เอทานอลและไบโอดีเซลในอินโดนีเซีย
ไบโอดีเซล
1. อินโดนีเซียผลิตไบโอดีเซลเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จาก 781 ล้านลิตรในปี 2553 เป็น 1.52 พันล้านลิตรในปี 2554 โดยใช้บริโภคภายในร้อยละ 10 และส่งออกร้อยละ 90 โดยในปี 2553 ส่งออกไบโอดีเซล ประมาณ 563 ล้านลิตร และในปี 2554 ส่งออกประมาณ 1.22
พันล้านลิตร ตลาดยุโรปเป็นตลาดส่งออกไบโอดีเซลสำคัญของอินโดนีเซีย
2. กรมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน (EBTKE) ของอินโดนีเซียพยายามส่งเสริมให้ใช้ไบโอดีเซลภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น
- สั่งการให้สถานีบริการของ Pertamina และบริษัทน้ำมันต่างชาติ เช่น SHELL, TOTAL และ PETRONAS
จำหน่ายน้ำมันไบโอดีเซลที่ไม่ได้อุดหนุน ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2555 - กำหนดให้บริษัทในธุรกิจเหมืองแร่ ใช้น้ำมันไบโอดีเซล อย่างน้อย ร้อยละ 2 ของพลังงานที่ใช้ เริ่มตั้งแต่ เดือน ก.ค. 2555
- บริษัทน้ำมัน Pertamin เพิ่มสัดส่วนการผสมน้ำมันไบโอดีเซลที่ไม่อุดหนุนจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 7.5 เริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ. 2555
- พลังงานและสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่วมกันที่จะอุดหนุนน้ำมันไบโอดีเซลที่ 3,000 รูเปียห์ต่อลิตร
และอุดหนุนเอทานอลที่ 3,500 รูเปียห์ต่อลิตรในปี 2556 - นำเสนอสูตรคำนวณราคา biofuel ใหม่ โดยให้อ้างถึงถึงราคาและปัจจัยในท้องถิ่นมากขึ้น
เอทานอล
3. อินโดนีเซียผลิต บริโภค และนำเข้าเอทานอล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมี (chemical industries) เป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ใช้ในอุตสาหกรรมขนส่ง เช่น ประเทศไทย แนวโน้มการผลิต การบริโภค และการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในปี 2549 สามารถผลิตได้ 163 ล้านลิตร (คิดเป็นร้อยละ 78 ของกำลังการผลิตเต็มศักยภาพที่ระดับ 209 ลิตร) และบริโภคภายในจำนวน
114 ล้านลิตร ส่งออกจำนวน 33 ล้านลิตร ไม่มีการนำเข้า ในปี 2555 สามารถผลิตได้ 220 ล้านลิตร (คิดเป็นร้อยละ 90 ของกำลังการผลิตเต็มศักยภาพที่ระดับ 245 ล้านลิตร) และบริโภคจำนวน 135 ล้านลิตร ส่งออก 85 ล้านลิตร และนำเข้า 0.8 ล้านลิตร ปัจจุบัน อินโดนีเซียมี บริษัทผลิตเอทานอล เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเคมีจำนวน 13 แห่ง โดยผู้ผลิตรายใหญ่ 4 ลำดับแรก ได้แก่ บ. Molindo, Medco, Indo Acidatama และ Sugar Group สามารถผลิตรวมกันได้ร้อยละ 75 ของกำลังการผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ดี การนำเข้าเอทานอลในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ กล่าวคือ หลังจากการนำเข้าเป็นครั้งแรกในปี 2550 เป็นจำนวน 2.6 ล้านลิตร ต่อมาการนำเข้าก็ลดลงทุกปี เนื่องจากกำลังการผลิตภายใน สามารถตอบสนองต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตอินโดนีเซียคาดการณ์ว่าในปี 2556 อาจต้องนำเข้าเอทานอลประมาณ 1 ล้านลิตร เพราะอุตสาหกรรมเคมีขยายตัวอย่างต่อเนื่องในขณะที่กำลังการผลิตจากหลายแห่งเริ่มคงที่ และบราซิลเป็นแหล่งนำเข้าเอทานอลที่สำคัญของอินโดนีเซีย
4. อินโดนีเซียหยุดการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่งตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ซึ่งการใช้เอทานอลเป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อการขนส่งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Pertamina เป็นผู้จัดจำหน่าย (distributor) หลักแต่โรงงานที่ผลิตเอทานอล เพื่อผสมน้ำมันเชื้อเพลิงในการขนส่ง ซึ่งมีประมาณ 4 โรงงานในปี 2551 ต้องหยุดการผลิตเพราะรัฐบาลอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) จึงทำให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ไม่มี margin และไม่สามารถแข่งขันกับน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ในท้องตลาดได้ อย่างไรก็ดี แนวโน้มการผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นส่วนผสมในน้ำมันเชื้อเพลิงอาจปรับตัวดีขึ้นบ้าง เพราะกระทรวงพลังงานและทรัพยากร แร่ธาตุ และสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบร่วมกันที่จะเงินอุดหนุนเชื้อเพลิงจากเอทานอล 3,500 รูเปียห์/ลิตร ตั้งแต่ปี 2556 (ตามข้อ 2) และหากกระทรวงการคลังอนุมัติการปรับสูตรการคิดคำนวณราคา biofuel ก็น่าจะกระตุ้นให้เกิดการผลิตเอทานอลเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมขนส่งเพิ่มขึ้นเป็นถึง 20-30 ล้านลิตร/ปี
5. อินโดนีเซียกำลังเพิ่มกำลังการผลิตเอทานอล โดยในปี 2553 มีการสร้างโรงกลั่นเพิ่มเติมหลายแห่ง อาทิ บริษัท PT. Perkebunan Nusantara X ซึ่งเป็นกิจการรัฐวิสาหกิจสร้างโรงกลั่น 1 แห่ง กำลังการผลิตประมาณ 36 ล้านลิตร/ปี และบริษัท Molindo (เอกชน) สร้าง โรงกลั่นผลิตได้ประมาณ 55 ล้านลิตร/ปี โดยทั้งสองบริษัทนี้จะใช้กากน้ำตาลเป็นวัตถุดิบในการผลิต และจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2556 เป็นต้นไป บริษัท Celenese ซึ่งเป็นบริษัทจากสหรัฐอเมริกาจะสร้างโรงกลั่น 4 แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี 2563 โดยใช้วัตถุดิบจากถ่านหินความร้อนต่ำซึ่งอินโดนีเซียมีทรัพยากรประเภทนี้มาก และราคาไม่ค่อยผันผวนเหมือนกากน้ำตาล หากเสร็จจะสามารถกลั่นเอทานอลได้ประมาณ 1.3 พันล้านตัน/ปี/โรง ทั้งนี้ ผลผลิตโดยรวมในประเทศน่าจะเริ่มเพิ่มขึ้นจากระดับการผลิตปัจจุบันตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นไป แต่ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเคมี ไม่ใช่อุตสาหกรรมขนส่ง บริษัท Medco ซึ่งเป็นเอกชนอินโดนีเซียประกอบกิจการพลังงาน เริ่มประกาศหาผู้ร่วมทุนสร้างโรงกลั่นเอทานอลมาตั้งแต่กลางปี 2555 แต่จนกระทั่งปัจจุบันบริษัทยังไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ ทั้งนี้ ประเทศไทยประสงค์จะส่งออกเอทานอลส่วนเกินมาจำหน่ายที่อินโดนีเซีย ก็จะต้องผ่าน บ. Pertamina ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหลักเพียงผู้เดียว
6. อินโดนีเซียใช้ดัชนีราคาเอทานอลของไทย คือ Argus Index (Thailand) (ประกาศโดย Argus ซึ่งเป็น Media ที่เป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับราคาประเมินในธุรกิจพลังงาน) เป็น benchmark ซึ่งนำมาใช้ในสูตรการคิดคำนวณราคาเอทานอลในประเทศโดยมีกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ธาตุอินโดนีเซียเป็นผู้กำหนด ปัจจุบัน สูตรการคิดคำนวณคือ Bioethanol = Argus Index (Thailand) x 780 kg/m3 x 1.05 แต่ขณะนี้ อยู่กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาแก้ไขสูตรการคิดคำนวณ โดยมีแนวโน้มจะเปลี่ยนการใช้ดัชนีราคาเดิมเพื่อให้สอดรับกับต้นทุนที่แท้จริงในการผลิตเอทานอลในอินโดนีเซียซึ่งได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากราคากากน้ำตาลที่ผันผวน และอาจคิดคำนวณสูตรที่อ้างอิงจากดัชนีท้องถิ่นไม่ใช่ดัชนีของไทย (Argus Index)
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (มีนาคม 2556)