การสมัครเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ของอินโดนีเซีย
ความร่วมมือที่สำคัญระหว่างอินโดนีเซียกับ OECD
ปัจจุบันอินโดนีเซียยังไม่ได้เป็นสมาชิก OECD แต่มีความร่วมมือกับ OECD มาเป็นระยะเวลานาน โดยเป็นประเทศ Key Partner ของ OECD ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2007 – ปัจจุบัน และเป็นที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งแรกของ OECD ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 และปัจจุบัน อินโดนีเซีย นับเป็นหุ้นส่วน (associate) และ participant ของคณะกรรมการต่าง ๆ ใน OECD และได้ยอมรับตราสารกฎหมายของ OECD แล้ว 15 ฉบับ รวมถึงมีความร่วมมือและการเข้าร่วมประชุมในกรอบ OECD ของผู้แทนระดับสูงจากรัฐบาลอินโดนีเซียหลายครั้ง
อินโดนีเซียเป็น Key Partner ประเทศแรกที่จัดทำ Framework of Cooperation Agreement (FCA) และปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการตามความร่วมมือ FCA ฉบับที่ 3 (ค.ศ. 2022-2027) ที่ลงนามเมื่อปี ค.ศ. 2022 เพื่อกำหนดทิศทางการสร้างความร่วมมือให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น รวมถึงอยู่ระหว่างดำเนินการตาม Joint Work Programme (JWP) ฉบับที่ 4 (ค.ศ. 2022-2025) ที่เน้นการปฏิรูปกฎระเบียบด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับ
- นโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่เป็นธรรม หลักธรรมาภิบาลและการปฏิบัติทางภาษีที่ถูกต้อง (tax compliance)
- การสร้างบรรยากาศการประกอบธุรกิจที่ดี และการปรับเปลี่ยนเป็นดิจิทัล (digitalization)
- ทุนมนุษย์และการมีส่วนร่วมทางสังคม
- การพัฒนาที่ยั่งยืน
การสมัครเป็นสมาชิก OECD ของ อินโดนีเซีย
เป็นหนึ่งในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2045 (2045 Vision หรือ Golden Indonesia 2045 plan) ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดให้อินโดนีเซียหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีรายได้และอิทธิพลทางเศรษฐกิจเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจภายในปี ค.ศ. 2045 (พ.ศ. 2588) โดยหนึ่งในนโยบายเด่นด้านเศรษฐกิจของ 2045 Vision คือมุ่งปฏิรูปเศรษฐกิจอินโดนีเซียทั้งระบบ และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ
การเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD จะเป็นประโยชน์ต่อการยกระดับระเบียบทาง ศก. ของ อินโดนีเซีย ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เสริมสร้างความเชื่อมั่นของนานาประเทศต่อ ศก. การลงทุน และการคลัง อินโดนีเซีย และส่งเสริมบรรยากาศการประกอบธุรกิจและความสามารถทางการแข่งขันของ อินโดนีเซีย ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ต่อการบรรลุเป้าหมาย 2045 Vision
รัฐบาลอินโดนีเซียมีความจริงจังในเรื่องดังกล่าวอย่างยิ่ง โดยได้ประกาศผ่านสื่ออย่างต่อเนื่องถึงความจำเป็นและสำคัญในการเข้าเป็นสมาชิก OECD และเห็นว่าความสำเร็จของ อินโดนีเซีย ในการจัดประชุม G20 เมื่อปี ค.ศ. 2022 ทั้งในด้านการแสดงบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจระดับโลก การเป็นประธาน ASEAN ในปี ค.ศ. 2023 รวมถึงการได้รับสถานะประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูง (upper middle-income) คืนในปี ค.ศ. 2022 ด้วยรายได้เฉลี่ยต่อหัว 4,580 USD/คน หลังเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ OECD ตอบรับให้ อินโดนีเซีย เข้าเป็นสมาชิก โดยหากดำเนินการสำเร็จ อินโดนีเซีย จะเป็นประเทศจากเอเชียลำดับที่ 3 ที่เป็นสมาชิก OECD ถัดจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้
อินโดนีเซีย ได้ส่งหนังสือสมัครเข้าเป็นสมาชิก OECD อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับเชิงบวก (positive response) จาก OECD โดยปัจจุบันอยู่ในกระบวนการเข้าเป็นสมาชิก