สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับพัฒนาการของกฎหมาย Omnibus Law on Job Creation

สรุปรายละเอียดเกี่ยวกับพัฒนาการของกฎหมาย Omnibus Law on Job Creation

1. อินโดนีเซียตั้งเป้าการพัฒนาประเทศตามวิสัยทัศน์ ปี ค.ศ. 2045 (2045 Vision)

ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีรายได้และอิทธิพลทาง ศก. เทียบเท่าประเทศมหาอำนาจภายในปี ค.ศ. 2045 (พ.ศ. 2588) โดยปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งในการบรรลุเป้าหมายคือ “การดึงดูดการลงทุน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี” โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ตรากฎหมาย 1 ฉบับ เพื่อแก้ไขกฎหมายหลายฉบับ (ในรูปแบบ Omnibus) เพื่อปฏิรูประบบการลงทุน โดยมีการดำเนินการมาคาบเกี่ยวตั้งแต่ช่วงก่อน COVID-19 (ราวปลายปี 2562) และเร่งการดำเนินการในห้วงปีแรกของ COVID-19 (ปี 2563) ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ประธานาธิบดี Joko Widodo) ได้ลงนามในกฎหมาย Omnibus Law on Job Creation หลังจากที่ผ่านรัฐสภาแล้ว มีผลเป็นการปรับแก้ไขกฎหมาย 76 ฉบับ (สามารถดาวน์โหลด Omnibus Law ได้ที่ jdih.setneg.go.id)


2. เนื้อหาสำคัญของกฎหมาย Omnibus Law on Job Creation

2.1 การปรับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการลงทุน โดยการกำหนด Investment Priority List และธุรกิจที่เปิดให้ลงทุนได้ อันเป็น paradigm shift ครั้งสำคัญของอินโดนีเซียจากเดิมที่ใช้ Negative Investment List ที่มีวัตถุประสงค์ในการจำกัดและลดการลงทุนจากต่างชาติ เป็นระบบปัจจุบันที่เปิดกว้างในการลงทุนมากขึ้น เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติ รายละเอียด ดังนี้

2.1.1 Omnibus Law ระบุเกี่ยวกับธุรกิจ/กิจการ 3 ประเภท

  1. กิจการที่ต้องจัดทำโดยรัฐบาล เท่านั้น เนื่องจากเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของรัฐ
  2. ธุรกิจที่เปิดให้ลงทุนได้
  3. ธุรกิจที่ห้ามประกอบการ ซึ่งเกี่ยวพันกับกฎหมายหรือศีลธรรมอันดีของ ปชช. รวมถึงธุรกิจสุราและของมึนเมา ไวน์ และมอลต์ (แต่ยังอนุญาตให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุราบางประเภทโดยมีเงื่อนไขบางประการ เช่น ร้านขายปลีกขนาดเล็ก)

2.1.2 สาขาธุรกิจที่เปิดให้ลงทุน โดยบางประเภทอาจห้ามหรือจำกัดการลงทุนของต่างชาติ ได้แก่

Priority business 246 สาขา (เปิดให้ต่างชาติลงทุนได้ทั้งหมด) ได้แก่ธุรกิจที่อยู่ในข่ายดังต่อไปนี้

  1. แผนหรือโครงการยุทธศาสตร์ระดับชาติ
  2. ธุรกิจที่มี solid capital
  3. ธุรกิจที่ใช้แรงงานและมีการจ้างคนจำนวนมาก
  4. ธุรกิจที่มีการใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการผลิต
  5. อุตสาหกรรมบุกเบิก (pioneering industry)
  6. ธุรกิจส่งออก
  7. ธุรกิจที่เน้นการวิจัย พัฒนา และใช้นวัตกรรมในการผลิตและประกอบการ โดยธุรกิจเหล่านี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี tax holiday และการลดหย่อนภาษีตามที่กฎหมายกำหนด

ธุรกิจที่ร่วมมือกับสหกรณ์หรือ MSMEs 106 สาขา (เปิดให้ต่างชาติลงทุนได้ 46 สาขาผ่านการเป็นหุ้นส่วนกับสหกรณ์/MSMEs โดยมีเงื่อนไขตามที่ กม. กำหนด) โดยเป็นธุรกิจทั่วไปหรือที่ไม่ได้เน้น การใช้เทคโนโลยีระดับสูง เน้นการใช้แรงงาน หรือมีความเกี่ยวพันกับมรดกทางวัฒนธรรมของ อินโดนีเซีย และต้องมีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 1 หมื่นล้าน IDR (ประมาณ 685,000 USD)

ธุรกิจที่เปิดให้ลงทุนโดยมีเงื่อนไข 37 สาขา (เปิดให้ต่างชาติลงทุนได้ 28 สาขา) โดยมีเงื่อนไขเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินทุน และการขอรับใบอนุญาตพิเศษตามประเภทของธุรกิจ


2.2 การปรับแนวทางขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้สะดวกขึ้นและรวดเร็วขึ้น โดยใช้ระบบ Risk-based One Stop Service (OSS) ที่ถือเป็น “national portal” สำหรับการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ศูนย์ข้อมูล และการกำกับตรวจสอบการขออนุญาตประกอบธุรกิจ

