อินโดนีเซียกับอาหารฮาลาล

อินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพในธุรกิจอาหารฮาลาล เพราะประชากรอินโดนีเซีย ๒๔๐ ล้านคน เป็นมุสลิมร้อยละ ๘๘
(ประมาณ ๒๑๐ ล้านคน) หรือมากกว่าร้อยละ ๑๐ ของประชากรมุสลิมโลกที่มีประมาณ ๒ พันล้านคน มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลอินโดนีเซียคิดเป็นร้อยละ ๑๐ ของตลาดอาหารฮาลาลโลก (มูลค่าตลาดอาหารฮาลาลโลกประมาณ ๖๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) นอกจากนี้ เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ ๖ ติดต่อกันหลายปี จึงทำให้ชนชั้นกลางเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กำลังการผลิตอาหารกลับลดลงเพราะพื้นที่เพาะปลูกน้อยลง จึงนับเป็นโอกาสของผู้ผลิตอาหารไทย นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมฮาลาลและประกาศจะผลักดันอินโดนีเซียขึ้นเป็นศูนย์กลางฮาลาลโลกแทนมาเลเซีย ซึ่งมีประชากรเพียง ๒๘.๙ ล้านคน และเป็นมุสลิมเพียงร้อยละ ๖๕ ในขณะที่อินโดนีเซียมีประชากรมุสลิมมากกว่าทั้งในแง่จำนวนและสัดส่วน

อินโดนีเซียกำหนดในกฎหมาย (Law 7/1996 : Food Law, Law 8/1995 : Consumer Protection Law, Law 18/2009 : Annimal Hustabndry and Health Law) ว่าอาหารที่วางจำหน่ายในอินโดนีเซียจะต้อง "ฮาลาล" ซึ่งกระทรวงเกษตร และ
กระทรวงสาธารณสุขเป็นกระทรวงหลักที่รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าว หากสินค้าอ้างว่า "ฮาลาล" จะต้องผ่านการรับรองโดย LPPOM/MUI หรือ Lembaga Pengkajian Pangan Obat-obatan dan Kosmetika / Majelis Ulama Indonesia) ซึ่งเป็นองค์กรของสภาศาสนาแห่งอินโดนีเซีย (MUI)

คนอินโดนีเซียปัจจุบัน แม้จะตระหนักถึงความเป็น "ฮาลาล" ค่อนข้างสูง (ร้อยละ ๙๒) แต่ในการ ซื้อหาอาหารกลับไม่ได้เลือกซื้อสินค้าโดยดู "ตราฮาลาล" มากนัก อาจเป็นเพราะเห็นว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องคอยตรวจสอบว่าสินค้าที่วางจำหน่าย "ฮาลาล" แล้ว อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ รัฐบาลพยามผลักดันให้เกิดมาตรฐาน "ฮาลาล" เดียวกันทั่วประเทศ โดยผลักดันให้ออกกฎหมายกำหนดให้ LPPOM/MUI เป็นองค์กรเดียวในอินโดนีเซียที่จะรับรองตราฮาลาล อย่างไรก็ตาม กฎหมายดังกล่าวยังคงไม่ได้ข้อสรุปในหลายๆ ประเด็น เช่น องค์กรรับรองควรเป็นกระทรวงศาสนา หรือ LPPOM/MUI หรือ ประเด็นต้นทุนของการออกตรารับรองฮาลาล ซึ่งขณะนี้ มีราคาประมาณ ๘๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ และมีอายุเพียง ๖ เดือน และความพร้อมในการตรวจสอบและกวดขันมาตรฐานฮาลาล ขณะนี้ อาหารฮาลาลในตลาดที่ขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยา (BPOM) จึงมีเพียง ๑ ใน ๓ ที่ถูกรับรองโดย LPPOM/MUI

