กองทุน Daya Anagata Nusantara (Danantara) ของอินโดนีเซีย


โครงสร้างบริหารกองทุน Danantara

เป็นกองทุนภาครัฐลำดับที่ 2 ต่อจากกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (Sovereign Wealth Fund - WF) ภายใต้ Omnibus Law on Job Creation ซึ่งกำกับดูแลโดย Indonesia Investment Authority (นำรูปแบบมาจาก Temasek ของสิงคโปร์) ทั้งนี้ โครงสร้างการบริหารกองทุน Danatara จะขึ้นตรงต่อประธานาธิบดีอินโดนีเซีย และมีนาย Rosan Roeslani รัฐมนตรีกระทรวงการลงทุนและอุตสาหกรรมปลายน้ำ (BKPM) เป็น CEO ของกองทุน นอกจากนี้ ยังมีคณะผู้บริหาร ซึ่งนาย Erick Thohir รัฐมนตรีกระทรวงรัฐวิสาหกิจเป็นประธาน มีนาย Muliaman Hadad อดีตประธานกรรมการบริหารธนาคาร Syariah Indonesia และอดีตเอกอัครราชทูตอินโดนีเซีย/สวิตเซอร์แลนด์ (สมัยประธานาธิบดี Joko Widodo) เป็นรองประธานและนาง Sri Mulyani เป็นสมาชิก และคณะที่ปรึกษา ซึ่งมีนาย Susilo Bambang Yudhoyono และนาย Joko Widodo อดีตประธานาธิบดีอินโดนีเซียเป็นสมาชิก


วัตถุประสงค์ของกองทุน

คือ การนำเงินลงทุนมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าให้กองทุน Danantara เป็นกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ และเป็น super holding agency ที่ทำหน้าที่กำกับดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเกือบทั้งหมดของอินโดนีเซียด้วย โดยได้จัดสรรงบประมาณตั้งต้นให้กองทุนจำนวน 2 หมื่นล้าน USD ซึ่งได้มาจากการตัด/ลดงบประมาณประจำปีของส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อให้กองทุนนำไปใช้ในการบริหารและลงทุนในโครงการด้านทรัพยากรแร่ การผลิตอาหาร และพลังงานหมุนเวียน และสาขายุทธศาสตร์อื่น ๆ ของ อซ. จำนวน 20 โครงการ ซึ่งคาดว่ากองทุนดังกล่าวจะมีมูลค่าเงินทุนหรือทรัพย์สินในกำกับดูแลอย่างน้อย 9 แสนล้าน USD และ priority แรก คือ การนำผลประโยชน์จากกองทุนไปใช้ส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ได้ 8% ตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียชุดปัจจุบันตั้งเป้าหมายและระบุไว้เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้ง

ในชั้นนี้ กองทุน Danantara ได้ดึงรายได้ (dividends) จากรัฐวิสาหกิจ 7 แห่งเข้ามาภายใต้การบริหาร ได้แก่ PT. PLN (เทียบเท่า บริษัทการไฟฟ้า), บริษัทเชื้อเพลิง PT. Pertamina, PT. Telkom, PT. Mineral Industri Indonesia, ธนาคาร Mandari, ธนาคาร BRI, ธนาคาร BNI และมีการจัดตั้งหน่วยงาน 2 หน่วยขึ้นมาภายใต้กองทุน กล่าวคือ บริษัท 1 แห่งที่จะกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง และบริษัทอีก 1 แห่งที่จะทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุน (investment arm) โดยกองทุนดังกล่าวจะไม่อยู่ภายใต้การกำกับของหน่วยงานตรวจสอบสูงสุดของอินโดนีเซีย หรือ Supreme Audit Agency (BPK) ยกเว้นสภาผู้แทนราษฎรอินโดนีเซียจะมีมติให้ BPK ตรวจสอบ และมีกฎหมายที่ให้ legal immunity แก่ผู้บริหาร Danantara ตราบใดที่ตัดสินใจโดยสุจริต (good faith) และปราศจากการขัดกันซึ่งผลประโยชน์




Back to the list