นโยบายน้ำมันขายปลีกในรัฐบาล Jokowi
1. เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2557 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศขึ้นราคาน้ำมัน
อุดหนุนในอัตราลิตรละ 2,000 รูเปียห์ ทำให้ราคาน้ำมันประเภทเบนซิน (Premium) ปรับเป็นลิตรละ 8,500 รูเปียห์ และน้ำมันดีเซล (Solar) ปรับเป็นลิตรละ 7,500 รูเปียห์
2. ภายหลังการประกาศขึ้นราคาน้ำมันในเดือน พ.ย. อัตราเงินเฟ้อในอินโดนีเซียปรับตัวสูงขึ้นทันที
เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเสมอทุกครั้งที่มีการปรับราคาน้ำมัน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ต.ค. ก่อนปรับขึ้นราคาน้ำมันอยู่ที่ร้อยละ 4.83 ในเดือน พ.ย. ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 6.23 และในเดือน ธ.ค. ซึ่งเป็นเดือนที่เห็นผลการปรับขึ้นราคาน้ำมันอย่างแท้จริง อัตราเงินเฟ้อปรับขึ้นมาที่ร้อยละ 8.36 ใกล้เคียงกับที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียเคยประมาณการณ์ไว้ ซึ่งธนาคารกลางฯ ได้ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอีกร้อยละ 0.25 เป็นร้อยละ 7.75 เพื่อเตรียมการไว้ก่อน อย่างไรก็ตาม การประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันในช่วงดังกล่าวถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกทะยอยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ในปัจจุบัน ราคาอยู่ต่ำกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จึงทำให้ราคาน้ำมันอุดหนุน (Premium) ซึ่งเป็น fixed price มีมูลค่าสูงกว่าราคาในตลาดโลก ดังนั้น ในวันที่ 31 ธ.ค. 2557 รัฐบาลจึงประกาศปรับลดราคาน้ำมันอุดหนุน (Premium) ในประเทศจาก 8,500 รูเปียห์/ลิตร เป็น 7,600 รูเปียห์/ลิตร และในวันที่ 16 ม.ค. 2558 ได้ประกาศปรับลดราคาน้ำมันอีกครั้งหนึ่ง จาก 7,600 รูเปียห์ ลงเหลือ 6,600 รูเปียห์ (ใกล้เคียงกับราคาน้ำมันอุดหนุนก่อนประกาศขึ้นราคาในเดือน พ.ย. 2557) พร้อมกับประกาศนโยบายยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันเบนซินอย่างสิ้นเชิง เหลือเพียงอุดหนุนน้ำมันดีเซลที่อัตราคงที่ คือ ลิตรละ 1,000 รูเปียห์ และกำหนดราคาน้ำมันก๊าด (kerosene) ไว้ที่ลิตรละ 2,500 รูเปียห์ ซึ่งผลของนโยบายดังกล่าวจะทำให้ต่อไปราคาน้ำมัน premium จะผันแปรตามราคาตลาดโลกเช่นเดียวกับราคาน้ำมันประเภทอื่นๆ ในประเทศ เช่น Pertamax และ Pertamax plus โดยในปัจจุบัน ราคาน้ำมันเบนซิน Premium เหลือลิตรละ 6,600 รูเปียห์ (ยกเว้นในเกาะชวาและมาดูร่า ลดลงเหลือ 6,700 รูเปียห์ และเกาะบาหลีลดลงเหลือ 7,000 รูเปียห์) และดีเซลปัจจุบันลดลงเหลือ 6,400 รูเปียห์ มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2558 เป็นต้นมา
3. การดำเนินนโยบายดังกล่าวนับเป็นครั้งแรกที่ราคาน้ำมันในอินโดนีเซียอิงกับตลาดโลก
นับแต่การใช้การอุดหนุนราคาเมื่อ 30 ปีก่อน โดยนาย Bambang Brodjonegoro รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอินโดนีเซียได้ให้สัมภาษณ์ว่า การปรับการอุดหนุนดังกล่าวทำให้สามารถประหยัดงบประมาณ ปี 2558 ที่จะใช้อุดหนุนน้ำมันได้ถึงร้อยละ 75 หรือ 200 ล้านล้านรูเปียห์ จากที่ตั้งงบประมาณไว้เพื่ออุดหนุนน้ำมัน 276 ล้านล้านรูเปียห์ และจะเป็นครั้งแรกที่สัดส่วนงบประมาณประจำปีจะถูกจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายของกระทรวงต่างๆ มากกว่าค่าใช้จ่ายประเภทอื่นๆ และทำให้รัฐบาลของประธานาธิบดี Jokowi มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการงบประมาณในปี 2558 นี้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สื่อท้องถิ่นให้ข้อมูลด้วยว่า เมื่อปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญอินโดนีเซียเคยวินิจฉัยไว้ว่า ราคาน้ำมันและก๊าซมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประชาชนจำนวนมาก ดังนั้น ให้ถือเป็นหน้าที่ที่รัฐจะต้องตรึงราคาไว้ (fixed price) และไม่ปล่อยให้ลอยตัว (float price) ตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่อินโดนีเซียมองว่า การยกเลิกการอุดหนุนถือเป็นเรื่องดี จึงไม่น่าจะถูกมองว่าเป็นการขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างไร ทั้งนี้ นักวิเคราะห์มองว่า แม้ในปัจจุบันราคาน้ำมันจะปรับลดลงแล้ว แต่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะไม่ปรับตัวลดลงตาม และกำลังซื้อของประชาชนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ความกล้าหาญในการยกเลิกการอุดหนุนของประธานาธิบดี Jokowi ก็ได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และนักลงทุนต่างชาติ ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง และเป็นไปได้ว่า S&P อาจปรับเพิ่ม investment grade ให้กับอินโดนีเซียเพราะการอุดหนุนน้ำมันเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ S&P ยังไม่ปรับเพิ่ม grade ให้
4. อย่างไรก็ตาม นาย Sudirman Said รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและทรัพยากรแร่ กล่าวว่า
รัฐบาลจะไม่ประกาศลดราคาน้ำมันตามราคาตลาดโลกไปเรื่อยๆ แต่จะกำหนดราคาขายปลีกน้ำมันขั้นต่ำ (คาดว่าอาจจะกำหนดไว้ที่ลิตรละ 6,500 รูเปียห์/ลิตร) เพื่อนำกำไรที่ได้จากการขายน้ำมันไปใช้ในด้านอื่น เช่น โครงการพัฒนาสาธารณูปโภค ทั้งนี้ ในขณะนี้ ประธานาธิบดี Jokowi ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลเรื่องการปฏิรูปน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอของคณะทำงาน คือ การยกเลิกการจำหน่ายน้ำมัน premium (เรียกว่า RON88) เพราะคณะทำงานเห็นว่า นอกจากเป็นน้ำมันคุณภาพต่ำที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว อินโดนีเซียยังเป็นประเทศเดียวที่ใช้น้ำมันดังกล่าว จึงทำให้ในการกลั่นที่ได้น้ำมันออกเทน 92 แล้ว (RON 92) บริษัท Pertamina จะต้องทำการผสมสารเคมีบางอย่างใน RON92 เพื่อให้ได้น้ำมันค่าออกเทนต่ำกว่า (RON88) เพื่อจำหน่ายในประเทศตามกฎกระทรวงพลังงานฯ อินโดนีเซีย ซึ่งไม่สมเหตุสมผลในทางเศรษฐศาสตร์และยังเป็นการสนับสนุนให้ทำลายสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ คณะทำงานดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า จะยกเลิกหรือปรับบทบาทบริษัท Petral ซึ่งเป็นบริษัทค้าน้ำมันในตลาดต่างประเทศ (oil trading) ของ Pertamina หรือไม่ เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งไม่จำเป็น
5. ข้อสังเกต
5.1 การประกาศลอยตัวราคาน้ำมันเป็นนโยบายที่ถูกต้อง
และน่าจะเป็นการยุติช่องทางการแสวงประโยชน์ในการจำหน่ายน้ำมันดังกล่าว ซึ่งน่าจะมีหลายฝ่ายได้รับผลกระทบ เพราะหากศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันในอินโดนีเซียแล้วจะพบว่า เนื่องจากราคาน้ำมัน Premium ไม่เป็นไปตามกลไกตลาด รัฐบาลจึงสามารถกำหนดราคาจำหน่ายเท่าใดก็ได้ตามที่เห็นเหมาะสม เช่น ในช่วงเดือน มิ.ย. 2556 ก่อนประธานาธิบดี SBY จะประกาศขึ้นราคาน้ำมันจาก 4,500 รูเปียห์ เป็น 6,500 รูเปียห์ ราคาน้ำมันไม่อุดหนุน (Pertamax) กับราคาน้ำมันอุดหนุน (Premium) ในท้องตลาดมีราคาต่างกันประมาณลิตรละ 6,000 รูเปียห์ (10,500 – 4,500 = 6,000 รูเปียห์) แต่ในปีนั้นรัฐบาลใช้เงินอุดหนุนน้ำมันเฉลี่ยลิตรละประมาณ 4,400 รูเปียห์ ดังนั้น จึงมีส่วนต่างที่เกินจากงบประมาณอุดหนุนน้ำมันประมาณลิตรละ 1,600 รูเปียห์ (6,000 – 4,400 = 1,600 รูเปียห์) ซึ่งไม่มีข้อมูลว่ารัฐบาลใช้งบประมาณส่วนใดหรือผลักภาระดังกล่าวไปยังที่ใด แต่ในทางกลับกัน การประกาศลดราคาน้ำมันของประธานาธิบดี Jokowi ล่าสุด ราคาน้ำมันตลาดโลกลดลงอย่างมาก ราคาน้ำมันดิบน่าจะอยู่ที่ประมาณลิตรละ 3,800 รูเปียห์เท่านั้น เมื่อผ่านกระบวนการต่างๆ ซึ่งรวมถึงการเติมสารให้น้ำมันกลับเป็น RON88 ที่ใช้กันแล้ว ราคาน้ำมันก็ไม่น่าจะสูงเท่าราคาขายปัจจุบันที่ลิตรละ 6,600 รูเปียห์ รัฐบาลจึงมีโอกาสที่จะสามารถแสวงกำไรได้ และมีความยืดหยุ่นด้านงบประมาณ เพราะไม่ต้องตั้งงบอุดหนุน ต่างกับในช่วงประธานาธิบดี SBY ซึ่งไม่มีทางเลือกทางนโยบายมากนัก เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกสูง ต้นทุนต่อลิตรสูง จึงต้องจำหน่ายในราคาที่ใกล้กับต้นทุน และแบกรับค่าใช้จ่ายส่วนต่างเอง
5.2 อย่างไรก็ตาม การยกเลิกการอุดหนุนน้ำมันอย่างเด็ดขาดโดยไม่มีแผนรองรับเช่นในปัจจุบัน
เป็นที่น่าวิตกว่า หากในอนาคตราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น และราคาน้ำมัน Premium ดีดกลับขึ้นสูง ประชาชนจะรับมือกันอย่างไร (เพราะปัจจุบันราคา Premium กลับไปสู่จุดที่ราคาถูกก่อนปรับขึ้นแล้ว) ทางเลือกทางหนึ่งที่ รัฐบาลน่าจะดำเนินการ คือ การยกเลิกน้ำมัน Premium และให้ประชาชนปรับพฤติกรรมการบริโภค ให้คุ้นเคยกับน้ำมันที่ผันผวนตามราคาตลาดโลก เช่น Pertamax แทน ซึ่งจะส่งเสริมการลดการใช้น้ำมันหรือหันไปใช้พลังงานทางเลือกในรถยนต์อื่นๆ เช่น ก๊าซ เป็นต้น
17 กุมภาพันธ์ 2558