สถานะการผลิตเอทานอลในอินโดนีเซีย
1. นโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเอทานอล
กฎกระทรวงพลังงานและแร่ธาตุอินโดนีเซีย ฉบับที่ 21/2008
กำหนดการใช้ส่วนผสมขั้นต่ำ
สำหรับ Bioethanol
ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2008 ไว้ร้อยละ 3 สำหรับ transportation sector และร้อยละ 5 สำหรับ non-transportation sector โดยกำหนดเป้าหมายไว้ที่ร้อยละ 15 ในปี ค.ศ. 2025 อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 จนถึงปัจจุบัน อินโดนีเซียยังไม่สามารถผลิตเอทานอลให้พอใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิงตามเป้าหมายที่กำหนดไว้เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงกว่าพลังงานประเภทอื่นๆ และการขาดการสนับสนุนจากรัฐบาล เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ รัฐบาลยังอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงธรรมดา (fossil fuel) ในสัดส่วนที่สูงมาก จึงทำให้เอทานอลแข่งได้ยาก
2. สถานะการผลิตเอทานอลในอินโดนีเซีย
2.1 เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2553 กระทรวงอุตสาหกรรม อซ. และ New Energy and Industrial
Technology Development Organization (NEDO)
ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงาน สิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนาม MoU ความร่วมมือโครงการผลิตเอทานอลจากกากน้ำตาล (Molasses Ethanol) มูลค่าการลงทุนรวม 48.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยเป็นเงินทุนจากฝ่ายอินโดนีเซียจำนวน 32 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 65.78 ของมูลค่าโครงการ) และฝ่าย ญป. จำนวน 16.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละ 34.13 ของมูลค่าโครงการ) กำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 100 กิโลลิตร/วัน ระยะเวลาคืนทุนของมูลค่าการลงทุนทั้งหมดคือ 6 ปี 4 เดือน อัตราผลตอบแทนร้อยละ 17.32
2.2 บริษัท PT. Perkebunan Nusantara X ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซีย (Persero) เป็นเจ้าของโรงกลั่นเอทานอลและจะเป็นโรงกลั่นแรกของประเทศ
โดยใช้กากน้ำตาลจากโรงงานผลิตน้ำตาลในพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเป็นวัตถุดิบ และบริษัท Tsukishima Kikai Ltd (TSK) และ Sapporo Engineering Ltd (SEG) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจาก NEDO ให้เป็นผู้ควบคุมโครงการค่อยให้ความช่วยเหลือทางเครื่องจักรสำหรับการผลิตและเทคโนโลยีเพื่อให้การผลิตมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ ปัจจุบันโครงการฯ อยู่ในช่วงการก่อสร้าง (เริ่มงานก่อสร้างเดือน ก.ย. 2554 – ก.พ. 2556 รวมเป็นระยะเวลา 18 เดือน) และกำหนดจะทดสอบกระบวนการผลิตระหว่างวันที่ 1-28 ก.พ. 56 สำหรับเอทานอลที่กลั่นได้จะนำไปใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกฎเกณฑ์ของกฎกระทรวงพลังงานฯ ข้างต้น
2.3 โรงกลั่นเอทานอลกำหนดจะเริ่มการผลิตเชิงพาณิชย์ในเดือน มี.ค. 2556 เพื่อหวังขายตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ
ขณะนี้ บริษัท PT. Perkebunan Nusantara X กำลังสร้างเครือข่ายทางการตลาดกับ บ. น้ำมันแห่งชาติ Pertamina และ distributor ต่างๆ รวมถึงหาโอกาสขยายเครือข่ายทางการตลาดเพื่อจำหน่ายเอทานอลต่อไป อย่างไรก็ดี อินโดนีเซียยังต้องเผชิญความท้าทายในการใช้พลังงานทดแทนจากเอทานอลจากการกำหนดราคารับซื้อจากผู้ผลิตให้เกินจุดคุ้มทุนเพื่อให้สามารถแข่งขันกับการผลิตพลังงานประเภทอื่นโดยเฉพาะพลังงานฟอสซิลซึ่งรัฐบาลอุดหนุนจำนวนมาก
3. สหรัฐอเมริกาเป็นอีกหนึ่งประเทศในขณะนี้ที่สนใจลงทุนอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอล
แต่จะผลิตเอทานอลจากถ่านหินที่ให้ความร้อนต่ำ (Low-calorie coal) และอยู่ในระหว่างเจรจาแผนการลงทุนกับฝ่ายอินโดนีเซีย โดยบริษัท Celanese Corporation กำลังหารือกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina ถึงรายละเอียดการลงทุน การลำเลียงวัตถุดิบและกระจายเอทานอลโดยตั้งเป้าหมายจะลงทุนสร้างโรงงานทั้งสิ้น 4แห่งมูลค่าการลงทุนรวม 6-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ให้เสร็จภายในปี ค.ศ. 2020
4. โครงการสร้างโรงงานผลิตเอทานอลแห่งแรกมีมูลค่าประมาณ 1.5-2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สามารถรองรับวัตถุดิบได้ประมาณ 4 ล้านตัน/ปีและผลิตเอทานอลได้ประมาณ 1.3 พันล้านตัน/ปี หลังจากสำรวจและศึกษาที่ตั้งโครงการเสร็จและได้รับใบอนุญาตลงทุน จะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เริ่มก่อสร้างและผลิตเพื่อการพาณิชย์ได้ภายในไม่เกิน 30 เดือน
5. การเสนอโครงการโดยสหรัฐอเมริกาเพื่อผลิตเอทานอลโดยใช้ถ่านหินพลังงานความร้อนต่ำใน อินโดนีเซีย
น่าจะดึงดูดฝ่ายอินโดนีเซียให้สนใจร่วมทุนและช่วยผลักดันอย่างมาก เพราะจะเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรถ่านหินและพลังงานทดแทนของประเทศในระยะยาว เนื่องจากอินโดนีเซียมีถ่านหินจำนวนมาก และบางส่วนเป็นถ่านหินที่ให้ค่าความร้อนต่ำ ซึ่งปัจจุบัน อินโดนีเซียพยายามออกกฎระเบียบให้ผู้ประกอบการเหมืองถ่านหินจะต้องสร้างโรงงานปรับคุณภาพถ่านหินให้กลายเป็นถ่านหินความร้อนสูงก่อนส่งออก แต่กฎระเบียบดังกล่าวก็ยังไม่สามารถออกได้ เพราะได้รับการคัดค้าน ซึ่งหากโครงการนี้ประสบผลสำเร็จ ถ่านหินคุณภาพความร้อนต่ำอาจถูกจัดสรรไปในการผลิตเอเทานอล และเหลือเพียงถ่านหินคุณภาพความร้อนสูงส่งออกได้ อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียน่าจะต้องระวังและสร้างสมดุลระหว่างการผลิตเอทานอลจากถ่านหินและการผลิตถ่านหินไม่ให้ด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป จนอีกด้านหนึ่งขาดแคลน ทั้งนี้ เอทานอลที่ผลิตได้สามารถให้ค่าออกเทนสูงถึงระดับ 130 ซึ่งน่าจะดีสำหรับการใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงสอดรับกับแนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงในภาคขนส่งของอินโดนีเซียในอนาคตที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 6 ต่อปี
6. ญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกาซึ่งขณะนี้ที่มีความร่วมมือผลิตเอทานอลกับอินโดนีเซีย
ต่างก็มีจุดแข็งของโครงการที่ต่างกัน คือ ญี่ปุ่นเน้นด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำในขณะที่สหรัฐอเมริกาเน้นด้านการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีมากในประเทศ
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (สิงหาคม 2555)