รายงานเศรษฐกิจ ปี 2557
รายงานเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ไตรมาส 3/2557
1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย
1.1 เศรษฐกิจไตรมาส 3/2557 ยังคงขยายตัวลดลง เหลือเพียงร้อยละ 5.01 จากเดิมไตรมาส 1 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.21 และไตรมาส 2 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.17
ถือว่าการขยายตัวต่ำที่สุดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 ทั้งๆ ที่ไตรมาสนี้มีปัจจัยหลายประการที่น่าจะช่วยพยุงให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้น เพราะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดี และเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด ซึ่งเทศกาลถือศีลอดจะเป็นช่วงจับจ่ายใช้สอยของคนอินโดนีเซีย ประกอบกับอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 3 กลับปรับตัวลดลงอย่างมากหากเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งๆ ที่เป็นช่วงหลังเทศกาลการถือศีลอด ซึ่งปรกติเงินเฟ้อน่าจะสูงขึ้น แต่แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับลดลงตลอดไตรมาส 3 แต่ก็ไม่เสริมให้การบริโภคภาคครัวเรือนปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ขยายตัวลดลงเป็นเพราะการลงทุนจากต่างประเทศและการบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญขยายตัวลดลง นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยการขาดดุลการค้า ดุลบัญชีเดินสะพัด และการอ่อนค่าของรูเปียห์กดดันด้วย อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่า เศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายน่าจะขยายตัวระหว่างร้อยละ 5.1-5.5 ต่างกับนักวิเคราะห์เอกชนที่คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 5
1.2 อัตราเงินเฟ้อไตรมาสนี้ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจาก ร้อยละ 4.53 (ก.ค.) ลงเป็น ร้อยละ 3.99 (ส.ค.) และกลับเป็นร้อยละ 4.53 ในเดือน ก.ย.
ซึ่งน่าสนใจว่า ในไตรมาสนี้ ธนาคารกลางสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเทศกาลถือศีลอด และมีข่าวการขึ้นราคาสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ โดยเฉพาะข่าวการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มและไฟฟ้า การปรับราคาน้ำมันภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของ ปธน. คนใหม่ โดยในเชิงนโยบายการเงิน ธนาคารกลางยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 7.5 เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ และเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการไหลออกของเงินทุนจากการยุติ QE และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างไรก็ดี ภาคเอกชนได้เรียกร้องให้ธนาคารกลางปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ในชั้นนี้ ธนาคารกลางยังเห็นว่า อัตราเดิมยังมีความเหมาะสมอยู่ ซึ่งโดยรวมก็นับว่าได้ผล เพราะนอกจากอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงเป็นลำดับแล้ว ปริมาณเงินทุนสำรองระหว่างประเทศยังปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยปัจจุบัน อยู่ที่ประมาณ 111.16 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุที่เงินทุนสำรองปรับเพิ่มขึ้นเป็นเพราะธนาคารกลางประสบความสำเร็จในการขายพันธบัตรสกุลยูโร แต่เนื่องจากปัจจัยการเมืองกดดัน ประกอบกับการขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดที่สะสม จึงทำให้ค่าเงินรูเปียห์ปรับลดลง โดยเมื่อสิ้นเดือน ก.ย. 2557 อยู่ที่ประมาณ 12,185 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าอ่อนค่าที่สุดในรอบ 8 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2557 เป็นต้นมา
