รายงานเศรษฐกิจ ปี 2558

ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 2/2558

1. ภาพรวมเศรษฐกิจ

1.1 ดัชนีทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงขยายตัวลดลงต่อเนื่อง โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาสที่ 2/2558 เศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียงร้อยละ 4.3 (จากเดิมขยายตัวร้อยละ 4.7) ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวรายไตรมาสในอัตราที่ต่ำที่สุดอีกครั้ง นับตั้งแต่ปี 2552 การบริโภคภายในประเทศยังไม่ปรับตัวดีขึ้นแม้ว่าในช่วงปลายไตรมาสจะตรงกับเทศกาลถือศีลอด ซึ่งเป็นช่วงที่ปกติแล้วจะมีการจับจ่ายสูงสุดก็ตาม เนื่องจากประชาชนยังคงไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ จึงชะลอการจับจ่ายและการลงทุน กอปรกับอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง (ร้อยละ 7.26) ทำให้ประชาชนมีอำนาจในการจับจ่ายน้อยลง นอกจากนี้ การลงทุนโดยภาครัฐและโครงการต่างๆ ยังคงไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

1.2 การค้าและการลงทุน

อินโดนีเซียยังคงได้ดุลการค้าต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ติดต่อกัน ทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 อินโดนีเซียได้ดุลการค้ารวม 4.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการนำเข้าที่ลดลงต่อเนื่อง ในขณะที่การส่งออกกระเตื้องขึ้นเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งปีแรกอินโดนีเซียส่งออกลดลงร้อยละ 11.86 ซึ่งยังคงห่างไกลจากเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ว่าการส่งออกจะขยายตัวร้อยละ 28 ในปีนี้ ทั้งนี้ การส่งออกที่ลดลงทำให้ภาคการผลิตชะลอตัว และทำให้การจ้างงานลดลงตามไปด้วย โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาค อุตสาหกรรม (Production Capacity Utilization) ของอินโดนีเซียในไตรมาส 1/2558 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 73.06 (ลดลงจากร้อยละ 79.78 ในไตรมาสก่อน) อย่างไรก็ดี การลงทุนจากต่างชาติในอินโดนีเซียยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ในไตรมาสที่ 2 นี้ การลงทุนขยายตัวร้อยละ 16.2 ในขณะที่ FDI ขยายตัวร้อยละ 18.2 อย่างไรก็ดี มูลค่า FDI เมื่อคำนวณเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐจะมีมูลค่าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินรูเปียห์

1.3 การเงินและการคลัง

การนำเข้าที่ลดลงในไตรมาสนี้ น่าจะช่วยลดการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด (คาดว่าจะขาดดุลคิดเป็นร้อยละ 2.3 ของ GDP) เนื่องจากมีการนำเข้าลดลงกว่าร้อยละ 17.8 เงินสกุลรูเปียห์ยังคงอ่อนค่าต่อเนื่อง ในช่วงสิ้นสุดไตรมาสอยู่ที่ 13,332 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินรูเปียห์ได้รับการจัดอันดับเป็น second worst performing currency ในเอเชีย รองจากเงินสกุลริงกิตมาเลเซีย ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Jakarta Composite Index (JCI) ลดลงร้อยละ 11 ในไตรมาส 2/2558 เป็นอัตราการเติบโตรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2551 และเป็น worst performer ในเอเชีย

2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ

2.1 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศรัฐบาลได้ออกมาตรการที่สำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย

(1) การประกาศยกเลิกการเก็บภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยในสินค้าอุปโภคบริโภค อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์กีฬา สินค้าแบรนด์เนม แต่ยังคงภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยสำหรับสินค้าบางรายการ เช่น เครื่องบิน เรือยอชท์ รถยนต์หรู สุรา และอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่

(2) การเพิ่มอัตรารายได้ขั้นต่ำที่ต้องเสียภาษี (taxable income) เป็น 36 ล้านรูเปียห์ต่อปี จากเดิมกำหนดให้ผู้ที่มีรายได้ 24.3 ล้านรูเปียห์ต่อปี ต้องเสียภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 20 โดยใช้บังคับสำหรับเงินรายได้ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2558

(3) ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศลดสัดส่วนเงินดาวน์ต่อสินเชื่ออหังสาริมทรัพย์ รถยนต์ และรถจักรยานยนต์ (loan-to-value ratio – LTV) กล่าวคือ จากเดิมผู้ซื้อบ้านหลังแรก ขนาดมากกว่า 70 ตรม. สามารถจ่ายเงินดาวน์ในอัตราร้อยละ 20 ของราคาอสังหาริมทรัพย์ (เดิมร้อยละ 30) ทั้งนี้ ธนาคารที่ปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ภายใต้เงื่อนไขนี้จะต้องมีสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (non-performing loan – NPL) ต่ำกว่าร้อยละ 5 เท่านั้น

นอกจากนี้ ปธน. Jokowi ได้เห็นชอบในหลักการให้ผ่อนปรนข้อจำกัดในการถือครองห้องชุดของคนต่างชาติ โดยอนุญาตให้บุคคลธรรมดาต่างชาติซื้อห้องชุดที่มีมูลค่ามากกว่า 375,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีสิทธิในการใช้อาคารเท่านั้น (ไม่รวมถึงที่ดิน) เป็นเวลา 25 ปี


Loan-to-value rations

Property

Types PREVIOUS REVISED
1st purchase 2nd purchase 3rd purchase 1st purchase 2nd purchase 3rd purchase
Landed house, > 70 sqm 70% 60% 50% 80% 70% 60%
Flat/apt,> 70 sqm 70% 60% 50% 80% 70% 60%
Landed house, 22-70 sqm - 70% 60% - 80% 70%
Flat/apt, 22-70 sqm 80% 70% 60% 90% 80% 70%
Landed house, 21 sqm - - - - - -
Flat/apt, 21 sqm - 70% 60% - 80% 70%
Shop house - 70% 60% - 80% 70%

Automotive

Types PREVIOUS REVISED
Bank Bank
Commercial Sharia Commercial Sharia
Two wheels 75% 75% 80% 80%
Non-productive, three or more wheels 70% 70% 75% 75%
Productive, Three or more wheels 80% 80% 80% 80%

Source: Bank Indonesia (BI), June 2015.


2.2 มาตรการบังคับใช้เงินสกุลรูเปียห์ในการททำธุรกรรมในประเทศ

(ระเบียบธนาคารกลางอินโดนีเซีย ที่ 17/3/PBI/2015 มีผลบังคับใช้เมื่อ 1 ก.ค. 2558) มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอุปสงค์เงินดอลลาร์สหรัฐในตลาดในประเทศ และเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งและเสถียรภาพของเงินสกุลรูเปียห์ อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวได้รับผลตอบรับทั้งทางบวกและทางลบ เนื่องจากทั้งภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจต่างใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐในการบริหารต้นทุน เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินรูเปียห์ นอกจากนี้ นักวิเคราะห์เอกชนมองว่า ธุรกรรมในรูปของเงินสกุลต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 11-12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งไม่มากพอที่จะมีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน

2.3 มาตรการกระตุ้นรายได้จากการท่องเที่ยว

รัฐบาลได้ออก พรฎ. ที่ 69/2015 ยกเว้นการ ตรวจลงตราให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง 45 ประเทศ ที่มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางเพื่อการท่องเที่ยว (ส่วนมากเป็นประเทศในยุโรปและตะวันออกกลาง รวมถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รัสเซีย สหรัฐฯ แคนาดา นิวซีแลนด์ แต่ไม่รวมออสเตรเลีย) โดยสามารถพำนักในอินโดนีเซียได้ไม่เกิน 30 วัน มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่ 10 มิ.ย. 2558 ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนอินโดนีเซีย จำนวน 10 ล้านคนในปี 2558 ตามเป้าหมายที่วางไว้

3. ข้อสังเกตและข้อคิดเห็น

3.1 สถานเอกอัครราชทูตเห็นว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด

ทั้งที่สะท้อนจากดัชนีต่างๆ และจากข้อคิดเห็นของสาธารณชนโดยทั่วไป โดยคาดว่าภาวะเศรษฐกิจทั้งปีของอินโดนีเซียไม่น่าจะขยายตัวเกินร้อยละ 5 ตามที่สถาบันการเงินต่างๆ ได้ปรับลดการคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจอินโดนีเซียลงทั้งหมด เนื่องจากปัจจัยภายนอกที่สถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังคงชะลอตัว ในขณะที่ปัจจัยภายในยังคงเดิม ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งไม่มีความคืบหน้า อัตราดอกเบี้ยยังคงสูง หรือความล่าช้าของการเบิกจ่ายและการลงทุนในโครงการสำคัญๆ ของภาครัฐ โดยภาครัฐได้แสดงความคาดหวังว่าจะมีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรมเด่นชัดในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ซึ่งน่าจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศได้

3.2 รัฐบาลอินโดนีเซียทราบดีว่าภาวะการชะลอตัวของภาคผลิตและภาคอุตสาหกรรม

จะส่งผลต่อเนื่องไปสู่ผลประกอบการของธุรกิจ รายได้ครัวเรือน และการจับจ่ายภายในประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศ จึงได้พยายามออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายประการในช่วงไตรมาสนี้ โดยเฉพาะเพื่อกระตุ้นการจับจ่ายในช่วงเทศกาลถือศีลอด อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวอาจยังไม่เห็นผลในระยะอันสั้น กอปรกับความรู้สึกของประชาชนที่ไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจ จึงทำให้การบริโภคในประเทศยังคงชะลอตัว จึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลที่จะต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นของประชาชน ควบคู่ไปกับการกำกับดูแล และการดำเนินนโยบายที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวต่อไป


6 สิงหาคม 2558
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา