รายงานเศรษฐกิจ ปี 2555

ความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่สำคัญของอินโดนีเซีย รอบไตรมาส 1/2555

การค้าระหว่างประเทศ

การค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซียในไตรมาส 1/2555 เพิ่มขึ้นเป็น 48.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 6.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า อินโดนีเซียการค้าระหว่างประเทศของอินโดนีเซียในไตรมาส 1/2555 เพิ่มขึ้นเป็น 48.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขยายตัวร้อยละ 6.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า อินโดนีเซียเกินดุลการค้าระหว่างประเทศ 2.68 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ลดลงจากไตรมาสที่ 1/2554 ซึ่งมีมูลค่า 7.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯถึงร้อยละ 62

การส่งออกสินค้า ประเภท non-oil and gas มีมูลค่า 38.53 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.87 และประเภท oil and gas มีมูลค่า 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.64

การส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ เริ่มลดลง เช่นเดียวกับตลาดสหภาพยุโรป ที่ลดลงร้อยละ 7.46 เมื่อไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว โดยไตรมาสแรกของปีนี้ สหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.17 เกาหลีใต้ลดลงร้อยละ 9.19

ตลาดส่งออกหลักของอินโดนีเซีย ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 12.95 ร้อยละ 11.74 และร้อยละ 9.55 ตามลำดับ

การนำเข้าในไตรมาส 1/2555 มีมูลค่า 45.85 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.18 แหล่งนำเข้าสำคัญของอินโดนีเซีย คือ จีน ในไตรมาสนี้มีมูลค่านำเข้า 6.64 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ร้อยละ 18.75 ของสินค้านำเข้าทั้งหมด

การส่งออกไปยังตลาดหลักที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาสแรกน่าจะเป็นสัญญาณกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งกระจายตลาดส่งออกและกระตุ้นการบริโภคภายในให้มากขึ้น ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปยังไม่ดีขึ้น และเศรษฐกิจจีนขยายตัวลดลงในปีนี้ก็อาจจะทำให้อินโดนีเซียไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการส่งออกได้

การลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

คณะกรรมการประสานการลงทุนอินโดนีเซีย (BKPM) เปิดเผยว่า รัฐบาลอินโดนีเซีย กำหนดเป้าหมายการลงทุนของในปี 2555 ไว้ที่ 283.5 ล้านล้านรูเปียห์ สูงขึ้นร้อยละ 13 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า การลงทุนที่แท้จริงในไตรมาส 1/2555 มีมูลค่า 71.2 ล้านล้านรูเปียห์ (7.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ยอดการลงทุนจากต่างประเทศที่แท้จริง (realized FDI) เพิ่มขึ้นร้อยละ 30 จากไตรมาสเดียวกันคิดเป็นมูลค่า 51.5 ล้านล้านรูเปียห์ (5.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเป็นยอด FDI ประจำไตรมาสที่สูงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกไว้ในสถิติการลงทุนประจำไตรมาสของอินโดนีเซีย แม้วิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2554 ทั้งนี้เพราะอินโดนีเซียมีเศรษฐกิจมหภาคที่เติบโต

การลงทุนจากญี่ปุ่น (600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และเกาหลีใต้ (500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เป็นปัจจัยทำให้ FDI เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาส 1/2555 อย่างไรก็ดี ประเทศที่ลงทุนมากที่สุดเป็นลำดับ 1 คือสิงคโปร์ (1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลำดับที่ 2 คือญี่ปุ่น และลำดับที่ 3 คือเกาหลีใต้

การดำเนินโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียเพื่อส่งเสริมการกระจายการลงทุนนอกเกาะชวาเริ่มเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น โดยสัดส่วนการลงทุนนอกเกาะชวาสูงขึ้นเกือบร้อยละ 50 (เกาะสุมาตราร้อยละ 17 เกาะกาลิมันตันร้อยละ 14.7 เกาะสุลาเวสีร้อยละ 7.39 เกาะบาลี-นูซาเต็งการาร้อยละ 7.2 และเกาะปาปัวและมาลุกุร้อยละ 0.93) ในขณะที่สัดส่วนการลงทุนบนเกาะชวาคิดเป็นร้อยละ 52.8 และการกระจายตัวของสัดส่วนการลงทุนตามเกาะต่างๆ น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต เนื่องจากดำเนินโยบายตามแผนแม่บทพัฒนาเศรษฐกิจ (Master Plan for Acceleration and Expansion of Indonesia Economic Growth – MP3EI) ที่เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ อาทิ สาธารณูปโภค การคมนาคมขนส่ง ตามแนวระเบียบเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงเกาะหลักต่างเข้าด้วยกัน รวมทั้งการส่งเสริมการลงทุนตามตามแผนภายใต้ General Guidelines for Investment ซึ่งประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ลงนามเมื่อวันที่ 7 ก.พ. 55 ที่ผ่านมา

อินโดนีเซียได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่น่าลงทุนที่สุดในอาเซียนจากผลการสำรวจของ ASEAN Business Advisory Council (ABAC) และ Japan External Trade Organization (JETRO) ในช่วงไตรมาสนี้ แต่ด้วยขีดความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างต่ำ เพราะขาดโครงสร้างพื้นฐาน รองรับ ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ ปัญหาคอรัปชั่นทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจสูงกว่าประเทศอื่นๆ รวมทั้งการออกกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดิน ยังไม่สามารถทำได้ ภายในไตรมาสแรกตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายไว้ จึงอาจทำให้การลงทุนของอินโดนีเซีย ในอนาคตไม่ขยายตัวมากไปกว่าระดับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ขีดสามารถในแข่งขันในระยะยาวน่าจะมีโอกาสดีขึ้นเพราะ ตั้งแต่ไตรมาสนี้ รัฐบาลพยายามขยายโครงการลงทุนที่ชัดเจน เช่น ในภาคขนส่งเพื่อแก้ปัญหา connectivity ภายในประเทศที่ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าสูง ได้แก่ (1) การขยายสนามบินตามเมืองเศรษฐกิจหลักของอินโดนีเซีย ซึ่งโดยเฉลี่ยในปัจจุบันรองรับผู้โดยสารมากกว่าสองเท่าของขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินนั้นๆ เช่น สนามบินนานาชาติ Soekarno-Hatta ซึ่งคาดว่าจะปรับปรุงเสร็จภายในปี ค.ศ. 2014 (2) ท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งขนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ จะเริ่มโครงการปรับปรุงภายในกลางปีนี้ รวมถึงการปรับปรุงท่าเรืออื่นๆ บนเกาะสำคัญในอินโดนีเซีย ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดเป้าหมายให้โครงการ connectivity ของประเทศแล้วเสร็จภายปี ค.ศ. 2025

การเงิน/การธนาคาร/การบริหารการคลังสาธารณะ

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 55 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25 basis point เป็นร้อยละ 5.75 ซึ่งสวนทางกับแนวโน้มเงินเฟ้อที่อาจเพิ่มขึ้นในขณะนั้นเพราะเกิดจากแรงกดดันที่รัฐบาลยื่นข้อเสนอปรับขึ้นราคาน้ำมันต่อรัฐสภา การตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายเศรษฐกิจแบบ Pro growth ของธนาคารกลางอินโดนีเซียในปีนี้ที่จะพยายามกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่คาดหวังกันว่ายังไม่น่าจะคลี่คลายนัก อย่างไรก็ดี ภาวะเงินเฟ้อของอินโดนีเซียเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่ มี.ค. ที่ผ่านมาอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของอินโดนีเซียไตรมาสแรกอยู่ที่ประมาณร้อยละ 4.25 ทั้งนี้ ธนาคารกลางอินโดนีเซียค่อนข้างมั่นใจว่าจะสามารถควบคุมระดับอัตราเงินเฟ้อไว้ได้ตามเป้าหมาย (ร้อยละ 4 – 5.3 ในปี 2555)