1.3 อินโดนีเซียยังคงขาดดุลการค้าสะสม แต่ไตรมาสนี้ โดยรวมขาดดุลการค้าลดลงเหลือ530 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ในขณะที่ไตรมาส 2 ขาดดุล 2.21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยรวมคาดการณ์ว่า สิ้นปี 2557 น่าจะขาดดุลการค้าประมาณ 27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลงจากปีก่อนที่ขาดดุลประมาณ 30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สาเหตุสำคัญของการขาดดุลการค้ามาจากการนำเข้าสินค้าประเภทพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันจำนวนมาก แม้จะได้ดุลจากสินค้าประเภทอื่น ในภาพรวม ธนาคารกลางคาดว่าในไตรมาสนี้ จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณร้อยละ 3.1 ของ GDP น้อยกว่าไตรมาส 2 ที่ขาดดุลมากถึง 9.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือร้อยละ 4.27 ของ GDP
1.4 BKPM (Indonesia Investment Coordination Board) ประกาศตัวเลขการลงทุนไตรมาส 3/2557 มีมูลค่ารวม 119.9 ล้านล้านรูเปียห์
เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการลงทุนภายในประเทศ 41.6 ล้านล้านรูเปียห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2) และเป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 78.2 ล้านล้านรูเปียห์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.9) ซึ่งในไตรมาสนี้การลงทุนในต่างประเทศกลับมาขยายตัวมากกว่าการลงทุนในประเทศ แต่หากพิจารณาจากสถิติจะพบว่า ภาคการลงทุนไตรมาสนี้ กลับขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวลดลงกว่าไตรมาสก่อนเล็กน้อย ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลงกว่าไตรมาสก่อน
2. มาตรการ/เหตุการณ์ทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
2.1 กฎหมายงบประมาณประจำปี 2558
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2557 รัฐสภาผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปี 2558 โดยเป็นงบประมาณแบบขาดดุลที่ร้อยละ 2.21 ของ GDP หรือเท่ากับประมาณ 245.9 ล้านล้านรูเปียห์ ลดลงจากร่างเดิมที่ อดีต ปธน. SBY เสนอไว้ที่ 2.32 ของ GDP ในกฎหมายงบประมาณคาดว่ารัฐบาลจะมีรายได้ประมาณ 1,793.6 ล้านล้านรูเปียห์ และมีรายจ่ายประมาณ 2,039.5ล้านล้านรูเปียห์ เศรษฐกิจปี 2558 จะเติบโตร้อยละ 5.8 อัตราเงินเฟ้อที่ร้อยละ 4.4 และอัตราแลกเปลี่ยนเงิน 11,900 รูเปียห์/ดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้ เป็นงบอุดหนุนพลังงานจำนวน 414.6 ล้านล้านรูเปียห์ (เป็นการอุดหนุนน้ำมันมากถึง 276.1 ล้านล้านรูเปียห์) และจัดสรรงบประมาณ จำนวน 5 ล้านล้านรูเปียห์ สำหรับช่วยเหลือคนยากจน หากเงินเฟ้อสูงขึ้นจากการลดการอุดหนุนราคาน้ำมัน อนึ่ง ปธน. Jokowi สามารถทบทวน งบประมาณดังกล่าวเพื่อให้รองรับการดำเนินนโยบายของรัฐบาลใหม่ได้เมื่อเริ่มปีงบประมาณแล้ว (ม.ค. 2558) แต่จะขาดดุลมากกว่าร้อยละ 3 ของ GDP ไม่ได้ ตามเกณฑ์วินัยการคลัง
2.2 การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในพืชเกษตรสำคัญ
กระทรวงการคลังได้ออกกฎกระทรวง เพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ 70/2014 ยกเลิกการยกเว้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 ในสินค้าพืชเกษตรสำคัญ อาทิ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา โกโก้ กาแฟ ชา ยาสูบ และกานพลู ซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อยจำนวนมาก รัฐบาลจึงออกมาตรการเยียวยา โดยอนุญาตให้เกษตรกรนำภาษีที่จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยและเครื่องมือเกษตร มาหักออกจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องจ่ายได้ อย่างไรก็ดี สมาคมผู้ผลิตกาแฟ และสมาคมผู้ผลิตยาง ได้ยื่นขอให้รัฐบาลทบทวนมาตรการดังกล่าวแล้ว
2.3 กฎหมายว่าด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพ (Geothermal Law)
รัฐสภาผ่านกฎหมาย ว่าด้วยการพัฒนาพลังงานความร้อนใต้พิภพ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. 2557 โดยกำหนดให้พลังงานความร้อนใต้พิภพไม่อยู่ในคำจำกัดความของเหมืองแร่ จึงทำให้สามารถพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งส่วนมากอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนได้ (กฎหมายป่าไม้ห้ามกิจกรรมเหมืองแร่ในบริเวณป่าสงวน) นอกจากนี้ กฎมายดังกล่าวระบุให้รัฐบาลเป็นผู้มีอำนาจในการเปิดประมูลโครงการพัฒนาแทนเทศบาลท้องถิ่น โดยเทศบาลท้องถิ่นจะได้รับจัดสรรเงินรายได้จากแหล่งดังกล่าวแทน
2.4 รัฐสภาผ่านกฎหมายสำคัญ 2 ฉบับ ก่อนการหมดวาระ ได้แก่
(1) กฎหมายพื้นที่เพาะปลูก (plantation law) ให้อำนาจรัฐบาลกลางในการกำหนดสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติผ่านการออกระเบียบของรัฐบาล (Government Regulation - PP) แต่ไม่ได้ระบุว่าจำกัดสัดส่วนการลงทุนเป็นเท่าใด โดยจะพิจารณาจากชนิดของพืชที่จะเพาะปลูก ขนาดและกำลังผลิตของโรงงานของบริษัท และปัจจัยทางภูมิศาสตร์ และ
(2) กฎหมายการปกครองท้องถิ่นฉบับใหม่ (Provincial Administration Law – Pemda) ที่ยกเลิกการให้อำนาจองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (ทั้งในระดับ regency และ municipality) ในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่และถ่านหิน ซึ่ง กม. ใหม่นี้ขัดกับกฎหมายเหมืองแร่ (Mining Law) ปี ค.ศ. 2009 ซึ่งยังคงมีผลบังคับใช้อยู่
3. ข้อสังเกต
3.1 เศรษฐกิจไตรมาส 3 ก่อนการเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการของ ปธน. Jokowi เป็นช่วงที่มีประเด็นด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ได้แก่
- ปัญหาโควต้าน้ำมันอุดหนุนที่เกิดขาดแคลน และอาจหมด 46 ล้านกิโลลิตรตามที่ได้โควต้าไว้ก่อนสิ้นปี จึงทำให้ Pertamina สั่งหยุดจำหน่ายน้ำมันอุดหนุนในบางจังหวัด ซึ่งก่อให้เกิดการจราจลย่อยๆ ในบางจังหวัดก่อนสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปรกติ
- การผลิตน้ำมันไม่ได้ตามเป้าที่เดิมตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 818.000 บาร์เรล/วัน เหลือเพียงประมาณ 797.000 บาร์เรล/วัน ซึ่งหมายถึง
รัฐจะต้องนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น โดยอาจต้องนำเข้าสูงถึง 500,000 บาร์เรล/วัน และทุกๆ 10,000 บาร์เรลที่ผลิตได้น้อยกว่าเป้าจะทำให้รัฐขาดดุลงบประมาณ 161 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ ปธน. Jokowi ตั้งเป้าผลิตให้ได้ 900,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งไตรมาส 2 ก่อนหน้านี้ ก็พึ่งขาดดุลจากน้ำมัน 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่า 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เคยขาดดุลในช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ความพยายามในการผ่านกฎหมายพลังงานความร้อนใต้พิภพเพื่อให้สามารถนำพลังงานความร้อนใต้พิภพ ซึ่งมีมากถึง 28,617 เมกะวัตต์ มาใช้ประโยชน์ให้ได้ ทั้งๆ ที่ในปัจจุบันใช้เพียง 1,350 เมกะวัตต์ จากที่มีศักยภาพผลิตจริง 12,000
เมกะวัตต์
- การออกกฎหมายให้ผสมไบโอดีเซล ร้อยละ 10 ในน้ำมันดีเซลเพื่อระบาย biofuel 4.6 ล้านกิโลลิตร
เหล่านี้เป็นปัจจัยกดดันสำคัญที่ทำให้เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ปธน. Jokowi จะต้องตัดสินใจเรื่องพลังงานอย่างเด็ดขาดว่า ทิศทางพลังงานของอินโดนีเซียจะไปทางใด จะปรับแผนการใช้พลังงาน (Energy Mix) หรือไม่อย่างไร และสำคัญที่สุดจะต้องขึ้นราคาน้ำมันอย่างแน่นอน จึงทำให้มีข่าวเป็นระยะๆ ว่า ปธน. น่าจะปรับขึ้นราคาน้ำมันประมาณ 3,000 รูเปียห์ และช่วงที่เหมาะสมที่สุดคือ เดือน พ.ย. นอกจากนี้ ยังมีข่าวว่า ในอนาคต อินโดนีเซียน่าจะพยายามส่งออกถ่านหินและก๊าซธรรมชาติให้น้อยลง เพื่อใช้ในประเทศให้มากขึ้น เป็นหนึ่งในแผนพลังงานสำคัญของอินโดนีเซีย ซึ่งไทยในฐานะผู้นำเข้าถ่านหินรายสำคัญจากอินโดนีเซียจะได้รับผลกระทบแน่อน
3.2 เศรษฐกิจขยายตัวลดลงต่ำสุดตั้งแต่ปี 2552
เนื่องมาจาการการขยายตัวของการบริโภคภาคครัวเรือน และการลงทุนลดลง พร้อมกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ดุลการค้า และดุลงบประมาณ และค่าเงินรูเปียห์ที่อ่อนลงรับกับการขาดดุลทั้ง 3 รายการ ประกอบกับการลด QE และปรับเพิ่มดอกเบี้ยของสหรัฐฯ พร้อมกับ NPL ในภาคก่อสร้างและเหมืองแร่ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งสัญญาณสำคัญต่อรัฐบาลว่า จะต้องมีมาตรการประการหนึ่งประการใดเพื่อรับมือกับปัญหาดังกล่าว ปธน. Jokowi จึงเป็นเสมือนความหวังใหม่และความหวังเดียวของคนอินโดนีเซียว่าจะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้ารับตำแหน่ง ปธน. ก็ต้องเผชิญหน้ากับปัญหาการเมืองสำคัญ คือ การไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในรัฐสภาได้ ซึ่งทำให้รัฐสภาผ่านกฎหมายยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่นโดยตรง และเลือกประธานสภาจากพรรคอื่นซึ่งไม่ใช่พรรค PDI-P ซึ่งเป็นพรรคที่ได้เสียงมากสุดตามแนวปฏิบัติเดิม ส่งผลให้เกิดความวิตกลึกๆ ทั้งในหมู่คนอินโดนีเซีย และนักลงทุนต่างชาติว่า ปธน. จะผ่านวิกฤตดังกล่าวไปได้อย่างไร ในขณะที่เส้นทางข้างหน้ายังมีภารกิจต้องเร่งจัดการอีกมาก ในขณะที่รัฐสภาผ่านกฎหมายงบประมาณปี 2558 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายของ ปธน. ให้ขาดดุลงบประมาณ ร้อยละ 2.21 ต่ำกว่าที่ อดีต ปธน. SBY เคยเสนอไว้ให้ที่ ร้อยละ 2.32 ในทางหนึ่งอาจมองว่า เป็นสัญญาณดี เพราะขาดดุลงบประมาณลดลง แต่อีกมุมหนึ่งก็มองได้ว่า ทำให้ ปธน. Jokowi จะสามารถระดมเงินมาใช้แก้ไขปัญหาประเทศได้ลดลง และอาจต้องไปใช้เงินจากส่วนอื่นทดแทน อาทิ จากภาคเอกชนในรูป PPP จึงต้องจับตาว่าในไตรมาสสุดท้ายของปี เศรษฐกิจของอินโดนีเซียจะสะท้อนปัจจัยดังกล่าวออกมาเช่นไร ซึ่งนักวิเคราะห์หลายรายเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า น่าจะขยายตัวลดลงอีก และอาจทำให้ภาพรวมทั้งปี อินโดนีเซียอาจเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 5 หรือเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
3.3 เมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2557 ปธน. Jokowi ได้ประกาศรายชื่อ ครม. ชุดใหม่ โดยได้แต่งตั้งให้นาย Soyfan Djalil เป็น รมต. ประสานงานด้านเศรษฐกิจ กำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจจำนวน 10 กระทรวง
โดย ครม. เศรษฐกิจของนาย Jokowi ได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดีจากสื่อมวลชนและนักวิชาการ มีเพียงบางราย อาทิ นาย Saleh Husin รมว. อุตสาหกรรม หรือ นาง Rini Soemarno รมว. รัฐวิสาหกิจ ซึ่งมาจากสายการเมือง และมีประสบการณ์และภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงของตนค่อนข้างน้อย จึงต้องดูว่าเหล่า ครม. เศรษฐกิจจะมีมาตรการใดออกมาเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ และการนำนโยบายทางการเมืองของ ปธน. ที่ประกาศไว้ในช่วงหาเสียงไปปฏิบัตินอกจากจะเอื้อประโยชน์กับคนอินโดนีเซียแล้วจะเป็นประโยชน์กับนักลงทุนต่างชาติมากน้อยแค่ไหน เพราะในชั้นนี้ พิสูจน์แล้วว่า อินโดนีเซียยังต้องพึ่งการลงทุนต่างชาติอย่างมาก ซึ่งนโยบายสำคัญประการหนึ่งที่ ปธน. ประกาศ คือ การเป็นแกนอำนาจทางทะเล (maritime axis) ซึ่งได้รับการขานรับจากกระทรวงต่างๆ ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ โดยเฉพาะกระทรวงกิจการทางทะเลและประมง ซึ่งจะดำเนินมาตรการต่างๆ หลายมาตรการเพื่อส่งเสริมให้ชาวประมงอินโดนีเซียมีความเป็นนักธุรกิจมากขึ้น แต่ก็จะทบทวนการอนุญาตทำประมง ซึ่งก็จะส่งผลกระทบกับนักลงทุนต่างชาติ เช่น ไทย ซึ่งทำให้จับสัญญาณได้ว่า มีความเป็นไปได้ว่านโยบายอื่นๆ ที่เป็นนโยบายหลักของ ปธน. เมื่อนำไปแปรปฏิบัติ กระทรวงฯ ต่างๆ จะใช้แนวชาตินิยมจับ และอาจสร้างความวิตกกับนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น จะส่งผลเชิงลบกับอินโดนีเซียมากกว่าผลดี เช่นไตรมาส 3 ที่ขยายตัวลดลงก็เพราะภาคการลงทุนลดลงทำให้เศรษฐกิจขยายตัวลดลง เป็นต้น
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา