การคาดการณ์เศรษฐกิจอินโดนีเซีย ในปี 2567
1. เป้าหมายสำคัญด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลอินโดนีเซีย
ตั้งไว้สำหรับปี 2567 คือ
- การทำให้ GDP ขยายตัว 5.3 – 5.7% yoy อย่างไรก็ดี ธนาคารโลกเห็นว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซีย น่าจะขยายตัวได้ราว 4.9-5.0% เท่านั้นในชั้นนี้
- การดึงดูดการลงทุน 1,650 ล้านล้าน IDR หรือประมาณ 105.53 ล้าน USD ซึ่งเป็นเป้าหมายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2565 และ 2566
- การทำให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.0-3.2% รวมถึงการควบคุมราคาอาหารและสินค้าจำเป็น
- การลดอัตราการว่างงานให้เหลือ 5.0 – 5.7%
- ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้า ประเทศ 14.3 – 17 ล้านคน/ครั้ง
2. ความท้าทายที่สำคัญในปี 2567 สำหรับเศรษฐกิจอินโดนีเซียในชั้นนี้
- มูลค่าการส่งออกที่ลดลงของสินค้าสำคัญ แม้จะส่งออกในปริมาณเท่าเดิมหรือใกล้เคียงเดิม อาทิ น้ำมันปาล์ม สินค้าพื้นฐานจากเหล็ก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ซึ่งทำให้รัฐบาลอินโดนีเซีย ต้องเร่งนำเข้าเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงการขยายตลาด
- การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ที่เป็นตลาดนำเข้าและส่งออกสำคัญของอินโดนีเซีย
- ภาวะเงินเฟ้อโลก และมาตรการการเงินโลกที่เข้มงวดขึ้นในหลายประเทศ ที่ทำให้การส่งออกของอินโดนีเซียชะลอตัว
- ภาวะโลกร้อนที่ทำให้ผลิตสินค้าเกษตรและประมงได้น้อยลง
- กำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ในประเทศยังคงไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่จาก COVID-19 รวมถึงราคาอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นจากเงินเฟ้อ
3. นโยบายสำคัญที่รัฐบาลอินโดนีเซีย จะดำเนินการในปี 2567 เพื่อเร่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
- การยกระดับ EODB ของประเทศผ่านการใช้ กม. Omnibus Law on Job Creation ที่แก้ไขแล้ว รวมถึงส่งเสริมการค้าการลงทุนภายในประเทศ เพื่อเพิ่มการจ้างงานและรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี
- การอุดหนุนราคาสินค้าและรักษากำลังการใช้จ่ายของผู้บริโภคดังเช่นปีที่ผ่านมา
- ส่งเสริมภาคการส่งออกด้วยนโยบายอุตสาหกรรมปลายน้ำ การฟื้นฟูอุตสาหกรรม และการเจาะตลาดใหม่ ๆ และการทำความตกลงระหว่างประเทศทั้งทวิภาคีและพหุภาคี รวมถึงเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ
- ส่งเสริมธุรกิจ MSMEs
- การพัฒนาพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อกระจายความเจริญ และส่งเสริม connectivity ทั้งด้านกายภายและดิจิทัล
4. สาขาเศรษฐกิจที่สำคัญและรัฐบาลอินโดนีเซียให้ความสำคัญ
4.1 เศรษฐกิจสีเขียวและการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานที่ link กับการส่งเสริมอุตสาหกรรมปลายน้ำ
อาทิ การปลดระวางโรงงานถ่านหินและการพัฒนาเทคโนโลยี coal gasification ในประเทศ (เพื่อทดแทนราคาถ่านหินที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2565 ด้วยส่วนหนึ่ง) การดึงดูดการลงทุนด้านพลังงานสีเขียวและส่งเสริมให้การลงทุนเป็นไปตามแนวนโยบายสีเขียวมากขึ้น โดยร่วมมือกับสถาบันการเงินที่มีนโยบายเข้มงวดขึ้นในการปล่อยกู้ และการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ซึ่งล่าสุดในไตรมาส 4/2566 รัฐบาล อินโดนีเซีย ได้ขยายกำหนดเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ผลิต EV ในประเทศจนถึง ค.ศ. 2025 และการขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการให้การผลิต EV ใน อินโดนีเซีย ใช้วัตถุดิบ local content 40% ภายในปี ค.ศ. 2026 และ 60% ภายในปี ค.ศ. 2027 ซึ่งที่ผ่านมา การใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการอุดหนุนราคา EV ทำให้อุตสาหกรรมดังกล่าวขยายตัวค่อนข้างดี ส่งผลให้ยอดขายรถ EV ในไตรมาสที่ 2-3/2566 เพิ่มขึ้น 176% และ 254% ตามลำดับ
