พัฒนาการสำคัญด้านเศรษฐกิจ ในระหว่างวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดี Joko Widodo (ค.ศ. 2014-2024)


เป้าหมายสำคัญ

คือ การสร้างอิสรภาพทางเศรษฐกิจ(economic independence) โดยการปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรม ด้วยการเชื่อมต่อ ต่อยอด และเพิ่มมูลค่าของทรัพยากรธรรมชาติที่อินโดนีเซียมีอยู่ โดยการดึงดูดการลงทุนทั้งจากภายในและต่างประเทศ อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งกายภาพและดิจิทัล การยกระดับ STIs และฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจอันจะนำไปสู่การยกระดับให้อินโดนีเซียเป็นประเทศ พัฒนาแล้วภายในปี ค.ศ. 2045 โดยในการดำรงตำแหน่ง ปธน.อินโดนีเซียสมัยแรก กำหนดวิสัยทัศน์ “Nawacita” เป็นแนวทางดำเนินนโยบาย (1) เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น (2) ยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน (3) เพิ่มกำลังการผลิตและความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจอินโดนีเซียและ (4) มี economic independence ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้จากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ภายในประเทศ ไม่ต้องพึ่งพิงการนำเข้า และได้รับการต่อยอดด้วยวิสัยทัศน์ “Golden Indonesia 2045” ในการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 โดยเน้นการเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาทักษะมนุษย์ กระจายการลงทุน ปฏิรูประบบราชการ และการใช้งบประมาณภาครัฐให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด


ผลงานด้านเศรษฐกิจที่โดดเด่น

การเร่งรัดการฟื้นตัวเศรษฐกิจจากสถานการณ์ COVID-19

ทำให้เศรษฐกิจอินโดนีเซียที่หดตัวร้อยละ 2.07 YoY ในปี 2563 (เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบกว่า 20 ปี) กลับมาขยายตัวร้อยละ 5.05 YoY ในปี 2566 และมีแนวโน้มที่ดีเมื่อเทียบกับประเทศ ในภูมิภาคและกลุ่มประเทศ ที่พัฒนาแล้วใน G20 รวมถึงการควบคุมอัตราเงินเฟ้อทำให้กำลังซื้อในประเทศ ยังสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ดี อย่างไรก็ดี ประธานาธิบดี โจโกวียังไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจโตถึงร้อยละ 7 ตามเป้า และหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจากการที่รัฐบาลอินโดนีเซียพยุงเศรษฐกิจในช่วง COVID-19 และดำเนินโครงการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและขนส่งสาธารณะ โดย ณ เดือนสิงหาคม 2567 หนี้สาธารณะของอินโดนีเซียอยู่ที่ 8,461.9 ล้านล้านรูเปียห์ (debt-to-GDP ratio อยู่ที่ประมาณร้อยละ 38.49) เพิ่มขึ้นจาก 4,418 ล้านล้านรูเปียห์ในปี 2561

การส่งเสริมการลงทุน

ประธานาธิบดี โจโกวีตั้งเป้าหมายดึงดูดการลงทุนสูงเพิ่มขึ้นทุกปี (ปีละ ร้อยละ 6.6-7 ของปีก่อน) และล่าสุดในปี 2567 อยู่ที่ 1,650 ล้านล้านรูเปียห์ (ราว 103.8 พันล้าน USD) นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซียยังได้ตรากฎหมาย Omnibus Law on Job Creation ในปี 2563 เพื่อปฏิรูปการลงทุนและการจ้างแรงงานทั้งระบบ ปรับบรรยากาศและสภาพแวดล้อมการลงทุนให้เปิดรับต่างชาติมากขึ้น การประกอบธุรกิจของชาวอินโดนีเซียมีความสะดวกมากขึ้น (แม้กฎระเบียบภายในและการเชื่อมระบบระหว่างหน่วยงานยังต้องมีการปรับปรุงอีกมาก) โดยกฎหมายดังกล่าวได้รับการวิจารณ์ในประเด็นแรงงานและสิ่งแวดล้อม และประสบอุปสรรคทางกฎหมาย เนื่องจากร่างกฎหมายไม่สอดคล้องกับกฎหมายประกอบ รธน.อินโดนีเซียแต่ความต่อเนื่องของนโยบายดึงดูดการลงทุนโดยภาพรวมประสบความสำเร็จในการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่างชาติและภาคธุรกิจ ทำให้ตั้งแต่ปี 2564-2566 สามารถบรรลุเป้าหมายการลงทุนในแต่ละปี และเกิดการจ้างงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลดีต่อการลดอัตราความยากจนและอัตราการว่างงานระยะยาว แต่ก็ยังไม่สามารถลดลงได้ในอัตราตามที่เคยประกาศไว้ โดยใน World Competitiveness Index ของ IMDอินโดนีเซียอยู่ลำดับที่ 27 (ส่วนไทยอยู่ลำดับที่ 21)

การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

มีการยกระดับการดำเนินการให้เข้มข้นขึ้น และมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด โดยอินโดนีเซียได้โยงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ให้เป็นหนึ่งในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันระดับนานาชาติ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมถึงการกระจายความเจริญออกจากเกาะชวาผ่านการปรับปรุงถนน ทางรถไฟ ท่าเรือ สนามบิน และเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เหล่านี้เข้ากับศูนย์การผลิต นิคมอุตสาหกรรม และเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อดึงดูดการลงทุน ถ่ายทอดเทคโนโลยี เพิ่มการจ้างงาน โดยในเรื่องนี้อินโดนีเซียได้จับมือกับพันธมิตรหลายชาติ รวมถึงเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล ออกกฎระเบียบและส่งเสริมธุรกิจ startup รวมถึงการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ด้านดิจิทัล และการผลักดันให้อินโดนีเซียมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายดิจิทัลในระดับนานาชาติ

นโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจปลายน้ำ

ได้รับการผลักดันอย่างจริงจังในช่วงการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 โดยนำมาผูกโยงกับสินค้าสำคัญต่าง ๆ ของอินโดนีเซียและนโยบายอื่น ๆ อาทิ การถลุงแร่ดิบ การผลักดัน green transition (เช่น การผลักดันธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและการกลั่นถ่านหินให้เป็นก๊าซ ธุรกิจ EV ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งเป็นธุรกิจชูโรงของนโยบาย green economy และน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศ ที่อินโดนีเซียพยายามผลักดันให้เป็น biodiesel/green fuel) และการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารผ่านการแปรรูปสินค้าเกษตรต่าง ๆ ดำเนินการโดยดึงดูดการลงทุนและเทคโนโลยี สร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ และการเสาะหาตลาดส่งออกแหล่งใหม่ ๆ เพิ่มเติม ควบคู่กับการทยอยออกกฎหมายห้ามส่งออกวัตถุดิบก่อนการแปรรูป ซึ่งแม้จะทำให้มูลค่าการลงทุนในประเทศ ในอุตสาหกรรมแปรรูปและยอดการส่งออกจากอุตสาหกรรมแปรรูปเพิ่มสูงขึ้น (มูลค่าการส่งออกนิกเกิลของอินโดนีเซียในปี 2566 อยู่ที่ 520 ล้านล้านรูเปียห์ เพิ่มขึ้นเกือบ 12 เท่าจากปี 2558 ที่มูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 45 ล้านล้านรูเปียห์) และมีผู้เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่ก็ทำให้อินโดนีเซียมีข้อพิพาททางการค้ากับประเทศต่าง ๆ ที่เสียประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว

การก่อสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่

โดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม Green Economy และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองต่อนโยบายด้านการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานและการสร้าง connectivity ทั้งในด้านกายภาพ และ digital transformation ของประเทศ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียต้องการจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 19 ของงบประมาณที่คาดว่าจะใช้ก่อสร้าง IKN ทั้งหมด ราว 32.8 พันล้าน USD โดยจะให้นักลงทุน และภาคประชาชน (ผ่าน crowdfunding และการรับบริจาค ฯลฯ) ดูดซับค่าใช้จ่ายในส่วนที่เหลือ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโครงการดังกล่าวล่าช้ากว่ากำหนด ทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสงสัยถึงความต่อเนื่องของโครงการดังกล่าวในยุค ประธานาธิบดี ปราโบโว




Back to the list