กระบวนการรับรองและออกตราฮาลาลบนบรรจุภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มเป็นรายได้ทางหนึ่งขององค์กรผู้มีอำนาจในประเทศนั้นๆ โดยเฉพาะอินโดนีเซียเป็นตลาดอาหารฮาลาลขนาดใหญ่ รวมทั้งแต่ละประเทศมีมุมมองและมาตรฐานของฮาลาลที่แตกต่างกัน ดังนั้น จึงน่าจะยากที่องค์กรผู้มีอำนาจของอินโดนีเซียจะยอมรับตราฮาลาลของประเทศอื่นให้ถือเป็นมาตรฐานการเข้าตลาด ยิ่งหากคำนึงว่า อินโดนีเซียกำลังแข่งกับมาเลเซียที่มีประชากรมุสลิมน้อยกว่า แต่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ฮาลาลมาก กว่าในการเป็นศูนย์กลางฮาลาล จึงน่าจะเป็นไปได้ยากที่อินโดนีเซียจะยอมรับข้อเสนอการยอมรับมาตรฐานฮาลาลร่วมกันของอาเซียน ซึ่งมาเลเซียเป็นผู้เสนอ เพราะอินโดนีเซียจะเสียผลประโยชน์อย่างมาก ทั้งนี้ ผู้ผลิตน้ำผลไม้ทิปโกก็ได้เคยเข้าพบเจรจากับ MUI เพื่อขอให้รับตราฮาลลของไทย แต่ MUI ก็ยืนยันท่าทีเดิม ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่า ผู้ประกอบการอาหารที่ต้องการเข้าตลาดอินโดนีเซียแบบมีตราฮาลาลที่ถูกต้องจะต้องมาร่วมมือและขอรับจาก LPPOM/MUI เท่านั้น ซึ่งเนสท์เล่ ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ของโลกก็ยังต้องเข้ากระบวนการดังกล่าว

ในชั้นนี้ ผู้ส่งออกอาหารไทยยังสามารถเข้าถึงตลาดอาหารฮาลาลของอินโดนีเซีย โดยใช้ตราฮาลาลของ ไทย หรือ ในบางสินค้า เช่น อาหาร หรือ เครื่องดื่มที่ชัดเจนว่าไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากหมู หรือแอลกอฮอล์ ก็ถือเป็นฮาลาลและวางจำหน่ายได้ โดยไม่ต้องระบุว่า "ฮาลาล" เพราะหากระบุว่า "ฮาลาล" จะประสบปัญหาอย่างมาก เพราะจะต้องไปผ่านกระบวนการตรวจสอบของ LPPOM/MUI ใหม่ทั้งหมด โดยไม่ได้ดูว่ามีตราฮาลาลไทยหรือไม่ เพราะตามกฎหมายอินโดนีเซีย (กฎกระทรวงสาธารณสุข) ระบุว่า การตรวจพิสูจน์และออกตราฮาลาลต้องทำโดย LPPOM/MUI เท่านั้น แต่วิธีดังกล่าวสามารถกระทำได้จนกว่ากฎหมายฮาลาลที่กำหนดชัดเจนว่า LPPOM/MUI (หรือกระทรวงศาสนา) เป็นผู้เดียวที่มีอำนาจให้ตราฮาลาลและอนุญาตให้อาหารฮาลาลวางจำหน่ายในอินโดนีเซียออกมาบังคับใช้

ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร. วินัย ดะห์ลัน มีความสัมพันธ์อันดีอย่างมากกับ MUI และอยู่ระหว่างการจัดทำ MOU ระหว่างกัน เพื่อรับรองว่า การตรวจของศุนย์ฯ และตราฮาลาลไทยได้มาตรฐาน ซึ่งผู้ประกอบการไทยที่ได้ตราฮาลาลยังคงต้องมาขอรับตราฮาลาลของ MUI แต่ไม่ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการตรวจใหม่ ซึ่งจะลดเวลาลง นอกจากนี้ ศูนย์ฯ ยังมีความสัมพันธ์กับกระทรวงศาสนา และได้ให้ความช่วยเหลือทางวิชาการจัดฝึกอบรมเรื่องมาตรฐานการตรวจพิสูจน์ให้ ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญ เพราะเมื่อเทคโนโลยีการตรวจพิสูจน์ที่อินโดนีเซียใช้เป็นเทคโนโลยีของไทยก็ย่อมช่วยให้สินค้าที่ได้รับตราฮาลาลไทยจะผ่านการตรวจสอบได้สะดวกขึ้น ซึ่งเป็นการลดปัญหาทางหนึ่ง แทนการยอมรับตราฮาลาล ซึ่งเป็นไปได้ยากที่อินโดนีเซียจะยอมรับ

ในอนาคตผู้ประกอบการอาหารไทย หากประสงค์จะขยายฐานอาหารฮาลาลไปยังตลาดฮาลาลโลก อาจมองการใช้อินโดนีเซียเป็นฐานผลิตโดยใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน และอาเซียนกับประเทศต่างๆ เป็นเครื่องมือช่วยเหลือ เช่น นำเข้าวัตถุดิบจำเป็นจากไทยไม่ต้องเสียภาษี หรือต่อไปหากอาเซียนมีความตกลงการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (ASEAN-GCC FTA) หรือกับปากีสถานก็จะช่วยเสริมได้มากขึ้น


แหล่งข้อมูล:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (เมษายน 2555)

Back to the list