รายงานเศรษฐกิจ ปี 2559
ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียประจำไตรมาสที่ 2/2559
1. ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซีย ประจำไตรมาส 2/2559
1.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียในไตรมาสนี้เติบโตที่อัตราร้อยละ 5.18
สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น โดยรัฐบาลอินโดนีเซียยังคงคาดการณ์ว่าอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทั้งปีจะอยู่ที่ร้อยละ 5.2 ตามเดิม
1.2 การค้าและการลงทุน
อินโดนีเซียยังคงได้ดุลการค้าอย่างต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน โดยนับแต่เดือน ม.ค.-มิ.ย. 2559 อินโดนีเซียได้ดุลการค้าประมาณ 3,590 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าลดลงทั้งสองประเภท แต่การส่งออกลดลงอย่างมากถึงประมาณร้อยละ 35 (YoY) หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 69,510 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการส่งออกสินค้าเหมืองแร่ สินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม (manufactured goods) อื่นๆ เติบโตลดลงในอัตราร้อยละ 23.7 / 18.1 และ 4.73 ตามลำดับ ในขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 65,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ 10.08 (YoY) โดยในส่วนของการนำเข้านั้น การนำเข้าสินค้าทุนและวัตถุดิบในการผลิตในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 15.31 และร้อยละ 12.23 ตามลำดับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การลงทุนในอินโดนีเซียขยายตัวได้ดีตามที่ Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM) ได้ตั้งเป้าไว้ โดยในไตรมาสนี้มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 151.6 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 (YoY) ซึ่งอัตราการเติบโตลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2559 ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ 99.4 ล้านล้านรูเปียห์ หรือขยายตัวร้อยละ 7.9 (YoY) ในขณะที่การลงทุนในประเทศขยายตัวอย่างมาก ที่อัตราร้อยละ 21.7 หรือคิดเป็นมูลค่า 52.2 ล้านล้านรูเปียห์
แม้มูลค่าการส่งออกและการนำเข้าจะลดลง แต่การลงทุนในอินโดนีเซียยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสนี้มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 146.5 ล้านล้านรูเปียห์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.6 (YoY) ในจำนวนนี้เป็นการลงทุนจาก ตปท. 96.1 ล้านล้านรูเปียห์ หรือขยายตัวร้อยละ 17.1 (YoY) โดยไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 7 ของนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด (นักลงทุนต่างชาติ 4 ลำดับแรก ได้แก่ สป. ญี่ปุ่น ฮ่องกง และจีน จากเดิมในปี 2558 นักลงทุน 4 ลำดับแรก ได้แก่ สป. มซ. ญี่ปุ่น และเนเธอร์แลนด์) ทั้งนี้ ตัวเลขการลงทุนเป็นไปตามที่ Indonesia Investment Coordinating Board (BKPM) ได้ตั้งเป้าไว้
1.3 การเงินและการคลัง
รัฐบาลอินโดนีเซียประสบความสำเร็จในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อไว้ได้ แม้ว่าในช่วงเดือน มิ.ย. 2559 จะเป็นช่วงเทศกาลถือศีลอดซึ่งโดยปกติเป็นช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าปกติอยู่แล้ว โดยในไตรมาสนี้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 3.45 ลดลงจากไตรมาสเดิมซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.45 ส่วนหนึ่งมาจากการตรึงราคาน้ำมันขายปลีก และราคาหอมแดงในปีนี้ที่ไม่ปรับสูงขึ้นมากนัก แม้ว่าราคาอาหารอื่นๆ จะปรับสูงขึ้นในช่วงเทศกาลก็ตาม นอกจากนี้ ในไตรมาสนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้ง โดยปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 6.5 เพื่อลดต้นทุนด้านสินเชื่อและเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เงินสกุลรูเปียห์มีความผันผวนอยู่ในช่วง 13,100-13,600 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเมื่อสิ้นสุดไตรมาสที่ 2/2559 แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 13,180 รูเปียห์ต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการแข็งค่าของเงินสกุลรูเปียห์ดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งซึ่งช่วยให้เงินสำรองระหว่างประเทศของอินโดนีเซียปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 109,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. มาตรการทางเศรษฐกิจที่สำคัญ