ความล้มเหลวของรัฐบาลอินโดนีเซียในการปรับขึ้นราคาน้ำมันให้สอดคล้องสภาพความเป็นจริงทาง เศรษฐกิจ (รายละเอียดตามโทรเลข สอท. ที่ JKT 294/2555 ลงวันที่ 4 เม.ย. 55) ก่อให้เกิดแนวโน้มสูงว่างบประมาณแผ่นดินอาจขาดดุลเกินร้อยละ 3 ของ GDP ซึ่งเกินกว่าข้อกำหนดวินัยทางการคลัง แต่รัฐบาลยังคาดว่าน่าจะสามารถชดเชยการขาดดุลงบประมาณแผ่นดินในระยะสั้นได้ จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพราะการกระตุ้นการบริโภคให้ขยายตัวและการลงทุนภายในประเทศ การเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีถ่านหินที่เกิดจากธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ขยายตัวค่อนข้างสูงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา ตัดลดค่าใช้จ่ายภาครัฐ และจำกัดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงอุดหนุน ทั้งนี้ ในระยะกลางถึงยาวรัฐบาลอินโดนีเซียกำลังรอจังหวะที่เหมาะสมเพื่อปรับลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงและการปรับเพิ่มฐานการคิดคำนวณอัตราการจัดเก็บค่าไฟฟ้าอีกร้อยละ 10 รวมทั้ง จะจำกัดปริมาณการใช้น้ำมันอุดหนุน เช่น การห้ามรถราชการ หรือรถส่วนบุคคลขนาดเกินกว่า 1500 CC ใช้น้ำมันอุดหนุน เป็นต้น

ภาวะเงินเฟ้อน่าจะค่อยๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นและอาจจะสูงขึ้นอีกหากรัฐบาล ปรับลดการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงและปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บค่าไฟฟ้าได้สำเร็จ รวมถึงผลกระทบจากราคาอาหารและการใช้สอยภาคครัวเรือนในช่วงฤดูกาลละศีลอดที่มักส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอาจจะทำให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียต้องทบทวนอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้ง แม้ว่าขณะนี้ธนาคารกลางอินโดนีเซียค่อนข้างมั่นใจว่าการใช้มาตราการทางการเงินอื่นๆ ควบคุมสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันจะช่วยคงระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ตลอดปีนี้ อาทิ กฎระเบียบที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 55 ซึ่งกำหนดให้ลูกค้าธนาคารพาณิชย์ที่ขอสินเชื่อสำหรับรถยนต์ มอเตอร์ไซค์หรือจำนองบ้านต้องวางเงินต้น (down payment) ร้อยละ 20 – 30

ธนาคารกลาง อินโดนีเซียเข้าแทรกแซงตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อคงอัตราแลกเปลี่ยนและรักษาสภาพคล่องในตลาดเงินตราต่างประเทศ เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อลดระดับความเชื่อมั่นของนักลงทุน และ อัดฉีดเม็ดเงินประมาณเดือนละ2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในไตรมาส 1/2555 เพื่อแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ จนสถานะเงินทุนสำรองต่างประเทศเหลือ 110.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง Financial Service Authority หรือ OJK ซึ่งจะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล/ควบคุมอุตสาหกรรมการเงิน กิจการธนาคารพาณิชย์แทนธนาคารกลางอินโดนีเซียโดยกำลังคัดสรรบุคลากรจำนวน 9 คนที่ทรงคุณวุฒิเพื่อดำรงตำแหน่งในคณะกรรมาธิการ

