แนวนโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี Prabowo Subianto (ค.ศ. 2024-2029)


เป้าหมายสำคัญ

คือ หลักเศรษฐกิจปัญจศีล (“Pancasila Economics”) หมายถึงการพัฒนาและส่งเสริมการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับหลักปัญจศีลของอินโดนีเซียเพื่อประชาชน โดยกระจายความเจริญ เน้นความยุติธรรมทางสังคม หรืออีกนัยหนึ่งคือการเน้นพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และมีแนวคิด economic sovereignty เพื่อนำไปสู่การยกระดับอินโดนีเซียให้เป็นประเทศ พัฒนาแล้วตามวิสัยทัศน์ Golden Indonesia 2045


นโยบายและแผนการดำเนินงานที่สำคัญ

เพื่อบรรลุ Golden Indonesia 2045 ภายในปี ค.ศ. 2045

เป้าหมายทางเศรษฐกิจหลัก

คือ การให้ GDP ขยายตัวร้อยละ 8 ภายใน 3-5 ปี หรืออย่างน้อยให้สูงกว่าร้อยละ 6-7 ต่อปี จากที่หลายฝ่ายคาดว่า ศก.อินโดนีเซีย น่าจะขยายตัวราวร้อยละ 5 ต่อปี

ชูโครงการดำเนินการ Fast Results Programs ทั้ง 8 โครงการ

ระหว่างปี ค.ศ. 2024-2029 ซึ่งเป็น campaign สำคัญในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยโครงการสำคัญคือ โครงการอาหารกลางวันฟรี ได้กำหนดงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการไว้ที่ 71 ล้านล้านรูเปียห์ โดยมีการทดลองดำเนินโครงการนำร่องตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2567 ในโรงเรียนประถมและ ม. ต้น 76 แห่งที่เมืองตังเกอรัง และคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้เต็มรูปแบบในห้วงเดือนมกราคม 2568 โดยมีจำนวนนักเรียน ครู หญิงมีครรภ์ และ หญิงให้นมบุตรที่จะได้รับประโยชน์ 83 ล้านคน

การขยายตลาดส่งออกของสินค้าอินโดนีเซีย การลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ และเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ และ MSMEs

ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนมากที่สุดในอินโดนีเซีย โดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมอาหาร และการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และน่าจะกำหนดนโยบายที่มีลักษณะ protectionism มากขึ้นด้วย โดยการดำเนินการเด่นที่ผ่านมาคือการเร่งผลักดันให้อินโดนีเซีย เข้าเป็นสมาชิก BRICS เพื่อขยายตลาดและความร่วมมือ และการให้นาง Sri Mulyani ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีคลังอินโดนีเซีย ต่อไป เพื่อรักษาความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่ออินโดนีเซีย ทั้งนี้ ล่าสุด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ลงนามในกฎหมายตัดหนี้เสียของธุรกิจ MSMEs โดยเฉพาะในสาขาเกษตร ประมง และสาขาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาหาร และการสั่งการให้กระทรวงการค้าอินโดนีเซีย ทบทวนกฎหมายการค้าต่าง ๆ เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ จากสินค้านำเข้า รวมถึงการพิจารณาออกกฎหมายที่ระบุให้ผู้ส่งออกสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขั้นต่ำตามที่รัฐบาลอินโดนีเซียระบุ ต้องมีเงินฝากในบัญชีอินโดนีเซียขั้นต่ำตามจำนวนที่กำหนดไว้ เพื่อการเพิ่มสภาพคล่องภายในประเทศ

การส่งเสริมการลงทุนและอุตสาหกรรมปลายน้ำ

ประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้กำหนดเป้าหมายรับการลงทุนของปี 2568 ที่มูลค่า 1,905 ล้านล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 120 ล้าน USD โดยเน้น 3 แนวทาง ได้แก่ (1) เน้นการส่งออกและอุตสาหกรรมปลายน้ำ (2) การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และการบรรลุเป้าหมาย NZE ของอินโดนีเซีย ภายในปี ค.ศ. 2060 และ (3) เพิ่มการจ้างงาน ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่เน้นรับการลงทุน คือ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและดิจิทัล และเทคโนโลยีสีเขียว/NRE และจะยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมเหมืองแร่และการพัฒนาการแปรรูปแร่ต่าง ๆ ให้มีมูลค่าสูงขึ้นก่อนการส่งออก และในส่วนของสินค้าเกษตรและประมง จะให้ความสำคัญกับการแปรรูปสาหร่าย น้ำมันปาล์ม โกโก้ เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์และสารสกัดต่าง ๆ สำหรับใช้ในอุตสาหกรรมและเคมีด้วย

การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์

โดย (1) แยกหน่วยงานที่รับผิดชอบออกเป็นกระทรวงการท่องเที่ยว และกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเดิมเป็นกระทรวงเดียวกัน เพื่อให้การส่งเสริมแต่ละสาขาเข้มข้นขึ้น (2) กำหนดการเพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2568 ให้ได้ 22.1 พันล้าน USD และทำให้การท่องเที่ยวมีส่วนขยาย GDP ของอินโดนีเซีย ให้ได้ที่ร้อยละ 4.6 (3) พัฒนาบาหลีให้เป็น “New Hong Kong” หรือ “New Singapore” ให้มีอุตสาหกรรม อื่น ๆ มากขึ้น และจะสร้างสนามบินแห่งใหม่ทางตอนเหนือของเกาะ (4) ลดอัตราค่าบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อกระตุ้นการเดินทาง (5) ต่อยอดความสำเร็จของการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งในปี 2566 มีมูลค่า 1,414.8 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 89.9 พันล้าน USD

การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

ต่อยอดจากแนวทางของ ประธานาธิบดี โจโกวี (แต่ไม่เข้มข้นเท่า) โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้ต่อเนื่องเชื่อมโยงกันมากขึ้น มีโครงการหลัก ได้แก่ (1) การพัฒนา Food estate ที่เมือง Merauke จ. ปาปัว (2) การสร้าง sea wall ทางชายฝั่งตอนเหนือของเกาะชวา เพื่อป้องกันภัยธรรมชาติ และ (3) การก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ (IKN) ซึ่ง ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ระบุว่าจะดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 4 ปี แต่มีการปรับลดงบประมาณ ทั้งนี้ มีรายงานว่า Delonix Group ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์จากจีน เป็นบริษัทต่างชาติแห่งแรกที่ลงทุนใน IKN โดยมีมูลค่าการลงทุนราว 33 ล้าน USD และ (4) การปรับแนวทางการขยายเส้นทางรถไฟ Whoosh จากจาการ์ตาไปยังทิศตะวันออกของเกาะชวา จากเดิมที่ตั้งเป้าหมายว่าเป็นรถไฟความเร็วสูงในยุคของ ประธานาธิบดี โจโกวี เหลือเพียงความเร็วปานกลาง

พลังงาน

นอกจากการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงาน NRE ลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการมุ่งเป้าสู่ NZE ภายในปี ค.ศ. 2060 แล้ว ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ยังมุ่งสานต่อการสร้างอธิปไตยด้านพลังงานของอินโดนีเซีย และ การอุดหนุนราคาพลังงานต่อไป โดยจะเพิ่มการขุดเจาะน้ำมัน/ก๊าซธรรมชาติ เพื่อลดการนำเข้า และการค้นหาแหล่งพลังงานใหม่ ๆ รวมถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่อินโดนีเซีย มีอยู่มาแปรรูปเป็นพลังงาน




Back to the list