กฎระเบียบเกี่ยวกับการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นประเทศ ที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก ทำให้อุตสาหกรรมและตลาดฮาลาลของอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่และศักยภาพสูง อย่างไรก็ดี โดยที่อุตสาหกรรมฮาลาลเป็นหนึ่งใน priority หลักที่รัฐบาลอินโดนีเซียต้องการพัฒนาสู่ระดับโลก ประกอบกับกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าของหน่วยงานอาหารและยาของอินโดนีเซีย (National Agency for Drugs and Foods Control หรือ BPOM) อนุญาตให้จำหน่ายเเต่สินค้าฮาลาลที่มีฉลากพร้อมตรารับรองฮาลาล ของอินโดนีเซียโดยเฉพาะ (ไม่สามารถแสดงตรารับรองฮาลาลของต่างประเทศที่ไม่มีข้อตกลงยอมรับตราฮาลาล ซึ่งกันและกันกับอินโดนีเซียได้) ทั้งนี้ อินโดนีเซียอนุญาตการนำเข้าและวางจำหน่ายสินค้าฮาลาลของต่างประเทศในลักษณะสินค้าทั่วไป (Non-Halal Product) เเต่บังคับติดสติกเกอร์ปิดทับตรารับรองฮาลาลของต่างประเทศ บนฉลากสินค้า ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าดังกล่าวน้อยกว่าสินค้าที่มีตรารับรองฮาลาลของอินโดนีเซีย ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการจากต่างประเทศมักประสบอุปสรรคในการจำหน่ายสินค้าฮาลาลในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี โดยที่ตลาดฮาลาลในอินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่ และมีความต้องการสินค้าจำนวนมากและหลากหลายสำหรับผู้บริโภคหลายกลุ่ม โดยเฉพาะสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม ทำให้สินค้าฮาลาลจากต่างประเทศ และประเทศไทย ยังมีศักยภาพและโอกาสสูงในตลาดอินโดนีเซียหากสามารถเข้าสู่ตลาดได้
ทั้งนี้ กฎระเบียบเกี่ยวกับการรับรองสินค้าและผลิตภัณฑ์ฮาลาลของอินโดนีเซียที่สำคัญ มีดังนี้
1. Indonesia Law No. 33/2014 on Halal Product Assurance
2. Government Regulation (GR) 39/2021
2.1 การยกระดับ BPJPH (ปัจจุบันอยู่ภายใต้กระทรวงกิจการศาสนาอินโดนีเซีย หรือ MORA) ให้เป็นหน่วยงานหลักในการออกและถอนใบรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล (Halal Product Certification) และมีอำนาจออกนโนบาย มาตรฐาน กฎระเบียบ และเกณฑ์ในการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล (Halal Product Assurance) การจดทะเบียนและรับรองหน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานฮาลาล (Halal Inspection Agency – LPH) และ ผู้ตรวจสอบฮาลาล (Halal Auditor) ซึ่งเป็นการถ่ายโอนอำนาจมาจากสภาอิสลามแห่งชาติอินโดนีเซีย (Indonesia Council of Ulama - MUI) อันทำให้การดำเนินการขอใบอนุญาตสำหรับการประกอบธุรกิจในทุกระดับมีความสะดวกและคล่องตัวมากขึ้น อย่างไรก็ดี MUI ยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์ที่ขอรับการรับรองมีคุณสมบัติและตรงตามมาตรฐานฮาลาลของศาสนาอิสลามหรือไม่
2.2 การปรับกระบวนการขอรับการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาล ให้คล่องตัวและรวดเร็วมากขึ้น เหลือประมาณ 21 วันทำการ ทั้งสำหรับสินค้าที่ผลิตในประเทศและสินค้านำเข้า โดยมีกระบวนการดังนี้
2.2.1 ธุรกิจที่ต้องการขอใบรับรองฮาลาล ยื่นคำร้องไปยัง BPJPH พร้อมเอกสารทั้งหมด
2.2.2 BPJPH ตรวจสอบเอกสารและตั้ง LPH ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ (2 วันทำการ)
2.2.3 LPH และ Halal Auditor ตรวจสอบเอกสาร ขั้นตอนการผลิต ผลิตภัณฑ์ โดยใช้เวลาไม่เกิน 15 วันทำการ (ขยายเวลาได้ไม่เกิน 10 วันสำหรับผลิตภัณฑ์ในประเทศ และไม่เกิน 15 วันสำหรับผลิตภัณฑ์นำเข้า) ก่อนส่งผลการตรวจสอบไปยัง MUI และสำเนา BPJPH
2.2.4 MUI ตั้งกลุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์เพื่อพิจารณาการรับรองฮาลาล (Halal Fatwa Meeting) โดยใช้เวลาไม่เกิน 3 วันทำการ
2.2.5 กรณีที่ Halal Fatwa Meeting มีมติรับรองฮาลาลของผลิตภัณฑ์ MUI จะนำส่งผลการพิจารณาให้ BPJPH เพื่อให้ BPJPH ออกใบรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลภายใน 1 วันทำการ
2.3 การอนุญาตให้ธุรกิจ MSMEs สามารถยื่นคำรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้ด้วยตนเอง
โดยต้องได้รับการตรวจสอบจาก BPJPH และ MUI ตามขั้นตอน แต่ไม่ต้องให้ LHP และ Halal Auditor ตรวจสอบ
2.4 การเปิดช่องให้มีความร่วมมือด้านการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลกับต่างประเทศ
(International Cooperation on Halal Product Assurance) ในลักษณะทวิภาคี โดย BPJPH ซึ่งรวมถึงการรับรองว่าผลิตภัณฑ์ฮาลาลจากต่างประเทศนั้นตรงตามมาตรฐานของอินโดนีเซีย (Conformity assessment) ผ่าน mutual recognition scheme หรือ mutual acceptance scheme และการยอมรับใบรับรองผลิตภัณฑ์ ฮาลาลของต่างประเทศ (Halal Certificate Recognition)
นอกจากการปรับปรุงกระบวนการขอรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลให้มีความสะดวกรวดเร็วขึ้นแล้ว รัฐบาลอินโดนีเซียและภาคเอกชนจะเพิ่มศักยภาพในอุตสาหกรรมฮาลาลของอินโดนีเซียให้ขยายไปถึงการจัดตั้ง Halal industry zone การท่องเที่ยวฮาลาล การทำ R&D และการสนับสนุนธุรกิจฮาลาลระดับ MSMEs เพื่อผลักดันให้ อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางและผู้ส่งออกสินค้าฮาลาลของโลกด้วย จึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจของผู้ประกอบการที่สนใจการส่งออกสินค้าฮาลาลหรือลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับฮาลาลในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ดี โดยที่ปัจจุบันอาจมีการทบทวนและปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองผลิตภัณฑ์ฮาลาลอีก ผู้ที่สนใจจึงควรติดตามความคืบหน้าของกฎต่างๆ อย่างใกล้ชิด