พลังงานและเหมืองแร่

อินโดนีเซียสามารถผลิตน้ำมันในช่วงไตรมาส 1/2555 ได้ประมาณ 880,000 บาเรลล์ต่อวันและเกรงว่าจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายในปีนี้ซึ่งกำหนดไว้ 950,000 บาเรลล์ต่อวัน เพราะบริษัทน้ำมันต่างชาติหลายบริษัทไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าหมายในสัญญาสัมปทาน BPMigas ซึ่งกำกับดูแลอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติต้นน้ำจึงพยายามผลักดันให้บริษัทใช้เทคโนโลยี enhanced oil recovery ซึ่งค่อนข้างมีต้นทุนสูง เร่งการอนุมัติสำรวจและขุดเจาะ รวมถึงส่งเสริมการสำรวจแหล่งขุดเจาะใหม่ๆ ที่อยู่นอกชายฝั่งในเขตน้ำลึกมากกว่าหนึ่งพันเมตรเนื่องจากแหล่งน้ำมันบริเวณชายฝั่งเริ่มร่อยหลอ

ระดับกำลังการผลิตน้ำมันภายในประเทศที่ต่ำกว่าเป้าหมายในภาวะที่อินโดนีเซียเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศทำให้ประเทศต้องเพิ่มการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันมากขึ้นและราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น ในไตรมาสนี้อินโดนีเซียเริ่มให้ความสำคัญต่อการลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานน้ำมันเชื้อเพลิงมากขึ้น คือ (1) การพัฒนาแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพ เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งกว่าร้อยละ 40 ของแหล่งพลังงานดังกล่าวในโลกอยู่ที่อินโดนีเซียแต่ ใช้ประโยชน์ได้เพียงร้อยละ 4.6 เพราะรัฐบาลขาด แรงจูงใจให้ผู้ลงทุนโครงการสัมปทานซึ่งค่อนข้างมีต้นทุนสูง แต่ในไตรมาสนี้กระทรวงการคลังและกระทรวงทรัพยากรและเหมืองแร่ประกาศระเบียบเพิ่มเติมสำหรับโครงการสัมปทานว่า รัฐบาลจะรับซื้อกระแสไฟฟ้าจากผู้รับสัมปทานในกรณีที่บริษัทผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ (PLN) ไม่มีเงินงบประมาณรับซื้อได้ตามสัญญา และผู้รับสัมปทานจะได้รับเงินที่ลงทุนไปแล้วคืนจากรัฐบาลหากถูกยกเลิกสัญญา (2) การริเริ่มรณรงค์ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถโดยสารประจำทางสาธารณะ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนเพราะโอกาสที่ราคาน้ำมันอุดหนุนจะสูงขึ้นในอนาคตเป็นไปได้มากโดยจะเริ่มจากรถยนต์ของหน่วยงานรัฐบาลและรถโดยสารฯ ก่อนและมีแผนจะซื้อถังก๊าซในรถยนต์จำนวน 25,000 ถังโดยร้อยละ 10 จากยอดความต้องการดังกล่าวจะนำเข้าจากอิตาลีและสร้างความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทอิตาลีให้กับบริษัทรัฐวิสาหกิจอินโดนีเซียเพื่อให้ประเทศสามารถผลิตถังก๊าซสำหรับรถยนต์ที่มีต้นทุนต่ำกว่าสนองความต้องการภายในประเทศได้ในระยะยาว

