกเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศ อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนอย่างเต็มที่ ปรับปรุงประสิทธิภาพให้ง่ายต่อการดำเนินธุรกิจ สร้างความพร้อมในการแข่งขัน โดยในการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) อินโดนีเซียได้ขยับขึ้นมาในอันดับที่ 109 จากเดิมในอันดับที่ 120 (ไทยอยู่ในลำดับที่ 49)
ปัจจุบัน ธุรกิจสัญชาติไทยหลายแห่งได้ขยายการลงทุนไปอินโดนีเซียเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไทยเป็นประเทศผู้ลงทุนอันดับที่ 13 ในอินโดนีเซีย เอกชนยักษ์ใหญ่ที่บุกไปอินโดนีเซียแล้ว ได้แก่ เครือซิเมนต์ไทย เครือเจริญโภคภัณฑ์ บ้านปู ลานนาลิกไนต์ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการผลักดันส่งเสริมนักลงทุนไทย โดยเฉพาะตลาด CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตลอดจนประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเป็นอีกหนึ่งตลาดอาเซียนที่มีศักยภาพ เพราะความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เหมืองแร่ ถ่านหิน นอกจากจะเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว ยังมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก อินโดนีเซียตั้งเป้าว่าในช่วงปี 2558-2561 อยากจะเติบโตให้ได้โดยเฉลี่ยถึง 7% ปัจจุบัน อัตรา GDP อยู่ที่ประมาณ 5% ซึ่งนับว่าดีทีเดียว เมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน
ผู้ที่สนใจตลาดอินโดนีเซีย ลองไปเยี่ยมชมเว็บไซต์ BOI แดนอิเหนาได้ที่ www.bkpm.go.id
มี call center ให้บริการที่ +62 0807 100 2576
อี-เมล์ [email protected]
พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลก
ตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.ThaiBiz.net
หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]
ที่มา: www.thansettakij.com/2016/05/05/50037