รัฐบาลอินโดนีเซียขยายเวลาการอนุโลมการส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุงบางชนิดออกไปอีก 5 ปี
เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2560 รัฐบาลอินโดนีเซียได้ออกระเบียบที่ 1/2017 เพื่อแก้ไขระเบียบว่าด้วยการอนุโลมการส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุงบางชนิดเดิมเมื่อปี ค.ศ.2014 และกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ อินโดนีเซีย ได้ออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ เพื่อกำหนดรายละเอียดและประเด็นด้านเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้ระเบียบดังกล่าว สาระสำคัญ ดังนี้
1) ขยายระยะเวลาการอนุโลมให้มีการส่งออกสินแร่บางชนิดที่ยังไม่ผ่านการถลุง และอนุโลมสินแร่เพิ่มเติม ได้แก่ นิกเกิล และบอกไซต์ เป็นเวลา 5 ปี โดยกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่จะออกคำแนะนำเพื่อการส่งออก (export recommendation) ภายใต้เงื่อนไข เช่น ผู้ประกอบการเหมืองแร่จะต้องสร้างโรงถลุงภายใน 5 ปี หรือต้องแสดงความจำนงอย่างเป็นรูปธรรม เช่น มีการลงทุนในโรงถลุง โดยจะมีการประเมินทุก 6 เดือน นอกจากนี้ ผู้ผลิตนิกเกิลจะต้องส่งมอบนิกเกิลคุณภาพต่ำ (มีสัดส่วนแร่นิกเกิลร้อยละ 1.7 หรือต่ำกว่า) ให้โรงถลุงในประเทศ อย่างน้อยร้อยละ 30 ของศักยภาพการถลุงของโรงถลุงนิกเกิลรวมทั้งประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตบอกไซต์สามารถส่งออกบอกไซต์เกรดร้อยละ 42 หรือมากกว่า
2) ผู้ผลิตแร่ที่ต้องการส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการถลุง จะต้องเปลี่ยนใบอนุญาตจาก contract of work เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการเหมืองแร่แบบพิเศษ (Special Mining Business Permit - IUPK) ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ของเอกชนใน IUPK จะน้อยกว่าใน contract of work อย่างไรก็ดี รัฐบาลมีนโยบายไม่ต่อใบอนุญาตประเภท contract of work อีกต่อไป
3) ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ต่างชาติจะต้องลดสัดส่วนการถือครองหุ้นลง โดยกำหนดให้ระบายหุ้นให้นักลงทุนท้องถิ่นอย่างน้อยร้อยละ 51 ภายใน 10 ปี
4 ) ผู้ประกอบการสามารถยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตการประกอบกิจการเหมืองแร่ได้ล่วงหน้า 5 ปี จากเดิม 2 ปี
การอนุโลมให้มีการส่งออกแร่นิกเกิลและบอกไซต์ในครั้งนี้ เป็นประโยชน์โดยตรงต่อบริษัท Aneka Tambang (Antam) รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตนิกเกิลรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการห้ามการส่งออกเมื่อปี 2557 และคาดว่าจะสามารถเริ่มส่งออกนิกเกิลที่คงค้างอยู่ในสต๊อกกว่า 70,000 ตันต่อปี ทั้งนี้ อซ. สามารถผลิตนิกเกิลประมาณ 17 ล้านตันต่อปี โดยส่วนมากเป็นนิกเกิลคุณภาพต่ำ โดยเดิมในปี 2557 เป็นผู้ส่งออกนิกเกิลประมาณร้อยละ 18-20 ของความต้องการตลาดโลก
อนึ่ง โดยที่รัฐบาลยังคงประสบปัญหา งปม. ขาดดุล และการจัดเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า การออกระเบียบครั้งนี้จึงเป็นความพยายามของ รบ. อซ. ในการหารายได้เข้ารัฐมากขึ้น ผ่านการฟื้นฟูเศรษฐกิจสาขาเหมืองแร่ ซึ่งเป็นสาขาสำคัญที่สร้างรายได้จากการส่งออกและรายได้ที่ไม่ใช่ภาษีให้กับรัฐบาลโดยมุ่งหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจในท้องถิ่น และเพิ่มการจ้างแรงงาน โดยเฉพาะในกาลิมันตันและ สุมาตรา อีกทางหนึ่งด้วย
อย่างไรก็ดี การออกระเบียบครั้งนี้ เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบและการบังคับใช้กฎระเบียบของอินโดนีเซียอย่างชัดเจน ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติประสบและเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขมาโดยตลอด ทั้งนี้ เมื่อคำนึงว่ารัฐบาลออกกฎหมายเหมืองแร่ฉบับแม่บทมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2009 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน แต่ได้มีการออกระเบียบแก้ไขมาแล้วถึง 4 ครั้ง และใน 2 ครั้งหลังสุด ปธน. SBY และ ปธน. Jokowi ลงนามในร่างระเบียบในคืนวันสุดท้ายก่อนระเบียบเดิมจะสิ้นสุดการบังคับใช้ ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากภาคเอกชนจะยังคงลังเลที่จะลงทุนด้านการพัฒนาโรงถลุงแร่ในประเทศ เพราะในอนาคต ย่อมมีความเป็นไปได้ที่ในท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียอาจจะเปลี่ยนท่าทีและแนวนโยบาย หากได้รับการกดดันอย่างหนัก หรือมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจอื่นๆ รุมเร้า