ในไตรมาส 1/2555 รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศว่า ในระหว่างรอการออกกฎระเบียบตามกฎหมายเหมืองแร่ และถ่านหินปี ค.ศ. 2009 ที่จะห้ามบริษัทเหมืองแร่ ส่งออกสินแร่ ที่ยังไม่แปรรูป โดยจะมีผลในปี ค.ศ. 2014 ซึ่งบริษัทเหมืองแร่จะต้องสร้างโรงงานหลอมสินแร่ (smelter) รองรับ กระทรวงทรัพยากรและเหมืองแร่อินโดนีเซียเตรียมออกกฎระเบียบเก็บภาษีส่งออกสินแร่ที่ยังไม่ผ่านการแปรรูป ในอัตรา ประมาณร้อยละ 20 นอกจากนี้ ยังบังคับให้ ผู้ประกอบการต่างชาติทะยอยลดสัดส่วนการถือหุ้นในกิจการเหมืองแร่จนเหลืออย่างมากที่สุดร้อยละ 49 ภายในระยะเวลา 10 ปี (รายละเอียดตามโทรเลข สอท. ที่ JKT 217/2555 ลว. 15 มี.ค. 55) มาตรการทางกฎหมายต่างๆ ของรัฐบาลค่อนข้างแสดงออกอย่างชัดเจนว่ารัฐบาลอินโดนีเซียต้องการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหมืองแร่ของประเทศและผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้นเนื่องจากที่ผ่านมากว่าร้อยละ 75 ของผลผลิตถ่านหินส่งออกไปยังต่างประเทศ

การท่องเที่ยว

การเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางและความต้องการเดินทางเพื่อประกอบธุรกิจตามพื้นที่ต่างๆ ในอินโดนีเซียเป็นโอกาสทางการลงทุนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม ในไตรมาส 1/2555 กลุ่มโรงแรมในเครือระหว่างประเทศ 2 กลุ่มหลักคือ Swiss-Bel Hotel International จะเปิดโรงแรมใหม่อีก 15 แห่งตามเมืองสำคัญบนเกาะหลักในอินโดนีเซียและ Accor จะเปิดโรงแรมใหม่ตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในอินโดนีเซียให้ได้ตามเป้าหมายภายในปี 2555 และเมื่อวันที่ 16 – 18 มี.ค. 55 ที่ผ่านมา Indonesia Air Ticketing Association (ASTINDO) จัดงาน Expo ครั้งใหญ่ที่สุด เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจจำหน่ายแพ็คเกจทัวร์และบัตรโดยสารเครื่องบินเพื่อการท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศเนื่องจากในปีที่ผ่านมามีชาวอินโดนีเซียจำนวนประมาณ 7 ล้านคนเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้นซึ่งสูงกว่าปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 20 ตามเศรษฐกิจที่ขยายตัว

สำนักงาน ททท. ร่วมออกงานประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยและจำหน่ายแพ็คเกจทัวร์เดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในจังหวัดต่างๆ ของไทยโดยในงานดังกล่าว ไทยเป็นหนึ่งในประเทศสามอันดับแรกที่ชาวอินโดนีเซียซื้อแพ็คเกจท่องเที่ยวมากที่สุดรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ทั้งนี้ ในปี 2554 ที่ผ่านมาชาวอินโดนีเซียไปท่องเที่ยวเมืองไทยจำนวน 369,530 คนซึ่งสูงกว่าปี 2553 ร้อยละ 29.17 อย่างไรก็ตาม มีตัวเลขที่น่าสนใจปรากฏในสื่ออินโดนีเซียว่า ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเที่ยวบาหลีมากขึ้นในปี 2011 (2.8 ล้านคน) ในขณะที่ปี 2010 ประมาณ 2.6 ล้านคน แต่จำนวนระยะเวลาที่พำนัก และจำนวนเงินที่ใช้กลับลดลง โดยเดิมจะพำนักประมาณ 1 สัปดาห์ ใช้เงินประมาณวันละ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ เหลือเพียงพำนักประมาณ 3 วัน และใช้เงินประมาณวันละ 100 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเริ่มสะท้อนให้เห็นปัญหาในบาหลีว่า บาหลีเริ่มลดแรงดึงดูดจากนักท่องเที่ยว Hi End จากยุโรป เพราะปัญหาความแออัดของบาหลี รวมทั้ง ปัญหาอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น เช่น มลภาวะ อาชญากรรม โรคระบาด และการขาดแคลนน้ำ นอกจากนี้ โรงแรมที่พักที่สร้างขึ้นใหม่ๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามศิลปวัฒนธรรมบาหลี เป็นต้น


พฤษภาคม 2555
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา