อินโดนีเซียประกาศกฎกระทรวงเกษตรควบคุมการนำเข้าพืช ผัก ผลไม้มายังอินโดนีเซีย
เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 54 ที่ผ่านมา รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศออกกฎกระทรวงเกษตรฉบับใหม่ 3 ฉบับเพื่อควบคุมการนำเข้าพืช ผัก และผลไม้จากต่างประเทศซึ่งจะมีผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเกษตรไทยไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งกฎกระทรวงข้างต้นจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 มี.ค. 55 เป็นต้นไป (ภายใน 3 เดือนนับจากวันที่ประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษา) สาระสำคัญของกฎกระทรวงฯ มีดังนี้
กฎกระทรวงหมายเลข 88/2011
on food safety control over the import and fresh food of plant origin
ว่าด้วยความปลอดภัยด้านอาหารโดยการควบคุมการนำเข้า ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้จะประกาศรายชื่อพืช ผัก ผลไม้ จำนวน 100 ชนิดที่จะต้องถูกควบคุมการนำเข้าและมีความแตกต่างจากประกาศกฎกระทรวงฉบับก่อนที่กำหนดรายชื่อพืช ผัก ผลไม้เพียง 39 ชนิด โดยเจตนารมณ์ของกฎกระทรวงฉบับนี้ต้องการควบคุมการปนเปื้อนของสารเคมี ธาตุโลหะหนัก และสาร Alflatoxin รวมทั้งจุลินทรีย์ประเภท Salmonella sp และ Formalin โดยจะมีผลกระทบต่อสินค้าไทยที่ส่งออกมาอินโดนีเซียจำนวน 15 ชนิด คือ ทุเรียน ส้มเขียวหวาน ลำไย ลิ้นจี่ มะม่วง สับปะรด มะละกอ ส้มโอ น้อยหน่า หอมหัวใหญ่ หอมแดง กระเทียม พริก ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
กฎกระทรวงหมายเลข 89/2011
on technical requirements and plant quarantine
action for the importation of fresh fruit and/or fruit vegetables into the territory of the Republic of Indonesia
ซึ่งกฎกระทรวงฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงแก้ไขจำนวนท่าเทียบที่กำหนดให้นำเข้าพืช ผัก ผลไม้โดยจากเดิมกำหนดไว้ 8 ท่าให้เหลือเพียง 4 ท่าในปัจจุบัน ได้แก่ (1) สนามบินซูการ์โน-ฮัตตา (2) ท่าเทียบเรือ Belawan เมืองเมดาน (3) ท่าเทียบเรือ Makassar เมือง Makassar (4) ท่าเทียบเรือ Tanjung Perak เมืองสุราบายา ซึ่งต่อไปหากจะนำเข้าที่กรุงจาการ์ตาจะต้องขนส่งทางอากาศผ่านสู่ท่าอากาศยานซูการ์โน-ฮัตตา เท่านั้นและไม่สามารถนำเข้าผ่านท่าเรือ Tanjung Priok ซึ่งอยู่ใกล้กรุงจาการ์ตาได้ แต่เมื่อเทียบท่าอื่น เช่นที่สุราบายาและผ่านพิธีการศุลกากรก็สามารถขนส่งทางเรือหรือรถบรรทุกมายังกรุงจาการ์ตาต่อไปได้
กฎกระทรวงหมายเลข 90/2011
on the plant quarantine action requirement for importing of live plant products in the form of fresh bulb vegetables into the territory of the Republic of Indonesia
ซึ่งควบคุมการนำเข้าพืชชนิดหัวโดยเฉพาะหอมแดงและกระเทียมและจำกัดจุดนำเข้าได้เพียง 4 จุดได้แก่
- สนามบินซูการ์โน-ฮัตตา
- ท่าเทียบเรือ Belawan เมืองเมดาน
- ท่าเทียบเรือ Makassar เมือง Makassar
- ท่าเทียบเรือ Tanjung Perak เมืองสุราบายา
แหล่งข้อมูล: สอท. ณ กรุงจาการ์ตา (1 กุมภาพันธ์ 2555)