การย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปยังกรุง Nusantara (Ibu Kota Negara – IKN) ที่พื้นที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก

การย้ายเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ไปยังกรุง Nusantara (Ibu Kota Negara – IKN) ที่พื้นที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันออก

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565 รัฐสภาอินโดนีเซียได้ผ่านกฎหมายเกี่ยวกับการย้ายเมืองหลวงแห่งใหม่ของอินโดนีเซีย จากกรุงจาการ์ตา (เกาะชวา) ไปเป็น “กรุง Nusantara” (จ. กาลิมันตันตะวันออก เกาะบอร์เนียว) โดยจะมีพื้นที่ประมาณ 56,180 hectares และตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ North Penajam Paser และ Kutai Kartanegara) เพื่อระบายความแออัดและความเสี่ยงที่กรุงจาการ์ตาจะจมลงสู่ทะเลในอนาคต (25 ซม. ต่อปี) และขยายความเจริญทางเศรษฐกิจและความมั่งคั่งไปยังพื้นที่อื่น ๆ รวมถึงส่งเสริมการค้าชายแดน นอกจากนี้ จ. กาลิมันตันตะวันออกยังเป็นพื้นที่ศูนย์กลางของประเทศที่น่าจะประสบภัยทางธรรมชาติน้อยกว่ากรุงจาการ์ตา ทั้งนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียเห็นว่า การย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่จะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Indonesia’s 2045 Vision ซึ่งมีเป้าหมายสูงสุดเพื่อให้อินโดนีเซียหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีรายได้และอิทธิพลทางเศรษฐกิจเทียบเท่าประเทศมหาอำนาจภายในปี ค.ศ. 2045

รัฐบาลอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า การสร้างเมืองหลวงใหม่จะใช้งบประมาณสูงถึง 466 ล้านล้าน IDR (ประมาณ 32.8 พันล้าน USD) ซึ่งภาครัฐจะจัดสรรงบประมาณเพียงร้อยละ 19 เท่านั้น (ประมาณ 89.4 ล้านล้าน IDR) และพยายามดึงดูดการลงทุนและเม็ดเงินในส่วนอื่น ๆ จากนักลงทุนทั้งภายในประเทศ และต่างชาติ รวมถึงการสร้าง public-private partnership โดยหากการดำเนินการต่าง ๆ เป็นไปตามที่วางแผนไว้ รัฐบาลอินโดนีเซียประเมินว่า น่าจะสามารถเริ่มย้ายหน่วยงานบางส่วนไปยังกรุงนุสันตาราได้ตั้งแต่ปี 2567 (ค.ศ. 2024) เป็นต้นไป ปัจจุบันการดำเนินการแบ่งออกเป็น 5 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 (ปี ค.ศ. 2022-2024) การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาศูนย์กลางหน่วยงานรัฐบาล และการย้ายกระทรวง/หน่วยงานรัฐบาลหลัก รวมถึงการเตรียมความพร้อม ในการย้ายสำนักงานของคณะทูต/องค์การระหว่างประเทศ และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ IKN ซึ่งปัจจุบันการดำเนินการอยู่ในระยะนี้ และคาดว่าในปลายปี ค.ศ. 2024 IKN จะมีประชากรประมาณ 4.88 แสนคน
  • ระยะที่ 2 (ปี ค.ศ. 2025-2029) การพัฒนาพื้นที่หลักของเมือง ขยายเขตที่อยู่อาศัย สำนักงานและพื้นที่การค้า คาดว่าจะมีประชากรในช่วงนี้ราว 1.28 ล้านคน
  • ระยะที่ 3 (ปี ค.ศ. 2030-2034) การพัฒนาบริการด้านการศึกษา สาธารณรสุข ฯลฯ โดยคาดว่าจะมีประชากร 1.45 ล้านคน
  • ระยะที่ 4 (ปี ค.ศ. 2035-2039) คาดว่าการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคหลักจะแล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ในระยะนี้ รวมถึงการผสานระบบนิเวศน์เมืองของเมืองหลักในพื้นที่ ได้แก่ IKN บาลิกปาปัน (เมืองรองบริเวณ IKN ซึ่งเป็นที่ตั้งของสนามบินนานาชาติที่ใกล้ที่สุด) และซามารินดา (เมืองหลวงของ จ. กาลิมันตันตะวันออกในปัจจุบัน) โดยคาดว่าจะมีประชากรในช่วงนี้ - ปี ค.ศ. 2045 ประมาณ 1.91 ล้านคน
  • ระยะที่ 5 (ปี ค.ศ. 2040-2045) การพัฒนา IKN ให้เป็นเมืองระดับโลกสำหรับทุกคน

รัฐบาลอินโดนีเซียมีนโยบายชัดเจนว่าจะเชื่อมโยงการก่อสร้างกรุงนุสันตาราเข้ากับนโยบายที่เป็น core interests ของประเทศ อาทิ Green Economy การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมปลายน้ำ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการสร้างเขตอุตสาหกรรมสีเขียว (green industrial area) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีความโดดเด่นด้านการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตสินค้าสีเขียว ที่ จ. กาลิมันตันเหนือ ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2564 ร่วมกับจีน (Tsingshan Group) และออสเตรเลีย (Fortescue Metal Group) มีระยะเวลาสร้างประมาณ 10 ปี งบประมาณประมาณ 1 แสนล้าน USD โดยจะมีการขยายการดำเนินการไปยังพื้นที่อุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่ว ปท. รวมถึงการสร้างตลาดคาร์บอน และตลาดหุ้นคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุด เพื่อการบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2060 โดยน่าจะมีวัตถุประสงค์เกื้อหนุนการสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เน้นการใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมให้เกาะกาลิมันตันเป็นพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหม่

นอกจากนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้วางแผนพัฒนาเมืองหลวงแห่งใหม่ ควบคู่กับการพัฒนาเมืองปริมณฑลหลัก (Balikpapan และ Samarinda) และเศรษฐกิจภาพรวมของ จ. กาลิมันตันตะวันออก ซึ่งเด่นในสาขาพลังงาน (แร่ ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซ ซึ่งคิดเป็นประมานร้อยละ 80 ของสินค้าส่งออกของจังหวัด) รวมถึงพลังงานประเภทหมุนเวียนและไม่หมุนเวียน) อุตสาหกรรมแปรรูป การปลูกป่า ปาล์มน้ำมัน โลจิสติกส์/คมนาคม และการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน




Back to the list