ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอินโดนีเซีย


1. จุดแข็งของอินโดนีเซียด้านการท่องเที่ยว

คือ (1) จำนวนประชากรมากกว่า 280 ล้านคน ทำให้ตลาดมีขนาดใหญ่ และประชากรส่วนใหญ่นิยมการท่องเที่ยวในประเทศ โดยนิยมเดินทางเป็นครอบครัว (สมาชิกในครอบครัวมีจำนวนมาก เนื่องจากแต่งงานไว มีบุตรครอบครัวละ 2-4 คน) เน้นการใช้จ่ายปานกลางถึงประหยัด และ (2) การมีทรัพยากรธรรมชาติและภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย การมีวัฒนธรรมเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ ทำให้มี resources ที่สามารถใช้ต่อยอดได้จำนวนมาก ทั้งนี้ ในปัจจุบัน เยาวชนรุ่นใหม่ ๆ มีความนิยมวัฒนธรรมต่างชาติมากขึ้น รวมถึงชนชั้นกลางมีจำนวนมากขึ้น ทำให้กิจกรรมการท่องเที่ยวและความบันเทิงต่าง ๆ เป็นที่นิยมมากขึ้น


2. จุดอ่อนของอินโดนีเซีย

ได้แก่ (1) การเดินทางภายในประเทศค่อนข้างลำบาก จากสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นเกาะแก่ง และการคมนาคมที่ยังไม่สะดวกสบายนัก ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ยาก หรือค่อนข้างจำกัด ซึ่งแม้จะได้ความรู้สึกผจญภัย แต่หากอินโดนีเซียจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มียอดใช้จ่ายสูงและเน้นความสะดวกสบายตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ก็มีความจำเป็นจะต้องพัฒนาถนนและสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น (2) การที่ยังไม่สามารถสร้าง ecosystem การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกันได้ทั้งระบบ (ส่วนหนึ่งมาจากการเน้นขายตลาดในประเทศ ซึ่งมีความแตกต่างจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างชัดเจน) และ (3) การขาดเที่ยวบินระหว่างประเทศ

แม้ปัจจุบันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถทำรายได้ให้ประเทศ ได้มากเท่ากับอุตสาหกรรมการผลิต/แปรรูป และอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียพยายามตั้งเป้าหมายในลักษณะ “aim high” ให้รายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (ประมาณร้อยละ 8.42 ในห้วงปี ค.ศ. 2023-2027) เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับชุมชนและ MSMEs ในธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง (อาหารและเครื่องดื่ม ที่พัก เศรษฐกิจสร้างสรรค์) อย่างแท้จริง และส่งผลต่อการพัฒนาความเจริญสู่ท้องถิ่น นอกจากนี้อินโดนีเซียยังพยายามผลักดันให้ธุรกิจ MSMEs และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวผันตัวเข้าสู่ระบบออนไลน์มากขึ้น และพยายามพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลควบคู่กัน (ทั้งด้านการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้มี presence ของธุรกิจในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น agoda booking.com และส่งเสริม start-ups ดิจิทัล ด้านการท่องเที่ยวและการเดินทาง)


3. นโยบายด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียที่สำคัญ

3.1 ปัจจุบันอินโดนีเซียดำเนินการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ควบคู่กัน

โดยมียุทธศาสตร์การท่องเที่ยว (Tourism Strategic Planning) ปี ค.ศ. 2020-2024 เป็นแผนหลัก มีเป้าหมายสูงสุดคือการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างครบวงจรโดยทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มี 7 นโยบายหลัก คือ (1) การพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวและสินค้า เศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มและขีดความสามารถในการแข่งขัน (2) การส่งเสริมตลาดผ่านการสร้างความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ และการยกระดับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวอินโดนีเซียให้เข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย (ผู้มีรายได้สูง) มากขึ้น (3) การส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชนด้านการท่องเที่ยวและ ปชช. ในพื้นที่ รวมถึงดึงดูดการลงทุนและเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (4) การพัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ MSMEs (5) การส่งเสริมศักยภาพและความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชนเพื่อสร้างความยั่งยืนและความสามารถในการพึ่งพาตนเอง (6) การส่งเสริมการศึกษาวิจัย รวมถึงการใช้เทคโนโลยี เพื่อเก็บข้อมูล พัฒนา และกำหนดนโยบาย และ (7) การพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ

3.2 นโยบาย “5 Super Priority Tourism Destinations”

เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย 10 New Balis มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม เพิ่มมูลค่าและขีดความสามารถด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซียและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เพื่อผลักดันให้แหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้มีชื่อเสียงและศักยภาพทัดเทียมกับบาหลี เน้นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยว ซึ่งจะทำให้มีนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชมมากขึ้น โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายสูง โดยมีการอัดฉีดงบประมาณจากภาครัฐรวมทั้งสิ้น 1.26 พันล้าน USD และตั้งเป้าหมายว่าจะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายภายในปี 2567 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง ได้แก่ (1) Lake Toba (2) Borobudur (3) Mandalika (4) Labuan Bajo และ (5) Likupang

3.3 นโยบายหมู่บ้านท่องเที่ยว (tourism village)

เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วม คำนึงถึงการอนุรักษ์และคงไว้ซึ่งธรรมชาติ ประเพณี และวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยตรง ปัจจุบันมีหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ มากกว่า 4 พันแห่ง ส่วนใหญ่อยู่ในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ หมู่บ้านท่องเที่ยวที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่บาหลี และเกาะชวา (ชวาตะวันออก ขวากลาง และยอกยาการ์ตา) ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งของ รัฐบาลอินโดนีเซียที่จะส่งเสริมให้หมู่บ้านอื่น ๆ เรียนรู้และแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดี และพัฒนาไปสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวระดับสากลได้

3.4 Medical and Wellness Tourism

ปัจจุบันการส่งเสริม medical tourism ของอินโดนีเซียเป็นไปตาม National Action Plan of Medical and Wellness Tourism ดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Indonesia Health Tourism Board - IHTB) และการปรับกฎระเบียบด้านการประกอบธุรกิจการท่องเที่ยวทางการแพทย์และสุขภาพ โดยการสร้างความเชื่อมั่นให้กับระบบสาธารณสุขรวมถึงการกำหนดมาตรการดึงดูดเงินลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงกำลังผลักดัน medical tourism




Back to the list