4.2 เศรษฐกิจดิจิทัล
เป็นหนึ่งในประเด็นหลักที่ได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นการสร้างความเชื่อมโยง (connectivity) การส่งเสริม digital skills and literacy รวมถึงมีช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศได้มากขึ้น โดยดำเนินการผ่านนโยบายดึงดูดการลงทุนและสร้างงาน พัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และบรรยากาศที่เอื้อต่อการคิดค้นนวัตกรรม รวมถึงจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริม Start-ups ที่มีศักยภาพ เพื่อส่งเสริมการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะ MSMEs ที่เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีจำนวนมากที่สุดในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ ดำเนินการควบคู่กับการตั้งกฎควบคุมการขายสินค้าออนไลน์ผ่าน social media platform โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ เพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศ
4.3 ความมั่นคงทางอาหาร
อินโดนีเซียอยู่ระหว่างเร่งรัดการสร้างความมั่นคงทางอาหารในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเกษตรกรรมอาหารพื้นฐานและการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูก หลังจากที่ อินโดนีเซีย ประสบปัญหาภัยแล้งและทำให้ผลผลิตเกษตรในประเทศ หลายรายการขาดแคลนจนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรมประมงในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออก 5.6 พันล้าน USD หดตัว -10% yoy และน้อยกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลอินโดนีเซียตั้งไว้สำหรับปี 2566 ที่ 6.7 พันล้าน USD จึงทำให้รัฐบาลอินโดนีเซียต้องเร่งรัดการปฏิรูปการทำประมงในประเทศ ให้มีความทันสมัยมากขึ้น (แต่ยังเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายประมงฉบับใหม่ในชั้นนี้ เพื่อเตรียมความพร้อม) รวมถึงการทบทวนนโยบายห้ามสินค้าประมงบางรายการ เช่น ตัวอ่อนกุ้งล็อบสเตอร์ ที่ประกาศห้ามส่งออกมาตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้น
4.4 อุตสาหกรรมฮาลาล
เป้าหมายระยะยาวของอินโดนีเซียในเรื่องนี้คือการเป็นศูนย์ส่งออกสินค้าฮาลาลในประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะอาหารและเครื่องดื่ม และได้ออกกฎหมายกำหนดให้สินค้าต่าง ๆ ต้องแสดงตราฮาลาลก่อนวางจำหน่ายในท้องตลาด อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมใน ประเทศ หลายแห่ง โดยเฉพาะ MSMEs ยังไม่มีตราฮาลาลสำหรับสินค้าของตนเอง ซึ่งเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ระหว่างการเร่งอนุมัติตราฮาลาลแก่อุตสาหกรรมใน ประเทศ และเร่งแสวงหาความร่วมมือและการยอมรับตราฮาลาลระหว่างอินโดนีเซียกับประเทศต่าง ๆ แม้จะเป็นไปในแนวทางที่ค่อนข้าง protective ก็ตาม
4.5 ภาคการผลิต
อุตสาหกรรมเหมืองแร่และอุตสาหกรรมการแปรรูป (processing industry) มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจปลายน้ำของรัฐบาลอินโดนีเซีย และการเตรียมห้ามส่งออกแร่ดิบและวัตถุดิบอื่น ๆ เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งในปีที่ผ่านมาทำให้ผู้ลงทุนจากจีนเข้ามาตั้งเหมืองและโรงงานถลุง/แปรรูปแร่มากขึ้น และในชั้นนี้คาดว่า trend ดังกล่าวจะดำเนินไปในลักษณะเดิม
4.6 โครงการก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ (IKN) ที่กาลิมันตัน
เป็น megaproject ที่รัฐบาลอินโดนีเซีย พยายามดึงดูดการลงทุนและความร่วมมือจากทั้งต่างประเทศและกลุ่มธุรกิจภายใน ประเทศ โดยปัจจุบันการก่อสร้าง phase แรกแล้วเสร็จไป 70% เพื่อให้ทันกับการจัดงานวันชาติในเดือน ส.ค. 2567