ความร่วมมือในการเปิดบริการชำระเงินผ่าน QR Code ระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทย กับธนาคารกลางอินโดนีเซีย Bank Indonesia
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 Bank Indonesia (BI) ออกแถลงการณ์ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า ทั้งสองธนาคารได้เริ่มการเชื่อมโยงระบบชำระเงินระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ผ่านการใช้ QR Code สรุปสาระสำคัญดังนี้
1) การดำเนินการครั้งนี้ นับเป็นการเชื่อมโยงระบบการชำระเงินสำหรับรายย่อย (retail payment system) ครั้งแรกระหว่างทั้ง 2 ประเทศ ซึ่งจะสามารถทำให้ผู้บริโภคและผู้ขายสินค้าในไทยและอินโดนีเซียสามารถชำระเงินค่าสินค้า/บริการผ่าน QR Code และเป็นก้าวสำคัญของข้อริเริ่มการเชื่อมโยงการชำระเงินในอาเซียน (ASEAN Payment Connectivity Initiative)
2) ปัจจุบัน ระบบนี้ยังอยู่ในช่วง pilot phrase เพื่อปรับและพัฒนาระบบให้สามารถใช้ได้อย่างราบรื่น และเตรียมความพร้อมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยตั้งเป้าหมายจะเปิดใช้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2565 โดยในชั้นนี้ ผู้ใช้บริการจากอินโดนีเซีย/ไทย สามารถใช้แอพพลิเคชั่น mobile banking ของธนาคารที่ร่วมโครงการ เพื่อจ่ายเงินผ่าน QR Code ของร้านค้าไทย/อินโดนีเซียได้ และในอนาคต หวังว่าจะสามารถพัฒนาระบบให้สามารถใช้หมายเลขโทรศัพท์มือถือในการโอนเงินได้
3) การดำเนินการครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการดำเนินการตาม Indonesia Payment System Blueprint 2025 โดยเป็นการใช้อัตราแลกเปลี่ยนทางตรง (direct quotation) ของอัตราแลกเปลี่ยนเงินสกุลท้องถิ่นที่กำหนดโดยธนาคารที่เป็นตัวกลางในการ quote อัตราแลกเปลี่ยนและบริการเงินทั้ง 2 สกุล (appointed cross currency dealer – ACCD) ซึ่งจะทำให้การทำธุรกรรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดค่าใช้จ่าย/ค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรม โดยนอกจากความร่วมมือนี้จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างทั้ง 2 ปท. แล้ว ยังจะสามารถช่วยเหลือธุรกิจ SMEs การเข้าถึงบริการทางการเงิน และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาดิจิทัล
4) ปัจจุบัน มีธนาคารในอินโดนีเซียเข้าร่วมโครงการนี้ 11 ราย และ non-bank ของอินโดนีเซีย 5 ราย รวมทั้งธนาคารไทย 3 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคาร CIMB Thai
5) ข้อมูลโดยสังเขปเกี่ยวกับ Indonesia Payment System Blueprint 2025
เป็นนโยบายของ BI ที่ริเริ่มเมื่อปี 2562 มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่ ยุคดิจิทัล และเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซีย โดยมุ่งหมายที่จะ
- เสริมสร้างการบูรณาการเศรษฐกิจดิจิทัลและภาคการเงิน
- ทำให้เกิด digital transformation ในธุรกิจธนาคาร
- สร้างความเชื่อมโยงระหว่างการนำเทคโนโลยีมาใช้ในธุรกิจการเงิน (fintech) และการธนาคาร
- สร้างสมดุลระหว่างนวัตกรรม การคุ้มครองผู้บริโภค คุณธรรมจริยธรรม (integrity) และการแข่งขันที่เป็นธรรม
- รักษาประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัล และการเงินข้ามพรมแดน
นโยบายนี้ประกอบด้วย 5 ข้อริเริ่ม ได้แก่
- การให้ผู้ให้บริการทางการเงินสามารถใช้และแลกเปลี่ยนข้อมูลของผู้ใช้บริการได้อย่างสะดวก มีมาตรฐาน และปลอดภัย หรือ Open Banking เพื่อการพัฒนาการให้บริการและแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นอนาคตของธุรกิจธนาคารในยุคดิจิทัล
- การยกระดับ retail payment system ให้สะดวกรวดเร็วและไร้พรมแดน
- การปรับปรุงและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางการเงิน (financial market infrastructure)
- การจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ
- การกำกับดูแล
Source: https://www.bi.go.id/en/publikasi/ruang-media/news-release/Pages/sp_170821.aspx