การกำหนดนโยบายภาษีของรัฐบาลอินโดนีเซียสำหรับผู้รับเหมาโครงการน้ำมันและก๊าซ

รัฐบาลอินโดนีเซียจะกำหนดมาตรการในการยกเว้นภาษีให้แก่ผู้รับเหมาโครงการน้ำมันและก๊าซสำหรับช่วงที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซ อย่างไรก็ตาม นโยบายดังกล่าวยังเป็นเพียงร่างกฤษฎีกาจากกระทรวงการคลัง ซึ่งหมายความว่าจะต้องมีการต่ออายุใหม่ทุกปี

นาง Evita H. Legowo, Director General for Oil and Gas, Energy and Mineral Resources Ministry กล่าวว่า เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะบังคับใช้ภายใต้ข้อบังคับของรัฐบาล ดังนั้น จึงสามารถบังคับใช้ได้ทันทีโดยไม่จำเป็นจะต้องรอการต่ออายุรายปี (annual renewal) อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้รับเหมาโครงการฯ เสียประโยชน์ในการได้รับเงินชดเชย (cost recovery) ซึ่งเดิมภายใต้แผนงาน Indonesia's oil and gas production sharing contract (PSC) ผู้รับเหมาโครงการฯ สามารถรับเงินชดเชยสำหรับค่าใช้จ่ายที่อยู่ในข่าย cost recovery scheme ได้ โดยจะได้รับเงินชดเชยคืนเมื่อโครงการฯ เข้าสู่ระยะการผลิต แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายควบคุมงบประมาณตั้งแต่ปี 2009 รัฐบาลจึงได้ควบคุมการจ่าย cost recovery รวมเป็นเงิน 11.05 พันล้านดอลลาห์สหรัฐฯ เมื่อปี 2009 และอีก 12 พันล้านดอลลาห์สหรัฐฯ ในปี 2010

นาย R.Priyono, Upstream Oil and Gas Regulator BPMigas's Head และนาย Suyitno Padmosukismo, Indonesian Petroleum Association (IPA) Executive Advisor เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลตัดสินใจยกเลิกเงินชดเชยดังกล่าว เพราะเห็นว่าการให้เงินชดเชยเป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และมาตรการใหม่นี้จะทำให้สถานภาพภาษีของผู้รับเหมาโครงการฯ ในช่วงระหว่างการสำรวจโครงการฯ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ยังอยู่ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงการคลัง และจะต้องมีการต่ออายุทุกปี ซึ่งอาจจะเป็นอุปสรรคต่อผู้รับเหมาฯ ในการวางแผนการสำรวจโครงการฯ เช่นกัน เนื่องจากการสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซนั้นมักเป็นโครงการระยะยาว ที่ต้องใช้ระยะเวลาต่อเนื่อง

สถานเอกอัคราชทูตฯ มีข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องนี้ ดังนี้

1. การยกเลิกนโยบายจ่ายเงินชดเชยคืนแก่ผู้รับเหมาโครงการน้ำมันและก๊าซดังกล่าว อาจทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซมีแรงจูงใจลดลงในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากเสียประโยชน์ ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันและก๊าซในอินโดนีเซียไม่บรรลุตามเป้าที่ รัฐบาลกำหนด และจะมีผลกระทบต่อรายได้ของรัฐบาลเนื่องจากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซสร้างรายได้ให้กับรัฐบาลอินโดนีเซียโดยคิดเป็นอัตราร้อยละ 30 ของรายได้ทั้งหมดของรัฐบาล

2. หากการผลิตน้ำมันและก๊าซในอินโดนีเซียมีปริมาณไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ทรัพยากรน้ำมันและก๊าซในการพัฒนาประเทศและในการบริโภคภายในประเทศด้วย


แหล่งข้อมูล:  สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (22 กันยายน 2553)

Back to the list