ญี่ปุ่นลงทุนรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซีย

เมื่อวันที่ ๑๙ มี.ค. ๒๕๕๕ สื่อท้องถิ่น (Jakarta Globe) รายงานข่าวว่ารัฐบาลญี่ปุ่นจะเข้า มาลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงให้กับอินโดนีเซีย โดยรัฐบาลญี่ปุ่นโดยกระทรวงขนส่งภาคพื้นดิน โครงสร้างพื้นฐานและการท่องเที่ยว (Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) ตกลงร่วมมือกับรัฐบาลอินโดยนีเซียพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจาการ์ตา-บันดุง โดยญี่ปุ่นจะสนับสนุนเงินลงทุนซึ่งคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ ๕๖.๑๐ ล้านล้านรูเปียห์ (๖.๑๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในลักษณะ public-private partnership เริ่มจากทำการศึกษา (feasibility study) และลงทุนก่อสร้าง ซึ่งการรถไฟญี่ปุ่นได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ทำการศึกษาในทุกมิติ (การก่อสร้าง การจัดซื้อจัดจ้าง ภาษี สิ่งแวดล้อม ระบบรางรถไฟ ภูมิประเทศ ราคา) และคาดว่าญี่ปุ่นจะนำรถไฟความเร็วสูงความเร็ว ๒๑๐ ก.ม./ชม. เข้ามาใช้ในโครงการดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียอาจร่วมทุนด้วยเพื่อลดภาระภาษี แต่คาดว่าจะไม่ลงทุนเกินร้อยละ ๕๐ งานศึกษาจะใช้เวลาประมาณ ๒ ปี และคาดว่าโครงการจะเปิดใช้การได้ประมาณปี ๒๐๑๗-๒๐๑๘ (พ.ศ. ๒๕๖๐-๒๕๖๑)

เส้นทางรถไฟจาการ์ตา-บันดุง ระยะทางรวม ๑๔๔ ก.ม. จะหยุด ๖ สถานี คือ จาการ์ตา เบงกาซี คาราวัง สนามบินคาราวัง และ ๒ สถานีที่บันดุง (Jakarta-Bekasi, Karawang, New Airport at Karawang, 2 stations in Bundung) ซึ่งเส้นทางรถไฟดังกล่าวจะย่นเวลาเดินทางจากจาการ์ตา-บันดุงจากเดิมใช้เวลา ๓ ชั่วโมง (รถไฟ) หรือ ๒ ชั่วโมง (รถยนต์) เหลือเพียง ๓๐ นาที ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจะลงทุนรถไฟความเร็วสูงเส้นทางจาการ์ตา-สุราบายาด้วย แต่ขณะนี้ จะเริ่มดำเนินการเส้นทางนี้ก่อน เพรามีผู้ลงทุนแล้ว คือ ญี่ปุ่น

การลงทุนดังกล่าวสอดคล้องกับแผนการลงทุนในเขต JABOTABEK ของญี่ปุ่น ที่เน้นลงทุนในเขต จาการ์ตาและปริมณฑล ซึ่งญี่ปุ่นมีโครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระบบรถไฟในเขต JABOTABEK อยู่ก่อนแล้ว เพราะฐานการลงทุนของญี่ปุ่นกระจายอยู่ในเขต JABOTABEK โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นซึ่งมีฐานในเขตคาราวัง การลงทุนครั้งนี้ จึงเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการลงทุนของญี่ปุ่นในเขตดังกล่าว แต่อินโดนีเซียก็จะได้ประโยชน์อย่างมากเมื่อโครงการแล้วเสร็จ เพราะเปลี่ยนโฉมหน้าการเป็นเมืองหลวงที่เป็นแหล่งรองรับการลงทุนของกรุงจาการ์ตา และเขตเกาะชวาอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมากรุงจาการ์ตาและเกาะชวาประสบปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน การจราจรแออัด ทำให้การสัญจรไปมาไม่สะดวก จึงไม่ได้ใช้ศักยภาพเต็มที่ แต่ด้วยรถไฟความเร็วสูงดังกล่าวจะทำให้ระยะทางจาการ์ตา-บันดุงใช้เวลาเพียง ๓๐ นาที จึงทำให้เขตความพร้อมของเมืองขยายออกไปโดยปริยาย และจะเกิดการพัฒนาธุรกิจ อุตสาหกรรมและอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทางรถไฟขยายออกไปได้ไกลถึงบันดุง โดยไม่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านการสัญจรไป-มาจากปัญหาจราจรเช่นที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการปลดล็อคปัญหาโครงสร้างพื้นฐานอย่างมีนัยสำคัญให้กับกรุงจาการ์ตา ซึ่งรวมถึง การลดการแออัดของจราจรเพราะนักลงทุนต่างชาติ หรือคนอินโดนีเซียเองอาจขยายเขตที่พักอาศัยออกไปนอกกรุงจาการ์ตามากขึ้น เพราะสามารถสัญจรมายังกรุงจาการ์ตาได้ในเวลาเพียงสูงสุดไม่เกิน ๓๐ นาที

อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีของญี่ปุ่น และทั้งสองประเทศแสดงเจตนารมณ์ทาง การเมืองร่วมกันที่จะใช้เทคโนโลยีของญี่ปุ่นในการพัฒนาประเทศในหลายสาขาสะท้อนใน Joint Press Release ระหว่าง H.E. Hatta Rajasa, Coordinating Minister for Economic Affairs กับ H.E. Yukio Edano, Minister for Economy, Trade and Industry ของญี่ปุ่นในการประชุม Indonesia-Japan Joint Economic Forum ครั้งที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๘ พ.ย. ๒๐๑๑ ที่บาหลี ที่ระบุถึงการยอมรับเทคโนโลยีญี่ปุ่น เช่น โรงไฟฟ้า ฯลฯ ดังนั้น อินโดนีเซียจึงเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่ได้ใช้เทคโนโลยีญี่ปุ่นในด้านรถไฟฟ้าความเร็วสูง ซึ่งมีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับด้านความปลอดภัยอย่างมาก ซึ่งจะเหมาะสมกับอินโดนีเซียที่อยู่ในเขตแผ่นดินไหว (ring of fire) เช่นเดี่ยวกับญี่ปุ่น เพราะที่ผ่านมาแม้ญี่ปุ่นจะประสบปัญหาแผ่นดินไหว แต่ไม่เคยปรากฏข่าวว่า ระบบรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นประสบอุบัติเหตุแต่อย่างใด ทั้งนี้ การลงทุนเรื่องรถไฟความเร็วสูงในอินโดนีเซียสาเหตุหนึ่งอาจเพราะญี่ปุ่นมองว่า เส้นทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) หรือเส้นทางรถไฟคุณหมิง-สิงคโปร์ จีนได้เข้าไปมีบทบาทนำแล้ว ซึ่งรวมถึงการขายระบบรถไฟให้กับไทยด้วย จึงหันมาให้ความสำคัญกับอินโดนีเซียแทน นอกจากนี้ ญี่ปุ่นเองก็สนใจแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) มากกว่าแนวเหนือ-ใต้


แหล่งข้อมูล:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (มีนาคม 2555)

Back to the list