2.3 การอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจทั้งสำหรับธุรกิจต่างชาติ ธุรกิจโดยชาวอินโดนีเซียและ MSMEs อาทิ กระบวนการขอจดสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่เข้าใจง่ายขึ้น พิธีการด้านการนำเข้าส่งออก ภาษี และการตรวจคนเข้าเมือง การจัดหาที่ดิน (อำนวยความสะดวกในการจัดหาที่ดินเพื่อประกอบธุรกิจอย่างเป็นธรรม มีอัตราค่าใช้จ่าย/ภาษี/สิทธิการใช้ที่ชัดเจน และไม่ขัดต่อประโยชน์สาธารณะ) และการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zones – SEZ)

2.4 การลงทุนของรัฐบาลอินโดนีเซีย โดยได้ก่อตั้ง Indonesia Investment Authority (INA) ภายใต้ Omnibus Law เมื่อปี 2563 เพื่อทำหน้าที่ดูแลกองทุนความมั่นคั่งแห่งชาติ (SWF) เพื่อใช้ในการลงทุนในโครงการยุทธศาสตร์ของชาติ อาทิ การก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและ connectivity ภายในประเทศ

2.5 การเพิ่มการจ้างงาน รัฐบาลอินโดนีเซียเห็นว่าข้อกฎหมายที่แก้ไขโดย Omnibus Law จะส่งเสริมการสร้างงานและการให้รายได้ที่เป็นธรรม โดยมีรายได้ขั้นต่ำตามภูมิภาค การกำหนดระยะเวลาการจ้างขั้นต่ำ และการคุ้มครองสิทธิลูกจ้างอื่น ๆ รวมถึงการจ้างแบบ outsource รวมถึง แรงงานต่างชาติ โดยมีประเด็นเกี่ยวกับสัญญาจ้างแบบมีกำหนดระยะเวลา การคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำโดยใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามจังหวัด การปรับเปลี่ยนการคำนวนเงินชดเชยในกรณีเลือกจ้าง และการจ้างงานแบบ outsource และอนุญาตให้แรงงานต่างชาติมาประกอบอาชีพในอินโดนีเซียได้ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทำให้สหภาพแรงงานในอินโดนีเซียห่วงกังวลอย่างยิ่ง


3. การร้องเรียนต่อศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย

Omnibus Law on Job Creation ได้รับเสียงวิจารณ์และต่อต้านจากกลุ่มสหภาพแรงงานหลายแห่ง เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการร่างกฎหมายขาดการปรึกษาหารือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะแรงงานซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และเนื้อหาของกฎหมายอาจส่งผลเสียต่อสิทธิแรงงาน ทำให้สหภาพแรงงานส่วนหนึ่งและภาคประชาสังคมร่วมยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย เพื่อให้ศาลพิจารณาทบทวน กม. Omnibus Law ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 รวมทั้งมีการจัดประท้วงกฎหมาย Omnibus Law เป็นระยะทั่วประเทศ โดยการประท้วงส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงจาการ์ตา


4. คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซีย ตัดสินว่ากฎหมาย Omnibus Law on Job Creation มีข้อบกพร่องอย่างเป็นทางการ (“formally defective”) ทำให้กฎหมายไม่ชอบด้วย รัฐธรรมนูญอินโดนีเซียอย่างมีเงื่อนไข (“conditionally unconstitutional”) เนื่องจากกระบวนการตรากฎหมายไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการบัญญัติกฎหมายของอินโดนีเซีย (เทียบเท่า กม. ประกอบ รธน. ของไทย) โดยหากรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ปรับแก้ไขกระบวนการตรา กม. ให้แล้วเสร็จและถูกต้องภายใน 2 ปีหลังศาลมีคำตัดสิน ก็จะถือว่า Omnibus Law ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียเป็นการถาวร (“permanently unconstitutional”) และทำให้ กม. ที่ถูกแก้ไขหรือยกเลิกตาม Omnibus Law กลับมามีผลบังคับใช้อีกครั้ง


5. การดำเนินการของรัฐบาลอินโดนีเซีย

ที่ผ่านมามีการดำเนินการที่สำคัญที่สำคัญ 2 ประการ คือ (1) การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมาย และ (2) การออกกฎหมายฉุกเฉิน (Perppu) ซึ่งมีลักษณะคล้าย พรก. ฉุกเฉินของไทย เป็นการแก้ไข Omnibus Law รายละเอียดดังนี้

5.1 การแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมาย เป็นการ แก้ไขกฎหมาย เกี่ยวกับการบัญญัติกฎหมาย เพื่อให้ยอมรับกระบวนการตรากฎหมาย ในรูปแบบที่ใช้กับ Omnibus Law (การออกกฎหมาย ใหม่ 1 ฉบับ เพื่อแก้ไขกฎหมาย หลายฉบับ) โดยปัจจุบันกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว

5.2 การออกกฎหมายฉุกเฉิน (Regulation in Lieu of Law – Perppu) โดยประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ลงนามใน Perppu No.2 of 2022 concerning Job Creation เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2565 เพื่อเป็นกฎหมายที่ใช้แทนที่ Omnibus Law on Job Creation ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียให้เหตุผลของการออก Perppu ว่าเป็นไปเพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอยในปี 2566 และสถานการณ์โลกที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศของอินโดนีเซียในภาพรวม ซึ่งทำให้การดึงดูดการลงทุนและส่งเสริมการทำธุรกิจมีความจำเป็นมากกว่าที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้แล้วหลังจากผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซีย


6. ปัจจุบันยังคงมีการเรียกร้องจากสหภาพแรงงานและภาคประชาสังคม

เกี่ยวกับการปรับแก้เนื้อหาของกฎหมาย Omnibus Law on Job Creation ให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการจัดทำกฎหมาย โดยมีการเสวนาและประท้วงเป็นระยะ



Back to the list