กฎหมายการใช้เรืออินโดนีเซียในการขนส่งในน่านน้ำ สำหรับอุตสาหกรรมขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ
อินโดนีเซียเป็นประเทศหมู่เกาะจึงมีเขตอาณาทางทะเลและพื้นที่นอกชายฝั่งครอบคลุม บริเวณกว้าง รวมทั้งมีแหล่งทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลให้สัมปทานขุดเจาะทั้งในบริเวณชายฝั่งและนอกชายฝั่งจึงมีความต้องการใช้เรือขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในเขตน่านน้ำดังกล่าวอย่างมาก แต่อุตสาหกรรมพาณิชย์นาวีอินโดนีเซีย ยังขาดความพร้อมทั้งทางทางเทคโนโลยีและเงินทุน สำหรับ supply boat ในกิจกรรมสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอินโดนีเซียกองเรือต่างชาติจึงได้รับความนิยมและถูกเลือกใช้เป็นส่วนใหญ่
ตั้งแต่ปี 2005 ปธน. ได้ออกคำสั่งที่ 2/2005 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีโดยให้ กระทรวงฯ / จังหวัดและหน่วยงานต่างๆ นำหลักการบังคับใช้เรืออินโดนีเซียในน่านน้ำอินโดนีเซีย (cabotage principle) มาใช้ และในปี 2008 อินโดนีเซียจึงออกฎหมายพาณิชยนาวี (Law 17/2008) ระบุให้ใช้เรือและลูกเรืออินโดนีเซียสำหรับการขนส่งในน่านน้ำอินโดนีเซีย แต่ทั้งนี้ ไมใด้กีดกันต่างชาติข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมพาณิชยนาวี โดยสามารถเข้ามาลงทุนและถือหุ้นได้ถึงร้อยละ 49 รวมทั้ง หากมีเรือจดทะเบียนสัญชาติอื่นให้นำมาแปลงสัญชาติเป็นอินโดนีเซีย ซึ่งกฎระเบียบดังกล่าวครอบคลุมถึงกิจกรรมต้นน้ำ (upstream) และปลายน้ำ (downstream) ของอุตสาหกรรมสำรวจและขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียยังขาดเรือ supply boat สนับสนุนเป็นจำนวนมากเพราะเรือท้องถิ่นไม่มีเทคโนโลยีเพียงพอ รัฐบาลจึงออกกฎระเบียบเลขที่ 22/2011ขยายระยะเวลาสำหรับการบังคับใช้ cabotage principle กับกิจกรรมการสำรวจและขุดเจาะ ซึ่งรวมทั้งขนส่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อลดการขาดแคลนเรือ support boat แต่ผู้ประกอบการจะต้องขอรับอนุญาตจากกระทรวงคมนาคมก่อน
กระทรวงคมนาคมได้ออกกฎกระทรวง (PM 48/2011 ลว. 18 เม.ย. ค.ศ. 2011 Procedures and requirement to grant on the use of foreign vessels for other activities that do not include activities of transporting passengers and/or goods in the domestic sea ยกเว้นให้เรือต่างชาติสามารถรับขนในกิจกรรม 5 ประเภทจนถึงระยะเวลาต่อไปนี้ (1) oil and gas survey จนถึง ธ.ค. 2014 (2) drilling จนถึง ธ.ค. 2015 (3) offshore construction จนถึง ธ.ค. 2013 – 2014 แล้วแต่ประเภทเรือ (4) offshore operation support จนถึง ธ.ค. 2012 (5) dredging and salvage and underwater work จนถึง ธ.ค. 2013 โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นเอกสารประกอบตามที่ระบุในกฎกระทรวงต่อ อธ. กรมการขนส่งทางทะเลเพื่อขอรับการอนุมัติจากรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ การตีความโดยกฎกระทรวงฯ ข้างต้นหมายความถึงเรือต่างชาติที่ให้บริการบรรทุกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติด้วย
อย่างไรก็ตาม มาตรการทางกฎหมายดังกล่าว ยังไม่เพียงพอต่อการเพิ่มขีดความสามารถใน การแข่งขันให้กับผู้ประกอบการอินโดนีเซีย (ที่ใช้เรือสัญชาติอินโดนีเซีย) เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 10 และภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเรือร้อยละ 10 จากผู้ประกอบการจึงทำให้ต้นทุนการให้บริการสูงกว่าผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งไม่ต้องเสียภาษีดังกล่าว (อาจเป็นเพราะจดทะเบียนในประเทศที่ยกเว้นภาษีต่างๆ เช่น สิงคโปร์) ซึ่งคล้ายคลึงกับผู้ประกอบไทย ขณะนี้ สมาคมเจ้าของเรืออินโดนีเซีย (Indonesian National Ship owners' Association - INSA) จึงอยู่ระหว่างเสนอให้รัฐบาลยกเว้นการจัดเก็บภาษีดังกล่าวแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการเจรจากับกระทรวงการคลังต่อไป
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (กุมภาพันธ์ 2555)