2.1 ธนาคารกลางอินโดนีเซียยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง อาทิ
- ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ในเดือน มิ.ย. 2559
- ประกาศใช้นโยบายใหม่ในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยจะใช้อัตรา 7-day Repo Rate แทนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมบอร์ดของธนาคารกลางอินโดนีเซียเดือนละครั้ง (BI Rate) ตามที่เคยปฏิบัติกันมา โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียได้ประกาศอัตรา 7-day Repo Rate ควบคู่กับการประกาศอัตราดอกเบี้ยนโยบายเดิม (BI Rate) ซึ่ง 7-day Repo Rate มีอัตราต่ำกว่า BI Rate ประมาณร้อยละ 1 ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียจะเริ่มใช้การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ดังกล่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 19 ส.ค. 2559
- ได้ประกาศปรับเพิ่มสัดส่วนเงินกู้ต่อราคาสินทรัพย์ (Loan-to-Value ratio – LTV) โดยลดจำนวนเงิน down payment ในการซื้อบ้านลงร้อยละ 5 ซึ่งมาตรการนี้จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน ส.ค. 2559
2.2 มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ในไตรมาสนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมอีก 1 ชุด คือ ชุดที่ 12 เน้นการเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ (ease of doing business) อาทิ การลดจำนวน ระยะเวลา และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในการขอใบอนุญาตต่างๆ ในการจัดตั้งธุรกิจ/การดำเนินธุรกิจ ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการจัดลำดับด้าน ease of doing business ของธนาคารโลก ซึ่งอินโดนีเซียอยู่ในลำดับที่ 109 ซึ่ง ปธน. Jokowi ต้องการให้อินโดนีเซียขยับขึ้นมาอยู่ในลำดับที่ 60-70 ในอีก 2 ปีข้างหน้า
2.3 Tax Amnesty
เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2559 รัฐสภาอินโดนีเซียได้ผ่านร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทางภาษี (Tax Amnesty) โดยรัฐบาลอินโดนีเซียมุ่งหวังให้กฎหมายดังกล่าวเปิดทางให้นักธุรกิจอินโดนีเซียนำเงินทุนที่อยู่ในต่างประเทศกลับเข้ามายังอินโดนีเซียโดยตั้งเป้าว่าจะสามารถดึงเงินกลับเข้าประเทศได้มากถึง 1,000 ล้านล้านรูเปียห์ ซึ่งจะทำให้รัฐบาลเก็บภาษีได้เพิ่มเติมถึง 165 ล้านล้านรูเปียห์ (ประมาณ 12,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งจะช่วยให้ภาวะการขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลอินโดนีเซียดีขึ้น ภายใต้โครงการนี้ ผู้ที่แจ้งว่ามีสินทรัพย์อยู่ต่างประเทศ และ/หรือประสงค์จะนำเงินกลับเข้ามายังอินโดนีเซียจะได้รับการยกเว้นการตรวจสอบ/ดำเนินคดีต่อที่มาของสินทรัพย์ดังกล่าว โดย รบ.อินโดนีเซียกำหนดอัตราภาษีที่ต้องจ่ายต่ำเพียงร้อยละ 2-10 เท่านั้น สำหรับผู้ที่แจ้งความจำนงเข้าร่วมโครงการภายในเดือน มี.ค. 2560 (อัตราภาษีต่างกันตามช่วงเวลาที่แจ้งความจำนง) โดยรัฐบาลอินโดนีเซียให้การรับประกันว่าข้อมูลส่วนบุคคลต่างๆ จะเป็นความลับและได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายอย่างไรก็ดี สินทรัพย์ที่นำกลับเข้ามาในอินโดนีเซียจะต้องนำมาลงทุนในอินโดนีเซียเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี
3. ข้อคิดเห็น
3.1 เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
การปฏิรูปทางเศรษฐกิจและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอินโดนีเซียยังคงไม่ส่งผลเป็นรูปธรรมตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ อย่างไรก็ดี การลงทุนยังคงดำเนินไปตามเป้า และภาคการท่องเที่ยวเริ่มมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการประกาศยกเว้นการตรวจลงตราให้กับผู้ถือหนังสือเดินทางประเทศต่างๆ มากขึ้น รวมถึงออสเตรเลีย ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวสำคัญอันดับต้นของอินโดนีเซียโดย รบ.อินโดนีเซียหวังว่าจะมีนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ในปีนี้
3.2 รัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญกับโครงการ Tax Amnesty เป็นอย่างมาก
โดย ปธน. Jokowi ถือว่าเป็นนโยบายหลักที่ รมต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกแห่งจะต้องให้ความสำคัญและผลักดันเป็นลำดับต้น เห็นได้ชัดในการปรับ ครม. ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2559 ซึ่งในการแต่งตั้งนาง Sri Mulyani เป็น รมว. คลังคนใหม่ ปธน. ได้มอบภารกิจชัดเจนให้นาง Mulyani ในการดำเนินโครงการนี้ให้สำเร็จลุล่วง และนาง Mulyani ได้เรียกประชุม จนท. สนง. ภาษีทันทีในวันแรกที่เริ่มงาน โดย รบ.อินโดนีเซียคาดหวังว่าเงินภาษีเพิ่มเติมเหล่านี้จะช่วยกู้สถานการณ์การขาดดุล งปม. ของปี งปม. 2559 ได้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์และภาคเอกชนยังคงตั้งคำถามกับเป้าหมายที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าไว้ว่าโครงการ Tax Amnesty จะสามารถดึงเงินกลับเข้าประเทศมากถึง 1,000 ล้านล้านรูเปียห์ เนื่องจาก
- เงื่อนไขและข้อจำกัดในการนำเงินดังกล่าวกลับมาลงทุนในอินโดนีเซีย
- เอกชนยังคงไม่มั่นใจว่าข้อมูลที่แจ้งต่อทางการจะเป็นความลับจริงหรือไม่ และจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในภายหลังหรือไม่
- มาตรการจูงใจทางภาษีจากโครงการใช้ได้เฉพาะในขั้นตอนนำเงินดังกล่าวกลับเข้าประเทศ เท่านั้น ในขณะที่รายได้ที่เกิดจากการลงทุนในอนาคตจะถูกเก็บภาษีในอัตราที่สูง
- เหตุจูงใจที่นักลงทุน นำเงินไปลงทุน offshore มีมากกว่าการหลบเลี่ยงภาษี แต่รวมถึงการกระจายความเสี่ยง ความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นต้น
3.3 ในขณะนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียกำลังประสบปัญหาการขาดดุล งปม.
เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ตามเป้า โดยสิ้นสุดไตรมาส 2/2559 สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงร้อยละ 33 ของเป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น ทำให้หน่วยงานต่างๆ ต้องรัดเข็มขัด ถูกตัด งปม. และชะลอโครงการและการก่อสร้างต่างๆ ที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนออกไปก่อน ส่งผลต่อเนื่องทำให้การลงทุนของภาครัฐไม่สามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ตามที่ เคยคาดการณ์ไว้ ดังนั้น หากโครงการ Tax Amnesty ไม่สามารถดึงเงินลงทุนกลับเข้ามายังอินโดนีเซียได้ตามเป้า รัฐบาลอินโดนีเซียอาจประสบปัญหาการขาดดุล งปม. เกินกว่าเพดานที่กฏหมายอนุญาต คือ ร้อยละ 3 ของ GDP จากปัจจุบันที่รัฐบาลอินโดนีเซียได้คาดการณ์ไว้ในการปรับปรุง งปม. ปี 2559 ล่าสุดว่าน่าจะขาดดุล งปม. ที่ร้อยละ 2.4 ในขณะที่นักวิเคราะห์เอกชนคาดว่าอาจขาดดุลมากถึงร้อยละ 2.9
3.4 ด้านแนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลรูเปียห์นั้น นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าเงิน รูเปียห์น่าจะแข็งค่าขึ้นในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2559 เนื่องจาก
- จะมีเงินทุน ตปท. ไหลเข้าสู่ตลาดอินโดนีเซียเป็นจำนวนมากจากโครงการ Tax Amnesty แม้ว่าอาจจะไม่มากเท่าที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งเป้าไว้ก็ตาม
- นักลงทุนน่าจะยังไม่ถอนเงินลงทุนจากตลาดอินโดนีเซียและตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากสภาวะตลาดโลกยังคงมีความไม่แน่นอนจาก Brexit และดัชนี้ชี้วัดทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปรับตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะไม่ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะอันใกล้นี้
- รัฐบาลอินโดนีเซียน่าจะออกพันธบัตรเพิ่มเติมเพื่อดึงเงินมาลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดดุล งปม.
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา