ภาพรวมนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซีย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.พ. 2567)

ภาพรวมนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซีย (ข้อมูล ณ วันที่ 15 ก.พ. 2567)

ในปี 2566 อินโดนีเซียมีการลงทุน (direct investment realization) รวม 1,418.9 ล้านล้าน IDR เพิ่มขึ้น +17.5% yoy และมากเป็น 2 เท่าของการลงทุนในปี 2561

โดยอินโดนีเซียเป็นประเทศที่ได้รับ FDI สูงสุดเป็นลำดับที่ 17 ของโลก อนึ่ง อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูป (manufacturing industries) ซึ่งเป็นสาขาหลักที่รัฐบาลอินโดนีเซียส่งเสริมอย่างจริงจัง ได้รับการลงทุนในปี 2566 มูลค่า 596.3 ล้านล้าน IDR เพิ่มขึ้น 2.7 เท่าของมูลค่าการลงทุนในปี 2561 ซึ่งในห้วงที่ผ่านมา อุตสาหกรรมเกี่ยวกับการแปรรูปเหล็ก/แร่ ที่ไม่ใช่เครื่องจักรได้รับการลงทุนสูงสุดในหมวดดังกล่าว โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการถลุงและแปรรูปแร่ขั้นต้น (รวมถึงนิกเกิล) ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งนับว่าตรงตามแนวนโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซีย

ในส่วนของ FDI ระหว่างปี 2562-2566 จากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแปซิฟิก

(เป็นการจัดกลุ่มประเทศรัฐบาลอินโดนีเซีย) นั้น อินโดนีเซียได้รับการลงทุนจากสิงคโปร์มากที่สุด แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทต่างชาติและบริษัทอินโดนีเซียที่ไปจดทะเบียนเป็นบริษัทสิงคโปร์ โดยไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 4 จากกลุ่มดังกล่าว มูลค่าการลงทุน 1,234.1 ล้าน USD ใน 1,483 โครงการ ทั้งนี้อินโดนีเซียมองว่าไทยเป็นคู่แข่งในอุตสาหกรรมรถยนต์ และทำให้อินโดนีเซียพยายามชูโรงอุตสาหกรรมการผลิต EV ที่ตนได้เปรียบกว่ามาแข่งขันกับไทย อย่างไรก็ดี ยังยอมรับว่า ไทยมีความเหนือชั้นกว่าอินโดนีเซียในการออกแบบนิคมอุตสาหกรรมและระบบ logistics

อนึ่ง สาขาที่ได้รับการลงทุนมากที่สุดจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแปซิฟิกคืออุตสาหกรรมเกี่ยวกับการแปรรูปเหล็ก/แร่ (รวมถึงนิกเกิล) ที่ไม่ใช่เครื่องจักร คิดเป็น 25.4% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดจากกลุ่มประเทศดังกล่าว


นโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำของอินโดนีเซียในชั้นนี้

คือ การเน้นแปรรูปวัตถุดิบขั้นต้นและส่งออก เนื่องจากตลาดภายในประเทศยังไม่ mature เพียงพอจะรับวัตถุดิบแปรรูปทั้งหมดในชั้นนี้ รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตแบตเตอรี่ EV ด้วย โดยอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการสร้าง ecosystem ที่เอื้อต่อการสร้างอุตสาหกรรมปลายน้ำเเบบครบวงจร เพื่อรองรับการต่อยอดการแปรรูปวัตถุดิบทั้งหมด โดยเฉพาะอุตสาหกรรม EV ที่รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามใช้มาตรการทางภาษีและมิใช่ภาษีในการดึงดูดนักลงทุน ทั้งนี้ สำหรับอุตสาหกรรมนิกเกิล คาดว่าภายในปี ค.ศ. 2030 อินโดนีเซียจะสามารถเป็นผู้ส่งออกนิกเกิลร้อยละ 45 ของตลาดโลก



Back to the list